กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 4 ประเภทและการรักษา

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ (Urinary Incontinence) เป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้ ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความรุนแรงของอาการต่างกัน โดยอาจมีอาการปัสสาวะซึมออกมาเล็กน้อยหลังไอหรือจาม ไปจนถึงไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้เลย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก 

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่พบได้ทั้งในเพศชายและหญิง อีกทั้งยังพบได้ทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้สูงอายุ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อควบคุมกระเพาะปัสสาวะ การตั้งครรภ์ อายุที่เพิ่มขึ้น ความผิดปกติของระบบประสาท และการใช้ยาบางชนิด ซึ่งสามารถรักษาได้หากรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม 

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 4 ประเภทและการรักษา

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 4 ประเภท

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวจากการดื่มน้ำ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์มาก การรับประทานอาหารเผ็ดจัด อาการท้องผูก และทางเดินปัสสาวะอักเสบ (Urinary Tract Infection) 

ส่วนภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ชนิดเรื้อรังมีหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีสาเหตุและอาการต่างกัน ดังนี้

1. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เมื่อมีแรงดันในช่องท้อง (Stress Incontinence)

 ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ประเภทนี้เรียกอีกอย่างว่าภาวะไอจามปัสสาวะเล็ด เกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งมักพบในผู้ที่ตั้งครรภ์ละคลอดบุตรมาก่อน และผู้ที่เคยผ่าตัดต่อมลูกหมาก โดยมักมีอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อออกแรง เช่น ไอ จาม หัวเราะ วิ่ง และยกของหนัก

2. ภาวะปัสสาวะราด (Urge Incontinence)

ภาวะปัสสาวะราดป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้เลย ทำให้ถ่ายปัสสาวะออกมาทันทีเมื่อรู้สึกปวด สาเหตุมักเกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder) ซึ่งทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะก่อนที่ปริมาณปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะจะเต็ม ทำให้ปัสสาวะบ่อยทั้งในตอนกลางวันและกลางคืน และอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอนด้วย 

ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอ่อนแอ การติดเชื้อ ความเสียหายของเส้นประสาท ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงหลังหมดประจำเดือน มีน้ำหนักตัวมาก และการใช้ยาบางชนิด

3. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เมื่อกระเพาะปัสสาวะล้น (Overflow Incontinence) 

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ประเภทนี้เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อควบคุมการปัสสาวะ ซึ่งทำให้ถ่ายปัสสาวะออกไม่หมด จึงมีปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ หากมีปัสสาวะค้างอยู่ปริมาณมากอาจทำให้ปัสสาวะเล็ดตลอดทั้งวัน โดยมักพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) และโรคต่อมลูกหมากโต

4. ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบผสม (Mixed Incontinence)

ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่แบบผสมคือภาวะที่ผู้ป่วยมีทั้งภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่เมื่อมีแรงดันในช่องท้อง และภาวะปัสสาวะราดรวมกัน

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่รักษาได้

การรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะแตกต่างกันตามประเภท ความรุนแรงของอาการ และโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ โดยแพทย์อาจใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษา ดังนี้

การดูแลตัวเอง

ในเบื้องต้น ผู้ที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการล้างหรือสวนล้างอวัยวะเพศบ่อย ๆ ซึ่งอาจทำให้ระคายเคืองผิว หากปัสสาวะเล็ดเล็กน้อย ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและผิวหนังที่เปื้อนปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำให้พอเหมาะต่อความต้องการของร่างกาย โดยดื่มน้ำวันละ 8–10 แก้ว ปริมาณแก้วละ 250 มิลลิลิตร
  • หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
  • ใช้แผ่นรองซับปัสสาวะ หรือผ้าอ้อมสำหรับซึมซับปัสสาวะเล็ด

การฝึกการปัสสาวะ

ผู้ป่วยควรฝึกเข้าห้องน้ำเป็นเวลา โดยอาจกำหนดเวลาเข้าห้องน้ำทุก 2–4 ชั่วโมง ไม่ควรรอให้ปวดปัสสาวะแล้วค่อยไปเข้าห้องน้ำ ควรปัสสาวะให้สุด และฝึกเพิ่มระยะห่างของเวลาในการถ่ายปัสสาวะแต่ละครั้งให้นานขึ้น โดยอาจเริ่มฝึกกลั้นปัสสาวะเป็นเวลา 10 นาที และเพิ่มระยะห่างในการปัสสาวะเป็นทุก 2.5–3.5 ชั่วโมง

การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (Kegel Exercises)

การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน และช่วยฝึกการกลั้นปัสสาวะได้ดีขึ้น โดยแพทย์จะแนะนำวิธีการบริหารกล้ามเนื้อเชิงกรานที่ถูกต้องให้ผู้ป่วย โดยให้เกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานคล้ายกับการหยุดขับปัสสาวะกะทันหัน ทำค้างไว้ 2–5 วินาทีและคลายออก ทำซ้ำวันละ 10 ครั้ง  

การใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น 

  • ยากลุ่มแอนตี้โคลิเนอร์จิค (Anticholinergics) ที่ช่วยรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
  • ยามิราเบกรอน (Mirabegron) ที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ และเพิ่มปริมาณปัสสาวะที่กระเพาะปัสสาวะสามารถเก็บได้ 
  • ยากลุ่มอัลฟาบล็อกเกอร์ (Alpha-Blockers) สำหรับผู้ป่วยชาย ซึ่งช่วยคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะและกล้ามเนื้อบริเวณต่อมลูกหมาก ทำให้ปัสสาวะได้สุดมากขึ้น
  • ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน สำหรับผู้ป่วยหญิง โดยอาจเป็นยาทาช่องคลอด วงแหวน หรือแผ่นแปะ ซึ่งช่วยให้เนื้อเยื่อในบริเวณท่อปัสสาวะและช่องคลอดแข็งแรงขึ้น

การรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ

แพทย์อาจรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น การฉีดสารโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin) การฝั่งเครื่องกระตุ้นประสาทเพื่อควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ และการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น การใส่สายคล้องพยุงท่อปัสสาวะ (Sling Procedures) การผ่าตัดบริเวณคอของท่อปัสสาวะ และการผ่าตัดใส่หูรูดท่อปัสสาวะเทียม (Artificial Urinary Sphincter) เป็นต้น

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่เป็นอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนังได้ หากมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมกับอาการพูดไม่ชัด รู้สึกชาและอ่อนแรง เสียการทรงตัว ตาพร่า และสับสน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที