น้ำยาบ้วนปาก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคนิยมใช้เพื่อรักษาสุขภาพในช่องปาก โดยเชื่อว่าจะสามารถดับกลิ่นปาก รักษาสุขภาพฟันและเหงือกได้ จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวช่วยเพื่อขจัดสิ่งสกปรกในส่วนที่การแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันนั้นทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง หลายคนเชื่อว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากจำเป็นต้องทำก่อนหรือหลังการแปรงฟันทุกครั้ง ในขณะที่อีกหลายคนไม่เคยใช้น้ำยาบ้วนปากเลย แท้จริงแล้ว น้ำยาบ้วนปากจำเป็นจริง ๆ หรือ ?
ในท้องตลาดมีน้ำยาบ้วนปากมากมายให้ผู้บริโภคเลือกใช้ โดยมีสรรพคุณลดกลิ่นปาก ลดอาการปากแห้ง ทำให้ฟันขาว ยับยั้งฟันผุ ยับยั้งคราบจุลินทรีย์ (Plaque) หรือแม้แต่การดูแลสุขภาพช่องปากทั้งมวล ประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดและส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชนิดดังนี้
- น้ำยาบ้วนปากชนิดทั่วไป (Cosmetic Mouthwash) เป็นน้ำยาบ้วนปากชนิดที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารชีวภาพ และไม่สามารถกำจัดแบคทีเรียในช่องปากที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากได้ น้ำยาบ้วนปากชนิดนี้จึงอาจควบคุมกลิ่นปากได้เพียงชั่วคราวหรือในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
- น้ำยาบ้วนที่ใช้รักษาโรคในช่องปาก (Therapeutic Mouthwash) เป็นน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมในการช่วยกำจัดแบคทีเรียและคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก รวมไปถึงช่วยป้องกันการเกิดโรคปริทันต์และโรคเหงือกอักเสบ เช่น ฟลูออไรด์ คลอร์เฮกซิดีน หรือเซทิลไพริดิเนียมคลอไรด์ เป็นต้น
ส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปาก
ส่วนผสมเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้น้ำยาบ้วนปากมีประสิทธิภาพ บางชนิดอาจทำให้ฟันขาว ดับกลิ่นปากหรือยับยั้งแบคทีเรีย ตัวอย่างส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปากมีดังนี้
- คลอร์เฮกซิดีน (Chlorhexidine) เป็นส่วนประกอบอย่างดีในการรักษาโรคปริทันต์และต้านคราบจุลินทรีย์ แต่อาจทำให้เกิดคราบสีบนผิวฟันได้หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- เซทิลไพริดิเนียมคลอไรด์ (Cetylpyridinium Chloride) เป็นสารประกอบแอมโมเนียมที่สามารกำจัดแบคทีเรียและยับยั้งการก่อตัวของคราบจุลินทรีย์ได้ รวมไปถึงเป็นตัวช่วยในการกำจัดกลิ่นปากได้อย่างดี
- สารประเภทดีเทอร์เจนส์ (Detergents) โซเดียมลอริลซัลเฟตและโซเดียมเบนโซเอตเป็นตัวอย่างของดีเทอร์เจนส์ในน้ำยาบ้วนปาก ที่ช่วยขจัดคราบจุลินทรีย์และมักใช้ก่อนแปรงฟัน
- น้ำมันหอมระเหย น้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมหลัก มักใช้น้ำมันหอมระเหย เช่น เมนทอลและยูคาลิปตอล ที่ทำหน้าเหมือนตัวดับกลิ่นปากและช่วยในการต้านแบคทีเรีย
- ฟลูออไรด์ น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์อย่างเข้มข้น เช่น สแตนนัสฟลูออไรด์หรือโซเดียมฟลูออไรด์นั้นช่วยป้องกันฟันผุได้ แต่ถ้าใช้ทั้งยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์และน้ำที่เติมฟลูออไรด์อยู่แล้ว ก็ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์อีกหากไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดฟันผุจริง ๆ
- สมุนไพรหรือส่วนผสมจากธรรมชาติอื่น ๆ เช่น สมุนไพรเอ็กไคนาเชีย ต้นโกลเด้นซีล วิตามินซี และว่านหางจระเข้ เป็นต้น
- เอนไซม์ต้านแบคทีเรีย แบคทีเรียอาจถูกกำจัดได้โดยเอนไซม์ในร่างกายของมนุษย์หรือยาต้านแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ เอนไซม์ที่พบในน้ำยาบ้วนปาก เช่น ไลโซไซม์ และแลคโตเพอออกซิเดส ซึ่งอาจช่วยลดอาการปากแห้งได้ด้วย
- แอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและยังมีส่วนช่วยในการลดและป้องกันโรคเหงือกอักเสบและคราบจุลินทรีย์เหนือแนวเหงือก แต่อาจทำให้มีอาการแสบร้อนในช่องปากหรือปากแห้งได้
- ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและอาจช่วยลดคราบจุลินทรีย์และโรคเหงือกอักเสบ และอาจช่วยให้ฟันขาวขึ้นเล็กน้อย แต่ถ้าหากใช้มากเกินไปจะเกิดการระคายเคืองได้
น้ำยาบ้วนปากระงับกลิ่นปากได้จริงหรือไม่ ?
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นปากคือก๊าซที่เป็นสารประกอบของซัลเฟอร์ ก่อตัวมาจากแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับโรคในช่องปาก เศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ น้ำยาบ้วนปากอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมหรือระงับกลิ่นปากได้ ซึ่งประสิทธิภาพจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับน้ำยาบ้วนปากแต่ละชนิด
ผู้ใช้ควรทำความเข้าใจก่อนว่าน้ำยาบ้วนปากไม่สามารถนำมาใช้ดูแลสุขอนามัยในช่องปากแทนการแปรงฟันหรือการใช้ไหมขัดฟันได้ และในความเป็นจริงแล้ว กลิ่นปากเกิดจากการที่ดูแลสุขภาพในช่องปากไม่ดีพอ หากใส่ใจในการดูแลช่องปากให้ดีขึ้น น้ำยาบ้วนปากก็อาจไม่จำเป็นอีกต่อไป
ประโยชน์อื่น ๆ ของน้ำยาบ้วนปาก
นอกจากจะสามารถระงับกลิ่นปากได้แล้ว น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมพิเศษบางอย่าง ยังอาจช่วยดูแลปัญหาสุขภาพในช่องปากอื่น ๆ ได้อีกเช่น
- ทำให้ฟันขาวขึ้น
- ลดการเกิดฟันผุ
- ลดการเกิดคราบจุลินทรีย์และโรคเหงือกอักเสบ
- บรรเทาอาการปวดเฉพาะจุดในช่องปาก
- บรรเทาอาการต่าง ๆ จากภาวะปากแห้งเนื่องจากน้ำลายน้อย
การใช้น้ำยาบ้วนปาก
น้ำยาบ้วนปากใช้เพื่อเป็นตัวช่วยในการขจัดสิ่งสกปรกบริเวณที่การแปรงฟันหรือไหมขัดฟันเข้าไม่ถึง ไม่สามารถนำมาใช้รักษาสุขภาพช่องปากเป็นหลักเพียงอย่างเดียวได้ การใช้น้ำยาบ้วนปากสามารถใช้ได้ทั้งก่อนและหลังแปรงฟัน และเวลาใช้ควรกลั้วให้ทั่วปากแล้วอมทิ้งไว้ประมาณ 30-60 วินาที ไม่ควรนานเกิน 1 นาที แต่ถ้าทิ้งไว้น้อยกว่า 30 นาทีอาจจะไม่ค่อยเกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร และไม่จำเป็นต้องบ้วนน้ำเปล่าตามหลังการใช้น้ำยาบ้วนปาก
กลืนน้ำยาบ้วนปากเป็นอะไรไหม?
การกลืนน้ำยาบ้วนปากมากเกินไปจะส่งผลให้มีอาการคล้าย ๆ กับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จำนวนมากเข้าไป อาจทำให้มีอาการที่เกี่ยวกับลำไส้และท้องที่รุนแรง และยังนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของกรด-เบสในร่างกาย
ใช้น้ำยาบ้วนปากมากเกินไปไม่ดีจริงหรือ ?
หากใช้น้ำยาบ้วนปากในปริมาณที่พอเหมาะ อาจไม่เกิดผลอะไร แต่หากใช้น้ำยาบ้วนปากเยอะเกินปกติหรือเกินปริมาณที่แนะนำโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม จะทำให้เกิดการใช้น้ำยาบ้วนปากเกินขนาด และส่วนผสมในน้ำยาบ้วนปากบางชนิด เช่น คลอร์เฮกซิดีน และเอทิลแอลกอฮอล์ อาจก่อให้เกิดความเป็นพิษได้ ผู้ที่ใช้น้ำยาบ้วนปากเกินขนาดจะแสดงอาการดังนี้
- เวียนศีรษะ
- ปวดหัว ลำคอ หรือช่องท้อง
- ผิวหนังแดงและปวด
- คลื่นไส้
- ท้องร่วง
- อาเจียน (อาจมีเลือดปน)
- หายใจตื้นและเร็วหรือหายใจช้า
- หัวใจเต้นเร็ว
- น้ำตาลในเลือด ความดันโลตหิต หรืออุณหภูมิร่างกายต่ำ
- มีปัญหากับการปัสสาวะเช่น ปัสสาวะมากหรือน้อยเกินไป
- พูดไม่ชัด
- การเคลื่อนไหวผิดปกติ
- เซื่องซึม
- หมดสติไม่รู้สึกตัว
หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์โดยเร็วและไม่ควรทำให้ผู้ป่วยอาเจียนโดยเด็ดขาด
ข้อควรระวังสำหรับคนท้อง
เนื่องจากคนท้องนั้นอาจจะประสบกับอาการอาเจียนบ่อยครั้ง น้ำยาบ้วนปากจึงเป็นตัวเลือกในการนำมาดูแลสุขอนามัยในช่องปาก น้ำยาบ้วนปากในท้องตลาดอาจไม่อันตรายต่อคนท้องและเด็กในท้องหากไม่ได้กลืนลงไปในปริมาณเยอะ ๆ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์แต่ไร้ซึ่งส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่หากคนท้องมีปัญหากับการควบคุมคราบจุลินทรีย์ แพทย์อาจแนะนำน้ำยาบ้วนปากที่มีสารต้านจุลชีพ (Antimicrobial) หรือสารต้านแบคทีเรีย (Antibacterial) มากกว่าน้ำยาบ้วนปากที่มีฟลูออไรด์
ข้อควรระวังสำหรับเด็ก
น้ำยาบ้วนปากไม่เหมาะกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เพราะเด็กอาจจะกลืนเข้าไปและเกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดการเป็นพิษขึ้น โดยเฉพาะหากเด็กกลืนน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์สูงมาก ๆ เด็กอาจมีอาการล้มฟุบลงไปและไม่ตอบสนองได้ และเพื่อป้องกันเด็กเล็กกินน้ำยาบ้วนปากจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ผู้ปกครองควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีฝาป้องกันเด็กเปิด (Child Proof Cap) เด็กเล็กสามารถหัดให้ใช้น้ำยาบ้วนปากได้ก็ต่อเมื่อเด็กรู้จักการบ้วนออกมา ทางที่ดีควรรับคำแนะนำจากแพทย์ รวมไปถึงอ่านข้อควรระวังและคำแนะนำของน้ำยาบ้วนปากให้ชัดเจน
วิธีทำน้ำยาบ้วนปากด้วยตนเอง
หากกังวลในส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ว่าจะอันตรายต่อสุขอนามัยในช่องปากหรือร่างกาย การทำน้ำยาบ้วนปากด้วยตนเองนั้นอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยเฉพาะกับคนท้อง เพราะอาจนำมาใช้หลังการอาเจียนได้บ่อยครั้งเพื่อช่วยป้องกันสารเคลือบฟันสึกกร่อน การทำน้ำยาบ้วนปากที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีนั้นสามารถทำได้ที่บ้าน โดยการนำเบกกิ้งโซดา 1 ช้อนชา เกลือ 1 ช้อนชาและน้ำเปล่าประมาณ 1 ลิตร มาผสมให้เข้ากันดี หลังจากนั้นจึงนำมาใช้เป็นน้ำยาบ้วนปากได้