การดูแลทารกแรกเกิด เรื่องที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้

การดูแลทารกแรกเกิดอาจเป็นเรื่องน่ากังวลใจสำหรับพ่อแม่มือใหม่ และการเตรียมพร้อมสำหรับสมาชิกใหม่ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นอยู่ไม่น้อย ทั้งการวางแผนคลอด เสื้อผ้า และของใช้ หรือการจัดเตรียมห้องไว้สำหรับลูกน้อยโดยเฉพาะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ในการดูแลทารกแรกเกิดที่กำลังจะกลายมาเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวได้อย่างถูกวิธี

โดยทั่วไปข้อมูลเบื้องต้นที่ควรทราบจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการนอนหลับ การให้นม การร้องไห้ รวมไปถึงวิธีการที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลทารกในช่วงแรกหลังกลับจากโรงพยาบาลได้ดี บทความนี้มีข้อแนะนำและวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยคลายกังวลในการดูแลทารกแรกเกิดดังนี้

การดูแลทารกแรกเกิด

เรื่องพื้นฐานในการดูแลทารกแรกเกิด

หลังคลอดลูกน้อย ขณะกำลังพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล คุณพ่อคุณแม่ควรสอบถามแพทย์หรือพยาบาลถึงวิธีการดูแลทารกในขั้นพื้นฐาน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายของทารกแรกเกิด และบันทึกการเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของทารกว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ รวมไปถึงเรียนรู้รายละเอียดสำคัญและพื้นฐานต่าง ๆ ในการดูแลเด็กแรกเกิดดังนี้

การอุ้ม

การอุ้มทารกด้วยวิธีที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาสเกิดอันตราย และการสัมผัสยังช่วยให้เกิดความคุ้นเคยและความอบอุ่นระหว่างผู้ดูแลและทารกด้วย ซึ่งวิธีการอุ้มที่ถูกต้องมีดังนี้

  • ก่อนการอุ้มทารกทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาด เนื่องจากร่างกายของทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย 
  • ประคองหัวและคอของทารกอยู่เสมอทั้งขณะยกขึ้นอุ้มและวางลง เนื่องจากหัวเป็นบริเวณที่มีน้ำหนักมากที่สุดในร่างกายของทารก และกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรงจนกว่าจะเข้าช่วงเดือนที่สี่
  • ท่าอุ้มไกวเปล (Cradle Hold) เป็นท่าพื้นฐานที่อุ้มทารกได้ง่าย โดยเริ่มจากใช้มือข้างหนึ่งช้อนคอและประคองหัวเพื่อยกทารกขึ้น ส่วนมืออีกข้างประคองส่วนก้น จากนั้นอุ้มทารกขึ้นไว้ในระดับอก ลำตัวของทารกแนบไปกับร่างกายคุณแม่ในแนวนอน ส่วนหัวของทารกอยู่บริเวณข้อพับศอก 
  • หากต้องการเปลี่ยนไปเป็นการอุ้มพาดบ่า (Shoulder Hold) ใช้มือข้างหนึ่งประคองหัวและคอของทารกให้สูงระดับไหล่ อีกมือประคองส่วนก้นไว้ แล้วพาดไว้ที่ไหล่ โดยลำตัวทารกจะอยู่ในลักษณะแนวตั้งตรงท้องแนบกับลำตัวคุณแม่ 
  • ห้ามเขย่าตัวทารกเนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออกในสมอง รวมทั้งไม่ควรโยนเด็กหรือเล่นกับเด็กด้วยความรุนแรง และควรระมัดระวังบริเวณกระหม่อมมากเป็นพิเศษ 

การให้นมทารก

ทารกอาจต้องการดูดนมมากเป็นพิเศษในช่วงแรกเกิด คุณแม่อาจต้องให้นมบ่อยครั้ง หรือควรให้นมในปริมาณที่เด็กต้องการ ในสัปดาห์แรก ๆ ควรให้นมประมาณ 8-12 ครั้งใน 24 ชั่วโมง โดยสังเกตอาการหิวของทารกได้จากการอมนิ้วหรืออยู่ไม่สุข ขณะให้นมทารกจะอยู่นิ่งและมีท่าทีผ่อนคลาย โดยคางของทารกจะต้องสัมผัสกับหน้าอก ปากล่างจะอยู่ในตำแหน่งที่มองไม่เห็นและจมูกของทารกจะต้องไม่กดทับไปกับหน้าอก หากทารกอิ่มจะสังเกตได้ว่าเด็กจะถอยห่างออกจากเต้านม หน้าอกของคุณแม่จะนุ่มขึ้น ทารกอาจมีท่าทีผ่อนคลายหรือง่วงหลังการให้นม ทั้งนี้การเข้าอบรมก่อนคลอดจะช่วยให้คุณแม่สามารถจัดท่าทางขณะให้นมได้อย่างถูกต้อง รู้ถึงวิธีการกระตุ้นให้น้ำนมไหลรวมถึงจัดการกับปัญหาในการให้นมบุตรได้

โดยในช่วงสัปดาห์แรก น้ำหนักตัวของทารกจะลดลงก่อนจะเริ่มมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การไล่ลม

ลมจำนวนมากจะเข้าสู่ร่างกายของทารกจากการกลืนลมในระหว่างการให้นม ในบางครั้งอาจเกิดได้จากระบบการย่อยอาหารอีกด้วย ซึ่งลมจำนวนมากในท้องอาจทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายตัว ดิ้นและร้องไห้ จึงควรไล่ลมทุก ๆ การดื่มนมขวดประมาณ 2 ออนซ์หรือทุกครั้งหลังดูดนมจากเต้า ซึ่งผู้ดูแลสามารถไล่ลมให้ทารกได้ด้วยวิธีและท่าทางการอุ้มต่าง ๆ ดังนี้ 

  • อุ้มทารกขึ้นโดยให้หัวของทารกวางอยู่บนไหล่ของผู้อุ้ม ใช้มือข้างหนึ่งประคองหัวและหลัง ใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบเบา ๆ ไปที่หลังของทารก
  • จับให้ทารกอยู่ในท่านั่งบนตักของผู้ดูแลโดยใช้มือและแขนข้างหนึ่งในการประคองหัว คางและลำตัวด้านหน้าของทารกไว้ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งลูบเบา ๆ ที่หลังของทารก
  • วางทารกคว่ำลงบนตักโดยให้หัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าหน้าอก ประคองหัวทารกไว้และลูบหรือตบเบา ๆ บริเวณหลัง

หากทารกไม่เรอภายในเวลา 2-3 นาทีหลังการไล่ลมควรเปลี่ยนท่าอุ้มไล่ลมแล้วค่อยให้ทารกกินนมต่อ ควรไล่ลมให้ทารกทุกครั้งหลังให้นมเสร็จและควรจัดท่าทารกให้อยู่ในท่าตั้งตรงเป็นเวลาอย่างน้อย 10-15 นาทีเพื่อไม่ให้เด็กแหวะนม

การนอนหลับ

การนอนของทารกจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 2- 4 ชั่วโมง และไม่สามารถคาดเดาเวลาที่แน่นอนได้ โดยรวมในเวลากลางวันทารกจะนอนประมาณ 8-9 ชั่วโมงและในเวลากลางคืนจะหลับประมาณ 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งในวัยแรกเกิด ทารกจะยังไม่เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับกลางวันหรือกลางคืน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่จะต้องสร้างความคุ้นเคยเรื่องเวลาให้กับเด็ก

โดยในระหว่างวัน ควรทำกิจกรรมโดยไม่ต้องเบาเสียงลงมากกว่าปกติ เปิดผ้าม่านและเล่นกับลูก ส่วนในเวลากลางคืน ควรปิดไฟ พูดคุยเสียงเบา ไม่เล่นกับเด็ก เปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อจำเป็นและควรให้เด็กเข้านอนทันทีหลังเสร็จจากการให้นมและเปลี่ยนผ้าอ้อม ก็จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับความแตกต่างของกลางวันและกลางคืนได้ ทั้งนี้ควรให้ทารกนอนหงาย และในช่วง 6 เดือน-1 ปีแรกควรให้ทารกนอนห้องเดียวกัน แต่แยกที่นอนกับพ่อแม่ทั้งในเวลากลางวันและเวลากลางคืน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในเด็ก (Sudden Infant Death Syndrome: SIDS)

การเปลี่ยนผ้าอ้อม

ความถี่ของการเปลี่ยนผ้าอ้อมจะขึ้นอยู่กับการกินนม ซึ่งหากได้กลิ่นหรือพบว่าทารกขับถ่าย ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทันทีเพื่อป้องกันการระคายเคือง แต่หากเด็กขับถ่ายเพียงปัสสาวะอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมทันที โดยวิธีการเปลี่ยนผ้าอ้อมสามารถทำได้โดยการจับให้ทารกนอนหงายและแกะผ้าอ้อมออก ใช้น้ำเปล่า สำลีก้อนและผ้าเปียกเช็ดทำความสะอาดในบริเวณอวัยวะเพศของทารกอย่างเบามือ อาจใช้ครีมหรือยาขี้ผึ้งทาก่อนการใส่ผ้าอ้อมผืนใหม่เพื่อป้องกันการเกิดผื่นแดง และควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม

ผื่นผ้าอ้อม (Diaper Rash) เป็นผื่นที่พบได้มาก เกิดขึ้นเนื่องจากผิวของทารกมีความบอบบางและสามารถเกิดการระคายเคืองจากความชื้นหรือการขับถ่ายภายในผ้าอ้อม โดยจะเกิดเป็นรอยแดง นูน และจะหายไปภายในเวลา 2-3 วัน หากใช้ครีมทาผื่นผ้าอ้อมร่วมกับหยุดใช้ผ้าอ้อม โดยเฉพาะผ้าอ้อมชนิดสำเร็จรูปช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อลดความอับชื้น

การปลอบ

เด็กทารกมักจะร้องไห้เนื่องจากเกิดความหิว ง่วง เหนื่อยจากการใช้เวลาเล่นมากเกินไป รู้สึกไม่สบายตัว รู้สึกแน่นท้องหรือมีลม ร้อนหรือหนาวมากเกินไป เบื่อหรือต้องการให้อุ้ม ซึ่งพ่อแม่มือใหม่สามารถปลอบให้ลูกน้อยหยุดร้องไห้ได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น

  • อุ้มเด็กขึ้นให้ลำตัวด้านซ้ายอยู่ติดกับผู้อุ้มและลูบหลังเบา ๆ เพื่อช่วยในเรื่องการทำงานของลำไส้และท้อง หากทารกหลับให้พาไปนอนหงายในเปล
  • เปิดเสียงที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลายอย่างเสียงบรรยากาศธรรมชาติ (White Noise) เสียงพัดลมหรือเสียงการเต้นของหัวใจ ซึ่งจะช่วยหันเหความสนใจทารก
  • ไกวเปลหรือขยับรถเข็นไปมาเบา ๆ พาเด็กทารกไปเดินเล่นนอกบ้านหรือพาไปนั่งรถเล่น
  • ห่อตัวเด็กด้วยผ้าห่มหรือผ้าห่อตัวโดยเฉพาะเพื่อให้ทารกรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการให้ทารกรับประทานมากเกินไปเพราะจะทำให้ไม่สบายตัว

นอกจากการดูแลด้วยวิธีข้างต้น ทารกและเด็กก็ควรได้รับวัคซีนพื้นฐานเช่นกัน เพื่อป้องกันโรคที่อาจเป็นอันตราย เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี โรคคอตีบ โปลิโอ บาดทะยัก ไอกรน หัดหรือคางทูม ไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น 

อาการผิดปกติของเด็กแรกเกิดที่ควรรู้

อาการผิดปกติทางร่างกายที่พบได้มากในช่วง 1-2 สัปดาห์ ได้แก่ ภาวะท้องอืดมาก (Abdominal Distention) การได้รับบาดเจ็บจากการคลอด (Birth Injury) เนื่องจากการคลอดที่ยากและใช้เวลานาน ผิวของทารกซีดหรือเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ หรือผิวเป็นสีเหลืองคล้ายโรคดีซ่าน อาการเหล่านี้ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย

ทั้งนี้หากลูกน้อยร้องไห้อย่างต่อเนื่องหรือเสียงร้องไห้แตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งมีอาการผิดปกติอย่างอาการเกร็ง ชัก ผิวเป็นสีซีดอย่างรุนแรง ผิวเปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือเขียว เทาหรือม่วง หายใจอย่างรวดเร็ว มีเสียงขณะหายใจหรือมีท่าทางหายใจลำบาก อุณหภูมิร่างกายสูงแต่มือและเท้าเย็น หรือมีผื่นสีม่วงแดงอยู่บนร่างกาย พ่อแม่หรือผู้ดูแลจะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด