ความหมาย ปวดขา
ปวดขา (Leg Pain) คืออาการปวดบริเวณขาที่เกิดขึ้นบางจุดหรือทั่วทั้งขา โดยอาจมีอาการชา ปวดแปลบ หรือปวดร้าวร่วมด้วย ซึ่งอาจเป็นผลจากโรคบางชนิด การบาดเจ็บ หรือการทำกิจกรรมที่ใช้ขามากเกินไป เช่น การเดินนาน ๆ หรือการออกกำลังกาย การวินิจฉัยจากแพทย์จะช่วยให้ทราบถึงสาเหตุของอาการปวดขา เพื่อการรักษาและป้องกันที่ถูกต้อง
อาการปวดขา
ปวดขามักมีลักษณะอาการและบริเวณที่ต่างกันไป โดยอาจรู้สึกปวดเสียด หรือปวดแสบบริเวณต้นขา หน้าแข้ง หรือน่อง การปวดขาอาจเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ หรือต่อเนื่อง และอาจดีขึ้นได้เองขณะพัก หรืออาจมีอาการอื่นเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น เหน็บชา ตะคริว ปวดร้าว หรือปวดตุบ ๆ เป็นต้น
อาการปวดขาอาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้ เพื่อรับการรักษาและป้องกันการพัฒนาของอาการที่อาจเกิดขึ้น
- ปวดขามากขึ้นเรื่อย ๆ
- ปวดขาขณะทำหรือหลังทำกิจกรรม เช่น การเดิน
- ขาบวม หรือมีเส้นเลือดขอด
- ปวดต้นขาขณะนั่งเป็นเวลานาน
- ขาเริ่มซีด ฟกช้ำ บวม หรือเย็นผิดปกติ
- มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ
- มีสัญญาณการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส บริเวณที่ปวดเริ่มแดง กดแล้วเจ็บ
สัญญาณอันตรายที่ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที ได้แก่
- เดินไม่ได้
- เจ็บหรือปวดต้นขามาก ประกอบกับอาการบวมแดง
- มีเสียงเปราะดังขึ้นที่ขาขณะเกิดอุบัติเหตุ
- มีบาดแผลรุนแรง เช่น ถูกของมีคมบาดจนเห็นเส้นเอ็นหรือกระดูก
สาเหตุของอาการปวดขา
การบาดเจ็บ การใช้ขามากเกินไป กระดูกหัก กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นฉีกขาด คือสาเหตุหลักของอาการปวดขา แต่เนื่องจากขามีโครงสร้างและเนื้อเยื่อจำนวนมาก อาการปวดขาจึงอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่นเช่นกัน ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังต่อไปนี้
กลุ่มกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อต่อ
- การห้อเลือด การบาดเจ็บอาจทำให้มีเลือดออกภายในเนื้อเยื่อและข้อต่อ จึงทำให้เกิดอาการบวมและเจ็บปวดได้
- ตะคริว ตะคริวมีลักษณะเป็นก้อนแข็งใต้ผิวหนังและอาจมีอาการบวมแดงร่วมด้วย มักเกิดขึ้นเองโดยเฉียบพลัน โดยมีสาเหตุจากการขาดน้ำในร่างกาย กล้ามเนื้อตึงหรืออ่อนแรงจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นเวลานานหรือหนักเกินไป การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) หรือสแตติน (Statins) หรือส่วนประกอบต่าง ๆ ในเลือดต่ำ เช่น โปแตสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม หรือโซเดียม
- ปวดข้อ อาจเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บหรือโรคประจำตัว เช่น โรคข้ออักเสบ และโรคเก๊าท์
- ปวดกล้ามเนื้อ มักเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป เช่น การเดินหรือยืนนาน ๆ การออกกำลังกายอย่างหนักหรือปวดกล้ามเนื้อจากการติดเชื้อในร่างกาย เป็นต้น
- หน้าแข้งอักเสบ คืออาการปวดและบวมบริเวณหน้าแข้งจากการใช้หน้าแข้งมากเกินไป เช่น การกระโดด วิ่ง หรือเต้น หากไม่เข้ารับการรักษาหรือยังคงทำกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้กระดูกหักได้
- กล้ามเนื้อเคล็ดหรือแพลง เกิดจากการยืดกล้ามเนื้อมากเกินไปจนทำให้เนื้อเยื่อ เส้นเอ็น หรือกล้ามเนื้อฉีกขาด ส่งผลให้เกิดอาการบวม อักเสบ และเจ็บปวดได้
- กระดูกหัก กระดูกหักทำให้ปลายประสาทในเยื่อหุ้มกระดูกอักเสบและเสียหาย จึงทำให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ กระดูกที่หักมีอาการตึง และส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น
- เอ็นอักเสบ คือการอักเสบของเส้นเอ็น ซึ่งกระทบข้อต่อบริเวณใกล้เคียง โดยมักเกิดขึ้นที่เอ็นร้อยหวาย หรือกระดูกส้นเท้า
- ภาวะความดันในกล้ามเนื้อสูง คือภาวะฉุกเฉินที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดความดันภายในกล้ามเนื้อ เพราะความดันที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ ผู้ป่วยจึงเกิดอาการชา ปวด และไม่สามารถขยับเท้าหรือข้อเท้าได้
- อาการปวดขาในเด็ก พบได้บ่อยในช่วงอายุ 3-5 ปี และ 8-12 ปี สาเหตุอาจเกิดจากการเจริญเติบโตของกระดูกที่ยืดยาวเร็วกว่ากล้ามเนื้อ การใช้กล้ามเนื้อหรือทำกิจกรรมในช่วงกลางวันมากเกินไป โดยมักมีอาการปวดตึงที่กล้ามเนื้อน่อง ข้อพับเข่า หรือต้นขาเป็นเวลา 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง และมักเป็นช่วงเย็นหรือก่อนนอน บางครั้งอาจมีอาการหลังจากนอนหลับไปแล้ว ทำให้เด็กต้องตื่นขึ้นกลางดึก แต่พอบีบนวดสักพัก อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและสามารถนอนหลับต่อได้ ตอนเช้าจะเดินวิ่งได้ตามปกติ อาการปวดขาในเด็กมักหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น
กลุ่มโรคติดเชื้อ
- ผิวหนังอักเสบ เกิดขึ้นจากอาการบวมน้ำภายใต้ผิวหนังหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus หรือ Staphylococcus ซึ่งทำผลให้เกิดอาการปวดขาได้
- โรคกระดูกติดเชื้อ คือการติดเชื้อที่บริเวณกระดูก มักเกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อโรคอื่น ๆ
- โรคงูสวัด เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสในระบบประสาท จึงอาจทำให้เกิดความเจ็บปวดมากจากการอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลัง
- โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ คือการติดเชื้อแบคทีเรียในผิวหนังแท้และเนื้อเยื่อ ซึ่งอาจลุกลามไปยังกล้ามเนื้อได้
กลุ่มความผิดปกติที่เส้นเลือดและระบบประสาท
- ลิ่มเลือด การเกิดลิ่มเลือดอาจส่งผลให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน เนื้อเยื่อจึงเกิดภาวะขาดออกซิเจนและแสดงอาการโดยการอักเสบ ปวด และบวมแดง เป็นต้น
- ภาวะเดินกะเผลกเหตุปวด (Claudication) เกิดจากการอุดตันภายในหลอดเลือด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวขณะเดินหรือออกกำลังกาย
- อาการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง หรือโรคพิษสุราเรื้อรังอาจส่งผลต่ออาการปวดเส้นประสาท ทำให้กล้ามเนื้อขาอ่อนแรงได้
- ปวดหลังส่วนเอว มักเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทไซอาติก (Sciatica) ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณสะโพกร้าวลงขา หรือโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท กล้ามเนื้อตึง โรคข้ออักเสบ หรือการบาดเจ็บต่าง ๆ
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ เกิดขึ้นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ซึ่งทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ผู้ป่วยจึงรู้สึกปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อขาดออกซิเจน โดยเฉพาะในเวลาที่ร่างกายต้องการออกซิเจนเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดิน ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะเดินกะเผลกเหตุปวดได้
- โรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มที่จะเกิดแผลติดเชื้อได้ง่ายจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยมักเกิดแผลที่บริเวณเท้าจากการขาดเลือดไปเลี้ยง และอาจลุกลามมายังขาได้
- โรคเส้นประสาท มักเกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย เช่นในโรค Meralgia Paresthetica ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณต้นขาจากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ เป็นต้น
การวินิจฉัยอาการปวดขา
แพทย์อาจสอบถามผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการและเริ่มต้นตรวจร่างกายผู้ป่วย โดยอาจใช้กระบวนการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การตรวจเลือด มักขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และโรคประจำตัวที่ผู้ป่วยแต่ละรายมี โดยอาจใช้การตรวจนับเม็ดเลือดขาว อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (ESR) และการตรวจสอบการอักเสบในร่างกาย (CRP) ซึ่งช่วยให้ทราบภาวะการติดเชื้อ หากผู้ป่วยมีโรคเก๊าท์ แพทย์อาจตรวจวัดระดับกรดยูริคด้วยเช่นกัน
- การตรวจสมรรถภาพหลอดเลือดแดง (Ankle-Brachial Index: ABI) ใช้ตรวจการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดที่ขาขณะพักและออกกำลังกาย แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกับการไหลเวียนโลหิตที่แขน
- การเอกซเรย์ แพทย์อาจใช้การเอกซเรย์กรณีที่กระดูกหัก เพื่อตรวจดูน้ำไขข้อและการสะสมของหินปูนบริเวณข้อต่อ
- การเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) อาจใช้ในการตรวจหลอดเลือด หรือเพื่อประเมินลักษณะและการแตกหักของข้อต่อและกระดูก เป็นต้น
- อัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน
- การสร้างภาพอวัยวะด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แพทย์อาจใช้ในการตรวจสอบกระดูก ข้อต่อ เนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ เป็นต้น หรือการตรวจหลอดเลือด และค้นหากระดูกที่แตกหัก
- การตรวจหลอดเลือด แพทย์อาจตรวจสอบการไหลเวียนโลหิตในหลอดเลือดที่ขาเพิ่มเติม โดยการฉีดสีเข้าสู่หลอดเลือดและใช้การเอกซเรย์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการสร้างภาพอวัยวะด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อสังเกตการไหลเวียน
- การทำงานของเส้นประสาท เพื่อประเมินอาการปวดเส้นประสาทว่าเกิดขึ้นจากสมอง ไขสันหลัง หรือความเสียหายของเส้นประสาทส่วนปลาย
- การตรวจความดันในกล้ามเนื้อ แพทย์จะใช้การตรวจสอบความดันในกล้ามเนื้อที่ขา และ/หรือต้นขาของผู้ป่วยที่สงสัยว่าอาจมีภาวะความดันในกล้ามเนื้อสูง หากผู้ป่วยมีภาวะดังกล่าวจริง แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้มีดกรีดบริเวณที่ติดเชื้ออย่างเร่งด่วน เพื่อลดความดันและฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือดและการทำงานของระบบประสาท
- การเจาะข้อ แพทย์จะใช้เข็มเจาะที่ข้อต่อหากมีการติดเชื้อหรืออักเสบเกิดขึ้น และดูดน้ำไขข้อขึ้นมาเพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์ต่อไป
การรักษาอาการปวดขา
การรักษาด้วยตนเอง ผู้ป่วยสามารถใช้วิธีการต่อไปนี้ได้เพื่อบรรเทาอาการปวด ตะคริวหรือการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ
- พักการใช้ขา และวางขาไว้บนหมอนหรือตำแหน่งที่สูงกว่าลำตัว
- ประคบน้ำแข็งบริเวณที่รู้สึกปวดหรือเคล็ด 4 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 15 นาที
- รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล และแอสไพริน
- ใส่ผ้ารัดขาเพื่อช่วยป้องกันอาการบวม ลดการเกิดลิ่มเลือด และทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตในขาดีขึ้น
- อาบน้ำอุ่นช่วยคลายกล้ามเนื้อ
- หากผู้ป่วยปวดขาท่อนล่าง ให้ยืดหรือเหยียดนิ้วเท้าออกให้ตรง หรือหากมีอาการปวดขาท่อนบน ให้ก้มตัวลงแตะนิ้วเท้าเป็นเวลา 5-10 วินาทีเพื่อยืดเส้น
- ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อเคล็ดหรือแพลงควรงดใช้ขา ประคบด้วยน้ำแข็งเพื่อลดความดัน และวางขาไว้ในตำแหน่งที่สูงกว่าลำตัว หรือรับประทานยาแก้ปวดร่วมด้วย เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน
- กรณีกระดูกหัก ควรทำการห้ามเลือดก่อนเป็นอันดับแรก และไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือเคลื่อนไหวบริเวณที่สงสัยว่ามีกระดูกหัก ใช้น้ำแข็งประคบบริเวณดังกล่าว พร้อมตรวจสอบว่าผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอาการช็อคหรือไม่ แล้วจึงรีบติดต่อแพทย์
การรักษาด้วยวิธีการทางการแพทย์
การรักษามักขึ้นอยู่กับลักษณะอาการหรือโรคประจำตัวของผู้ป่วย ประกอบกับผลการวินิจฉัยของแพทย์ เพื่อช่วยลดอาการปวดและควบคุมสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปวดขาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การบาดเจ็บเล็กน้อยอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใด ๆ แต่ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ อาจต้องเข้ารับการรักษาตลอดชีวิตเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น
การป้องกันอาการปวดขา
- ควรยืดเส้นทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย และควรออกกำลังกาย 5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30 นาที
- ควบคุมน้ำหนัก และรับประทานอาหารที่มีโปแตสเซียมสูง เช่น กล้วยและไก่
- งดสูบบุหรี่ และจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้หญิงควรดื่มเพียง 1 ขวดต่อวัน และ 2 ขวดต่อวันสำหรับผู้ชาย
- ใช้ไม้เท้าเพื่อช่วยพยุงกรณีที่ไม่สามารถยืนหรือเดินได้ตามปกติ
- ลุกขึ้นเดินทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง หากต้องเดินทางเป็นเวลานาน ๆ ในรถโดยสาร เครื่องบิน หรือรถไฟ เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดดำส่วนลึกอุดตัน
- เข้ารับการตรวจและควบคุมระดับความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลในร่างกายเสมอ
- ผู้มีโรคประจำตัวควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- ผู้ที่มีอาการปวดจากเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Pain) ไม่ควรนอนติดเตียงเป็นเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวสามารถกลับมาทำกิจวัตรได้ตามปกติเมื่อจำกัดระยะเวลาการนอนพักบนเตียงให้น้อยลง
- ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการป้องกันการเกิดอาการปวดขาที่อาจเกิดขึ้น
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ปวดขา เช่น การยืน เดินหรือใส่รองเท้าส้นสูงนาน ๆ เป็นต้น