HbA1c หรือการตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1C) เป็นวิธีตรวจวัดค่าเฉลี่ยน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลา 2–3 เดือนที่ผ่านมา โดยแพทย์จะนำผลตรวจที่ได้มาใช้วินิจฉัยภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) และโรคเบาหวาน รวมทั้งประเมินและการวางแผนการรักษาโรคเบาหวานให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
การตรวจวัดน้ำตาลในเลือดมีความสำคัญในการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน โดยการตรวจ HbA1c เป็นวิธีที่ต้องเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาล และหากมีค่า HbA1c สูง อาจสะท้อนว่ามีผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่มีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น เช่น โรคเกี่ยวกับจอประสาทตา โรคไต และความเสียหายของระบบประสาท ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว บทความนี้จึงชวนทุกคนมาทำความรู้จักการตรวจ HbA1c และขั้นตอนในการตรวจไปด้วยกัน
HbA1c ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างไร
น้ำตาลกลูโคส (Glucose) เป็นน้ำตาลชนิดหลักที่มีอยู่ในเลือด ได้มาจากการรับประทานอาหารและใช้เป็นพลังงานในร่างกาย น้ำตาลกลูโคสที่เข้าสู่กระแสเลือดจะจับกับฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเซลล์เม็ดเลือดแดง หากรับประทานอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูง จะส่งผลให้น้ำตาลไปจับกับฮีโมโกลบินมากขึ้น และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสะสมสูงขึ้นเรื่อย ๆ
การตรวจ HbA1c จึงเป็นการตรวจวัดค่าเฉลี่ยของน้ำตาลกลูโคสที่เกาะอยู่กับฮีโมโกลบิน เพื่อประเมินความสามารถในการควบคุมเบาหวานในช่วงเวลา 2–3 เดือนก่อนการตรวจ เพราะเซลล์เม็ดเลือดแดงมีอายุประมาณ 120 วัน โดยผลการตรวจจะระบุเป็นเปอร์เซนต์ หากยิ่งมีค่าสูงจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น
ใครควรเข้ารับการตรวจ HbA1c
โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้ผู้ที่เข้าข่ายภาวะก่อนเบาหวาน และโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และโรคเบาหวานชนิด 2 เข้ารับการตรวจ HbA1c เพื่อใช้ประเมินความสามารถในการควบคุมน้ำตาลของผู้ป่วย นำไปวางแผนการรักษา และส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อหาโรคแทรกซ้อน หากผลตรวจระบุว่ามีภาวะก่อนเบาหวานหรือเป็นโรคเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
ความถี่ในการตรวจ HbAc1 จะขึ้นอยู่กับชนิดของโรคเบาหวาน แผนการรักษา และความสามารถของผู้ป่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับการติดตามผลการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและวิธีการรักษา หากผู้ป่วยสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ตามเป้าหมายภายใน 3–6 เดือน แพทย์อาจนัดตรวจติดตามอาการทุก 1-3 เดือน เพื่อประเมินการควบคุมว่ายังคงได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และให้ตรวจ HbA1c อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ขั้นตอนและผลการตรวจ HbA1c
ผู้เข้ารับการตรวจ HbA1c สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติและไม่จำเป็นต้องงดอาหารก่อนตรวจ ในวันที่เข้ารับการตรวจ เจ้าหน้าที่จะเก็บตัวอย่างเลือดโดยใช้เข็มขนาดเล็กเจาะบริเวณแขนหรือปลายนิ้วมือของผู้ป่วย ซึ่งมักใช้เวลาในการตรวจไม่เกิน 5 นาที โดยตัวอย่างเลือดจะถูกส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการ โดยจะทราบผลการตรวจภายในวันที่ตรวจ
ผลการตรวจ HbA1c แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่
- ค่าปกติ = ค่า HbA1c น้อยกว่า 5.7%
- ผู้มีภาวะก่อนเบาหวาน = ค่า HbA1c อยู่ระหว่าง 5.7–6.4% หากค่ายิ่งสูงจะยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น
- ผู้เป็นเบาหวาน = ค่า HbA1c มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5%
ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลาไม่นาน ไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือโรคประจำตัวอื่น ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ โดยทั่วไปเป้าหมายการควบคุมคือค่า HbA1c ให้น้อยกว่า 6.5% ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดบ่อยหรือรุนแรง ผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรงหรือมีโรคประจำตัวร่วมหลายโรค เป้าหมายระดับ HbA1c ไม่ควรต่ำกว่า 7.0%
ในกรณีของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยที่สภาพร่างกายไม่แข็งแรง และผู้ที่มีโรคร้ายแรง อย่างสมองเสื่อมและมะเร็งระยะสุดท้าย แพทย์อาจพิจารณาสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และกำหนดค่าเป้าหมาย HbA1c ตามอาการของผู้ปวยแต่ละคน
ปัจจัยที่อาจทำให้ผลตรวจ HbA1c คลาดเคลื่อน
ผลตรวจ HbA1c คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงในผู้ที่มีปัจจัยดังต่อไปนี้
- ตั้งครรภ์
- มีโรคเกี่ยวกับตับ ไตวาย และโลหิตจางอย่างรุนแรง
- มีประวัติเสียเลือด และเพิ่งบริจาคเลือด
- ใช้ยาบางชนิด เช่น ยาโอปิออยด์ (Opioids) และยารักษาเอชไอวี (HIVs)
- ผู้ที่มีฮีโมลโกลบินน้อย โดยมักจะเป็นผู้ที่มีโรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle Cell Disease)
การตรวจ HbA1c เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดในช่วงเวลา 2–3 เดือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาโรคเบาหวานและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ในภายหลัง อย่างไรก็ตาม หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติแล้วมีอาการน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำผิดปกติ ควรตรวจเลือดซ้ำอีกครั้งหนึ่งหรือตรวจวัดระดับน้ำตาลให้ถี่มากขึ้น และแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อปรับแผนการรักษาต่อไป