ระบบไหลเวียนเลือด รู้จักการทำงานและโรคที่ควรระวัง

ระบบไหลเวียนเลือด (Circulatory System) ประกอบด้วยอวัยวะสำคัญคือหัวใจ หลอดเลือด และเลือด ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เลือดไหลเวียน และลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจน และฮอร์โมนไปสู่อวัยวะ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทั่วร่างกาย นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกายด้วย

นอกจากการกระจายสารอาหาร ออกซิเจน และสารอื่น ๆ ไปสู่เซลล์ของร่างกาย และการกำจัดของเสียที่ได้จากกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ระบบไหลเวียนเลือดยังมีความสำคัญในการช่วยรักษาความสมดุลในร่างกาย เช่น สารน้ำ อุณหภูมิ และสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกายให้คงที่ จึงช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ตามปกติ

ระบบไหลเวียนเลือด

องค์ประกอบของระบบไหลเวียนเลือด

ระบบไหลเวียนเลือดประกอบด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

หัวใจ

หัวใจเป็นอวัยวะสูบฉีดเลือดเพื่อนำพาออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไปเลี้ยงร่างกาย โดยอยู่บริเวณกลางอกค่อนไปทางซ้ายเล็กน้อย หัวใจห่อหุ้มด้วยผนังหัวใจ 3 ชั้น และภายในหัวใจแบ่งออกเป็น 4 ห้อง คือหัวใจห้องบนขวา ห้องล่างขวา ห้องบนซ้าย และห้องล่างซ้าย

  • หัวใจห้องบน 2 ห้อง เรียกว่า เอเทรียม (Atrium) แบ่งเป็นซ้ายและขวา 
  • หัวใจห้องล่าง 2 ห้อง เรียกว่า เวนทริเคิล (Ventricle) แบ่งเป็นซ้ายและขวา

หัวใจทั้ง 4 ห้องจะทำงานร่วมกันในการสูบฉีดเลือด ซึ่งจะมีลิ้นหัวใจกั้นระหว่างห้องหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลเวียนแบบทิศทางเดียวและไม่ไหลย้อนกลับไปปะปนกัน

เลือด

เลือดเป็นของเหลวสีแดงที่ไหลเวียนทั่วร่างกาย โดยจะนำพาสารอาหาร ออกซิเจน ฮอร์โมน แอนติบอดี (Antibody) ซึ่งเป็นสารช่วยต้านเชื้อโรค และสารอื่นๆ ที่ร่างกายจำเป็นต้องใช้ในกระบวนการต่าง ๆ โดยเลือดประกอบด้วย

  • พลาสม่า (Plasma) เป็นของเหลวใสสีเหลืองอ่อนที่ประกอบด้วยน้ำ โปรตีน แร่ธาตุ และสารอื่น ๆ
  • เม็ดเลือดแดง ประกอบด้วยฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนจากปอดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • เม็ดเลือดขาว มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี (Antibody) ที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย จึงช่วยป้องกันการติดเชื้อและเจ็บป่วย
  • เกล็ดเลือด ช่วยในการแข็งตัวของเลือดเมื่อเกิดบาดแผล จึงช่วยให้เลือดหยุดไหลและทพให้แผลหายเร็วขึ้น

หลอดเลือดที่ออกจากหัวใจ (Arteries)

หลอดเลือดที่ออกจากหัวใจ หรือที่เรียกกันว่าหลอดเลือดแดง มี 2 ประเภทหลัก คือ

  • เอออร์ตา (Aorta) หลอดเลือดขนาดใหญ่สุด ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดที่ถูกสูบฉีดออกจากหัวใจห้องล่างซ้าย โดยลำเลียงเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงส่งไปยังหลอดเลือดแดงรอง (Arterioles) และหลอดเลือดแดงฝอย (Capillaries) เพื่อไปหล่อเลี้ยงร่างกาย
  • พัลโมนารี อาร์เตอรี (Pulmonary Arteries) ซึ่งจะรับเลือดจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนต่ำจากหัวใจห้องล่างขวาและส่งไปฟอกที่ปอด เพื่อให้กลับเป็นเลือดที่มีออกซิเจนสูงอีกครั้ง

หลอดเลือดที่กลับเข้าสู่หัวใจ (Veins)

หลอดเลือดที่กลับเข้าสู่หัวใจ หรือที่เรียกว่าหลอดเลือดดำ มี 2 ประเภทหลัก คือ

  • เวนาคาวา (Vena Cava) ทำหน้าที่ลำเลี้ยงเลือดที่สูญเสียออกซิเจนและมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์สูงจากร่างกายไหลกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนขวาไปยังห้องล่างขวา และส่งต่อไปฟอกที่ปอด โดยภายในหลอดเลือดจะมีลิ้นหัวใจกั้น เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เลือดเสียไหลย้อนกลับ
  • พัลโมนารี เวน (Pulmonary Vein) นำเลือดที่ฟอกแล้วจากปอดกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายไปยังห้องล่างซ้าย ก่อนสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกาย

ขั้นตอนของระบบไหลเวียนเลือด

เลือดที่มีออกซิเจนต่ำจากร่างกายจะไหลเวียนเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา ส่งต่อลงสู่หัวใจห้องล่างขวา และลำเลียงต่อไปที่ปอดเพื่อฟอกเลือด โดยเติมออกซิเจนเข้าไปในเลือดและกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายด้วยการหายใจ

จากนั้นเลือดที่มีออกซิเจนสูงจากปอดจะไหลเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายและหัวใจห้องล่างซ้าย ซึ่งจะสูบฉีดเลือดผ่านหลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตา และส่งเลือดไปยังหลอดเลือดแดงรองและหลอดเลือดแดงฝอยเพื่อนำไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

ในระหว่างที่เลือดไหลเวียนนี้จะสูญเสียสารอาหาร และออกซิเจนไป พร้อมกับสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ และของเสียอื่น ๆ จากร่างกาย เลือดที่ใช้แล้วจะไหลผ่านหลอดเลือดดำกลับมาที่หัวใจทางห้องบนขวาเพื่อส่งไปฟอกที่ปอด และจะหมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ

โรคเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด

โรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดอาจเกิดจากความผิดปกติของหัวใจ หลอดเลือด และส่วนอื่น ๆ เช่น

โรคความดันโลหิต

ความดันโลหิตคือค่าของแรงดันในหลอดเลือดช่วงหัวใจบีบตัวและคลายตัว ซึ่งคนปกติความดันตัวบนไม่ควรเกิน 120 และตัวล่างไม่ควรเกิน 80 มิลลิเมตรปรอท หากความดันโลหิตสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและโรคเรื้อรังอื่น ๆ หากความดันโลหิตต่ำอาจทำให้อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และเป็นลมได้

หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)

หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นภาวะความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำให้ให้หัวใจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ทำให้หัวใจทำงานและสูบฉีดเลือดได้ไม่เต็มที่ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

โรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)

โรคหลอดเลือดแดงแข็งเกิดจากการสะสมของไขมัน แคลเซียม และสารอื่น ๆ ภายในผนังหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งและหนาตัวขึ้น และทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว และเนื้อตายเน่าที่แขนและขา

ภาวะเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบ (Angina Pectoris)

ภาวะเจ็บหน้าอกจากหลอดเลือดหัวใจตีบเกิดจากการที่ไขมันจับตัวสะสมเป็นคราบตะกรันหรือพลัค (Plaque) ในหลอดเลือดแดง หลอดเลือดหัวใจจึงตีบแคบลง และเลือดไหลเวียนไม่สะดวก อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก หายใจติดขัด และเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดได้ 

โรคลิ้นหัวใจ (Valve Heart Disease)

โรคลิ้นหัวใจเป็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท มีรูรั่ว หรือฉีกขาด ทำให้มีเลือดรั่วไหลย้อนกลับ หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้นในการสูบฉีดเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

หัวใจขาดเลือด (Heart Attack)

หัวใจขาดเลือดเกิดจากการที่หลอดเลือดหัวใจตีบแคบหรืออุดตันจากคราบพลัค ทำให้เลือดไหวเวียนไม่สะดวก กล้ามเนื้อหัวใจจึงเสื่อมสภาพและตายลง บางคนอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ แต่บางคนอาจหัวใจหยุดเต้นโดยไม่มีอาการอื่นเป็นสัญญาณมาก่อน และทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็วหากไม่ได้รับการช่วยชีวิต

การดูแลระบบไหลเวียนเลือดทำได้โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากพบอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหน้าอก หน้ามืด หายใจลำบาก แขนขาชาหรืออ่อนแรง ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ และหัวใจเต้นผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา