ยาคุมแบบฉีด (Contraceptive Injection)
ยาคุมแบบฉีด (Contraceptive Injections) คือยาคุมกำเนิดรูปแบบหนึ่ง มีกลไกการออกฤทธิ์โดยเมื่อฉีดสารโปรเจสโตเจนเข้าไปในร่างกาย จะทำให้ร่างกายไม่พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ เช่น หยุดการตกไข่ สร้างเมือกหนาที่บริเวณคอมดลูกเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ รวมทั้งทำให้เยื่อบุมดลูกบางลงเพื่อทำให้ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วไม่สามารถฝังตัวได้ด้วย
ยาคุมแบบฉีดที่นิยมใช้มี 2 ชนิด ได้แก่ ยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone) และยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone) ผสมกับยาเอสทราดิอัลไซพิโอเนท (Estradiol cypionate) ยาคุมแบบฉีดมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงถึง 99% หากใช้ถูกวิธี นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือภาวะเนื้องอกในมดลูกได้ด้วย
เกี่ยวกับยาคุมแบบฉีด
กลุ่มยา | ยาคุมกำเนิด |
ประเภทยา | ต้องได้รับการฉีดจากแพทย์เท่านั้น |
สรรพคุณ | ป้องกันการตั้งครรภ์ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ รวมถึงผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันว่าสามารถใช้ได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กทารกที่รับประทานนมแม่ |
รูปแบบของยา | ยาสำหรับฉีด |
คำเตือนในการใช้ยาคุมแบบฉีด
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาคุมแบบฉีด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ไม่ควรรับการฉีดยาคุม ส่วนผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดยาคุม เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทารกแรกเกิด
- ผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ โรคมะเร็งเต้านม โรคเบาหวาน ภาวะไมเกรน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะกระดูกเปราะ ไม่ควรรับการฉีดยาคุม
- การฉีดยาคุมชนิดยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรนอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หากประจำเดือนมามากหรือมานานกว่าปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา
- ผู้ที่เคยฉีดยาคุมชนิดยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรนอาจต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปีนับตั้งแต่สารของยาหมดไปจากร่างกาย จึงจะสามารถกลับไปตั้งครรภ์ได้ตามปกติ จึงอาจเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการมีลูกในอนาคต
- ยาคุมที่ฉีดเข้าไปในร่างกายไม่สามารถขจัดออกมาได้ในทันที ดังนั้น หากได้รับผลข้างเคียงจากยาคุม จะทำให้เกิดอาการจากผลข้างเคียงอยู่นานจนกว่าสารของยาคุมจะหมดไปจากร่างกาย
- การฉีดยาคุมเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ หากต้องการคุมกำเนิดและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไปพร้อมกันควรใช้ถุงยางอนามัย
ปริมาณการใช้ยาคุมแบบฉีด
ยาคุมแบบฉีดแต่ละชนิดมีปริมาณและวิธีการฉีดยาคุมที่แตกต่างกัน ดังนี้
ยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone)
ยาคุมชนิดนี้จะใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยมักฉีดบริเวณกล้ามเนื้อหัวไหล่และแขน กล้ามเนื้อด้านข้างของต้นขา หรือกล้ามเนื้อสะโพกในกรณีที่ผู้ที่เข้ารับการฉีดยาคุมมีรูปร่างค่อนข้างอ้วน แพทย์จะฉีดยาคุมในปริมาณ 150 มิลลิกรัม หรือปริมาณ 3 มิลลิลิตร และผู้ที่เข้ารับการฉีดยาคุมชนิดนี้จำเป็นต้องมารับการฉีดต่อเนื่องทุก 3 เดือน
ยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรน (Medroxyprogesterone) 25 มิลลิกรัม ผสมกับยาเอสทราดิอัลไซพิโอเนท (Estradiol Cypionate) 5 มิลลิกรัม
ยาคุมชนิดนี้จะใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยมักฉีดบริเวณส่วนบนของแขน ต้นขา หรือก้น แพทย์จะฉีดยาคุมในปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร และผู้ที่เข้ารับการฉีดยาคุมชนิดนี้จำเป็นต้องมารับการฉีดต่อเนื่องทุก 28–30 วัน
การใช้ยาคุมแบบฉีด
การฉีดยาคุมเข็มแรกมักฉีดในช่วง 1–5 วันแรกเมื่อเริ่มมีประจำเดือน เพราะสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที และฉีดยาคุมเข็มต่อไปเมื่อครบกำหนดโดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของยาคุม ส่วนในกรณีที่ไม่สามารถฉีดยาคุมได้ในช่วง 5 วันแรกของรอบเดือนสามารถฉีดยาคุมในช่วงอื่นได้ แต่ผู้ที่เข้ารับการฉีดยาคุมจะต้องมั่นใจว่าไม่ได้กำลังตั้งครรภ์ และแพทย์จะแนะนำให้คุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วยเป็นเวลา 7 วัน
การฉีดยาคุมในผู้ที่พึ่งผ่านการคลอดลูกและกำลังอยู่ในช่วงให้นมลูกสามารถทำได้ เนื่องจากยาคุมชนิดยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรนจะไม่ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมลดลง แต่ยาคุมชนิดยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรนผสมกับยาเอสทราดิอัลไซพิโอเนทอาจส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพของน้ำนมลดลงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดยาคุม
รายละเอียดการฉีดยาคุมสำหรับผู้ที่พึ่งผ่านการคลอดลูกและกำลังให้นมลูก มีดังนี้
- การฉีดยาคุมชนิดยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรน ในกรณีของผู้ที่ไม่ได้ให้นมลูกควรฉีดภายใน 5 วันหลังคลอด ส่วนในกรณีของผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมลูกควรฉีดยาคุมเมื่อผ่านไปแล้ว 6 สัปดาห์
- การฉีดยาคุมชนิดยาเมดรอกซีโปรเจสเตอโรนผสมกับยาเอสทราดิอัลไซพิโอเนท ในกรณีของผู้ที่ไม่ได้ให้นมลูก ควรฉีดยาคุมได้เมื่อผ่านไปแล้ว 4 สัปดาห์หลังคลอด ส่วนในกรณีของผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงให้นมลูกควรฉีดยาคุมเมื่อผ่านไปแล้ว 6 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของยาคุมจะต่างกันไปตามระยะเวลาที่ฉีดหลังคลอด หากเริ่มฉีดยาคุมก่อนเข้าวันที่ 21 หลังคลอดจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ทันที แต่หากฉีดยาคุมหลังวันที่ 21 นับตั้งแต่คลอดไปแล้ว จะต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยไปอีกเป็นเวลา 7 วัน
ส่วนในกรณีของผู้ที่แท้งบุตรหรือทำแท้งสามารถฉีดยาคุมได้ทันที ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้โดยตรง แต่หากฉีดยาคุมในระยะเวลานานกว่า 5 วันหลังจากวันที่แท้งหรือทำแท้ง ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นร่วมด้วยไปอีกเป็นเวลา 7 วัน
ปฏิกิริยาระหว่างยาคุมแบบฉีดกับยาอื่น
ยาคุมแบบฉีดอาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาคุมลดลง ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาหรือผลิตภัณฑ์ที่กำลังใช้อยู่ก่อนเข้ารับการฉีดยาคุมทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ
ตัวอย่างยาที่อาจทำปฏิกิริยากับยาคุมแบบฉีด เช่น ยาโบเซนแทน (Bosentan) ยาโมดาฟินิล (Modafinil) ยารักษาโรคลมชัก ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) รวมถึงยานอนหลับด้วย
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมแบบฉีด
การใช้ยาคุมแบบฉีดมักไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพที่ร้ายแรงในคนส่วนใหญ่ เพียงแค่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ ปวดท้อง เหนื่อยล้า เป็นสิว เต้านมคัด อารมณ์แปรปรวน หรือความต้องการทางเพศลดลง ซึ่งอาการเหล่านี้มักไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่หากมีผลข้างเคียงจากการใช้ยานานกว่า 2 เดือน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์
ตัวอย่างผลข้างเคียงจากการฉีดยาคุมชนิดยาเมดรอกซีโปรเจสโตเจน ได้แก่
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนมาเป็นระยะเวลาสั้น หรือประจำเดือนขาด โดยมักจะเกิดขึ้นในช่วงปีแรกของการฉีดยาคุม
- น้ำหนักขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน หรือผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30
- มวลกระดูกลดลง โดยผลข้างเคียงนี้อาจไม่ได้เป็นปัญหารุนแรงสำหรับคนทั่วไป เพราะร่างกายสามารถสร้างกระดูกขึ้นมาใหม่ได้เมื่อหยุดการฉีดยาคุม แต่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นภาวะกระดูกเปราะมาก่อน รวมถึงผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะร่างกายยังต้องสร้างกระดูกอยู่
ตัวอย่างผลข้างเคียงจากการฉีดยาคุมชนิดเมดรอกซีโปรเจสโตเจนรวมกับเอสทราดิอัลไซพิโอเนท ได้แก่
- เกิดเลือดออกในช่องคลอด โดยจะเกิดขึ้นในช่วง 20–25 วันหลังจากฉีดยาคุม และมักมีเลือดออกในช่องคลอดประมาณ 7 วัน รวมถึงในช่วงรอบเดือนอาจมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติร่วมด้วย
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ โดยในบางรายอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า 4–9 กิโลกรัม และในบางรายอาจมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงมากถึง 20 กิโลกรัม
- เกิดอาการบวมน้ำ โดยนิ้วมือหรือข้อเท้าจะมีลักษณะบวมขึ้น รวมถึงอาจมีภาวะความดันโลหิตสูงด้วย
- ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์อาจเกิดความเปลี่ยนแปลงในการมองเห็น หรือไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ตามปกติ