ตกขาวจากเชื้อรา สาเหตุและวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม

ตกขาวจากเชื้อรา คือตกขาวสีขาวหรือสีเหลือง และอาจมีลักษณะใสหรือเหนียวข้นจนคล้ายก้อนแป้ง โดยตกขาวลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อเชื้อราในช่องคลอดเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจนขาดสมดุล ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อราในช่องคลอดได้ อย่างไรก็ตาม ตกขาวจากเชื้อราเป็นอาการที่ควรได้รับการรักษาก่อนที่อาการต่าง ๆ จะรุนแรงขึ้น

ตกขาวเป็นของเหลวที่ผลิตออกมาจากช่องคลอด โดยตกขาวมีหน้าที่ทำความสะอาดและช่วยป้องกันการติดเชื้อต่าง ๆ ภายในช่องคลอด โดยผู้หญิงควรปรึกษาแพทย์หากพบตกขาวผิดปกติ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยเฉพาะตกขาวจากเชื้อราที่มักพบบ่อย เนื่องจากเชื้อราที่ทำให้เกิดการติดเชื้อมักเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้นอย่างในประเทศไทย 

ตกขาวจากเชื้อรา

รู้จักสาเหตุที่ทำให้ตกขาวจากเชื้อรา

ตกขาวจากเชื้อราเป็นอาการที่เกิดจากการติดเชื้อราในช่องคลอด เนื่องจากเชื้อราเจริญเติบโตมากผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น อาการคัน ผื่น แดง และบวมบริเวณอวัยวะเพศ รู้สึกแสบขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ และมีตกขาวสีขาวหรือสีเหลือง ไม่มีกลิ่น โดยตกขาวอาจมีลักษณะใสหรือตกขาวเป็นก้อนแป้ง

โดยสาเหตุที่อาจทำให้เชื้อราในช่องคลอดมีจำนวนเพิ่มขึ้น อาจมีดังนี้

1. ความอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ

การปล่อยให้บริเวณอวัยวะเพศเกิดการอับชื้นอยู่ตลอดเวลา เช่น การใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี การใส่เสื้อผ้าที่เปียกเหงื่อ หรือการไม่เช็ดอวัยวะเพศให้แห้งหลังจากเข้าห้องน้ำ อาจส่งผลให้เชื้อราในช่องคลอดเพิ่มขึ้น เนื่องจากเชื้อรามักเจริญเติบโตได้ดีในบริเวณที่อับชื้น ซึ่งอาจนำไปสู่อาการตกขาวจากเชื้อราที่เกิดจากการติดเชื้อราในช่องคลอดได้

2. การสวนล้างช่องคลอด

การสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ อาจทำให้แบคทีเรียดีภายในช่องคลอดที่มีหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อราในช่องคลอดขาดสมดุล และทำให้เชื้อราเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด และมีตกขาวจากเชื้อราตามมาได้

3. การใช้ยาปฏิชีวนะ

ตกขาวจากเชื้อราอาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้ออย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งยาอาจส่งผลให้แบคทีเรียดีในช่องคลอดถูกกำจัดได้ โดยแบคทีเรียดีในช่องคลอดจะคอยปรับสมดุลของเชื้อราในช่องคลอด หากแบคทีเรียถูกกำจัด อาจทำให้เชื้อราเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการติดเชื้อได้

4. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

การตั้งครรภ์ การมีประจำเดือนหรือการใช้ยาคุมกำเนิด อาจทำให้ระดับของฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลให้เชื้อราและแบคทีเรียในช่องคลอดขาดความสมดุลได้ จึงอาจทำให้มีตกขาวจากเชื้อรา เนื่องจากเชื้อราในช่องคลอดอาจเจริญเติบโตและเกิดการติดเชื้อได้

5. การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง

การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ อาจเสี่ยงต่อการเกิดตกขาวจากเชื้อรา โดยเลือดมักไหลเวียนไปทั่วร่างกาย รวมไปถึงบริเวณอวัยวะเพศ ดังนั้น เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อราในช่องคลอดได้ เนื่องจากเชื้อรามักเติบโตได้ดีในบริเวณที่มีน้ำตาล

6. การมีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ

ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแออาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ รวมไปถึงการติดเชื้อราในช่องคลอด โดยผู้ที่มีปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ หรือเคยผ่านการรักษาต่าง ๆ เช่น การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ การทำคีโม การปลูกถ่ายอวัยวะ อาจทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างไม่เต็มที่ และเสี่ยงต่อการมีตกขาวจากเชื้อรา เนื่องจากติดเชื้อราในช่องคลอดได้

การดูแลตัวเองขณะมีตกขาวจากเชื้อรา

ตกขาวจากเชื้อราเป็นอาการที่มักไม่สามารถหายได้เอง แต่อาจต้องใช้ยาต้านเชื้อราต่าง ๆ เพื่อรักษา โดยยาต้านเชื้อราอาจมีทั้งยาสำหรับทา ยากิน หรือยาเหน็บช่องคลอด เช่น ยาไมโคนาโซล (Miconazole) ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) หรือยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) 

นอกจากยาเหล่านี้จะช่วยรักษาตกขาวจากเชื้อราแล้ว ยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย เช่น ภาวะมีบุตรยาก หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจมีอาการคล้ายคลึงกับการติดเชื้ออื่น ๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือการติดเชื้อภายในช่องคลอดอื่น ๆ หากไม่มั่นใจว่าตกขาวเกิดจากเชื้อราหรือไม่ ควรไปพบแพทย์ และไม่ควรซื้อยาตามร้านขายยาเพื่อรักษาด้วยตนเอง เพราะการรักษาที่ไม่ตรงจุด อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นและเป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ ในระหว่างการรักษาตกขาวจากเชื้อรา สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการทำให้วัยวะเพศเกิดความอับชื้น เช่น ใส่ชุดชั้นในที่ทำจากผ้าคอตตอนและไม่รัดแน่นจนเกินไป หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที หากเสื้อผ้าเปียกน้ำหรือเปียกเหงื่อ
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะการสวนล้างช่องคลอดไม่ล้างเชื้อราออกจากช่องคลอดได้ อีกทั้งยังอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น เนื่องจากอาจทำให้แบคทีเรียดีถูกกำจัดและทำให้เชื้อราเพิ่มมากขึ้น
  • ทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งเสมอ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลจุดซ่อนเร้น เพราะอาจทำให้ช่องคลอดเกิดการระคายเคืองได้
  • หากมีประจำเดือนระหว่างการรักษา ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 3–4 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความชื้น ซึ่งอาจทำให้การติดเชื้อรุนแรงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะมีตกขาวจากเชื้อรา หรืออาจใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 

หากตกขาวจากเชื้อราไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้น หรือพบเจอความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับตกขาว โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีระดับน้ำตาลสูงได้ และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป