ฝ้าเป็นปัญหาผิวพรรณที่พบเจอได้บ่อย ทำให้หลายคนหมดความมั่นใจเมื่อเกิดฝ้าขึ้น โดยเฉพาะสาว ๆ ทั้งหลาย การป้องกันและทำความเข้าใจในวิธีรักษาฝ้าอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ผิวกลับมาสู่สภาพปกติได้ใกล้เคียงมากที่สุด
ฝ้าเกิดได้อย่างไร ?
ฝ้าเกิดจากการที่เซลล์ผิวหนังสร้างเม็ดสีหรือเมลานิน (Melanin) มากเกินปกติจนทำให้เกิดรอยฝ้าขึ้น เดิมทีกระบวนการสร้างเม็ดสีเกิดจากเซลล์ผิวหนังเมลาโนไซต์ (Melanocytes) โดยในเซลล์ชนิดนี้จะมีสารมากมายเป็นส่วนประกอบ หนึ่งในนั้นคือเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้มีคุณสมบัติเปลี่ยนสารในเซลล์ผิวหนังให้กลายเป็นเม็ดสี
แต่ด้วยสาเหตุและปัจจัยบางอย่างอาจกระตุ้นให้เม็ดสีถูกสร้างมากขึ้นจนอาจทำให้เกิดฝ้า ซึ่งความรุนแรงของการสร้างเม็ดสีอาจเกิดได้หลายระดับ ตั้งแต่ผิวหนังเกิดรอยสีน้ำตาลเข้มไปจนถึงเทา ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในการรักษาฝ้าที่ได้ผลจึงต้องใช้สารที่ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่อยู่ในกลไกของการผลิตเม็ดสี
แม้ว่าในปัจจุบันแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของฝ้าได้ แต่ก็ทราบว่ามีหลายปัจจัยที่อาจเพิ่มการสร้างเม็ดสีมากผิดปกติ เช่น
- แสงแดดและรังสียูวี เพราะส่งผลให้เซลล์ผิวหนังเมลาโนไซต์ทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เพิ่มขึ้นด้วย โดยตำแหน่งที่เกิดฝ้ามักเป็นบริเวณที่โดนแดด ได้แก่ โหนกแก้ม เหนือริมฝีปาก หน้าผาก หรือคาง
- อายุและเพศ ฝ้ามักเริ่มพบในคนที่มีอายุระหว่าง 30‒40 ปี และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
- สีผิว คนผิวเข้มมีความเสี่ยงที่เกิดฝ้าได้ง่ายกว่าคนผิวขาว
- ภาวะที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมน เช่น โรคไทรอยด์ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโพรเจสเทอโรนในร่างกายและการใช้ฮอร์โมนรูปแบบต่าง ๆ อย่างการรับประทานยาคุมกำเนิด การตั้งครรภ์ การรักษาด้วยฮอร์โมน
การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสม
ความรุนแรงของฝ้าเกิดขึ้นได้หลายระดับและเกิดได้จากหลายปัจจัย การดูแลผิวด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่เหมาะสมอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดฝ้าและอาจช่วยให้ฝ้าดูจางลง อย่างแรก ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ช่วยยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเม็ดสี ซึ่งทำให้เกิดฝ้า
อย่างที่สอง ควรเลือกผลิตภัณฑ์ดูแลผิวที่ไม่ทำร้ายผิวและไม่มีสารก่อการระคายเคือง อย่างที่สาม ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว อย่างกรดไฮยาลูรอน (Hyaluronic Acid) เพราะความชุ่มชื้นในชั้นผิวที่เหมาะสมอาจเสี่ยงต่อปัญหาผิวได้น้อยกว่าผิวที่ขาดความชุ่มชื้น
นอกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวแล้ว การใช้ครีมกันแดดก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาและลดเลือนรอยฝ้า เพราะรังสียูวีจากแดดเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาผิวนี้ ดังนั้น จึงควรทาครีมกันแดดที่มีเอสพีเอฟ (SPF) ที่เหมาะสมก่อนออกแดดเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์จากการใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวอาจแตกต่างกันไปในผู้ใช้แต่ละคน หากมีปัญหาฝ้าระดับรุนแรงหรือมีโรคผิวหนังชนิดอื่นร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
วิธีรักษาฝ้า
ฝ้ายังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ในบางกรณี เช่น สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือได้รับการรักษาด้วยการใช้ฮอร์โมน ฝ้าอาจจางหายได้เองเมื่อคลอดบุตรหรือหยุดการได้รับฮอร์โมนนั้น ๆ ซึ่งวิธีรักษาฝ้าให้ได้ประสิทธิภาพดีอาจต้องมีการใช้วิธีการรักษาฝ้าหลาย ๆ วิธีไปพร้อมกัน โดยขึ้นอยู่กับชนิดของฝ้าและความรุนแรงที่เป็นด้วย
วิธีรักษาฝ้าด้วยยา
เป็นวิธีการรักษาด้วยการใช้ยาในรูปแบบครีมที่มีส่วนผสมหลักเป็นสารฟอกสีตัวเดียวหรือหลายตัวเป็นส่วนประกอบ เพื่อช่วยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้น เช่น ยาทากลุ่มกรดวิตามินเอหรือเรตินอยด์ (Topical Retinoids/Retinoic Acid) ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) กรดโคจิก (Kojic Acid) คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) ซึ่งความเข้มข้นของสารในครีมทาฝ้าจะมีปริมาณแตกต่างกันออกไป ควบคู่ไปกับการเลี่ยงแสงแดดหรือหยุดการรับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่อาจกระตุ้นการเกิดฝ้าได้มากขึ้น
ข้อควรระวัง ในการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของสารฟอกขาวที่มีความเข้มข้นมากหรือใช้เป็นระยะเวลานานโดยไม่ปรึกษาแพทย์ อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคือง สีผิวบริเวณนั้นเข้มขึ้น หรือเกิดฝ้าถาวรได้ (Exogenous Ochronosis)
วิธีรักษาฝ้าด้วยเลเซอร์และการผลัดเซลล์ผิวหนัง
เป็นวิธีการรักษาที่ค่อนข้างรวดเร็วกว่าการทาครีมรักษาฝ้า ส่วนใหญ่จะใช้รักษาฝ้าเมื่อการใช้ยาทาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร แต่ประสิทธิภาพของการรักษายังขึ้นอยู่กับแต่ละคน
- การรักษาฝ้าโดยเลเซอร์ที่ช่วยปรับสภาพผิวบางส่วน (Fractional Resurfacing) เพื่อช่วยปรับสภาพหรือรักษาความผิดปกติของสีผิว เช่น เลเซอร์ระบบคิวสวิทซ์ (Q-switched Laser) หรือ (Fractional Erbium: YAG Laser) ยิงลงไปบริเวณที่เกิดฝ้าโดยตรงและทำลายเซลล์สร้างเม็ดสีด้วยความร้อน ถึงแม้ว่าจะเป็นวิธีที่ให้ผลรวดเร็วและจัดการกับสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอได้ เลเซอร์ก็ยังไม่ใช่ทางเลือกแรกของการรักษาฝ้าในทางการแพทย์ เพราะผลของการรักษาจะทำให้ฝ้าจางลงเพียงชั่วคราวเท่านั้นหรืออาจไม่ได้ผลในบางราย
- การผลัดเซลล์ผิวหนัง (Superficial Skin Peels) เป็นการใช้สารที่มีความเป็นกรดหรือสารฟอกขาว เช่น กรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) หรือกรดซาลิซิลิก (Salicylic Acid) ช่วยเร่งให้ผิวเกิดการผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอก คล้าย ๆ กับการใช้เลเซอร์ เพื่อช่วยให้สีผิวมีความสม่ำเสมอมากขึ้น แต่ผลข้างเคียงของวิธีนี้คืออาจเสี่ยงกับการทำให้สีผิวเข้มมากขึ้น นอกจากนี้ อาจใช้วิธีการกรอผิวด้วยผลึกแร่ เพื่อขัดและลอกผิวหนังชั้นกำพร้าด้านบนออก (Microdermabrasion)
วิธีป้องกันการเกิดฝ้าในชีวิตประจำวัน
การเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรงเป็นหนึ่งในการป้องกันฝ้าที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด เนื่องจากรังสีอัลตราไวโอเลตทั้ง ยูวีเอ (UVA) ยูวีบี (UVB) หรือแสงที่ตามองเห็นได้ (Visible Light) อาจกระตุ้นให้เกิดกระบวนการสร้างเม็ดสีเพิ่มมากขึ้นจนทำให้เกิดฝ้าได้
ควรทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านหรือก่อนไปยังสถานที่ที่ต้องเผชิญกับแสงแดดโดยตรง เพื่อป้องกันผิวหนังถูกทำร้ายจนคล้ำเสีย โดยเลือกครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟอย่างน้อย 30 ซึ่งตัวเลขค่าเอสพีเอฟนี้เองจะเป็นค่าที่บ่งบอกว่าครีมมีประสิทธิภาพในการปกป้องผิวจากแสงแดดได้ดีมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงมีสารป้องกันแดดแบบกายภาพเป็นส่วนประกอบ เช่น ไทเทเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide) หรือ ซิงค์ ออกไซด์ (Zinc Oxide) ซึ่งช่วยสะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลตที่มากระทบจากผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การเลือกใช้เครื่องสำอางหรือครีมบำรุงผิวสำหรับกลางวันก็ควรเลือกชนิดที่มีสารกันแดดเหล่านี้เป็นส่วนประกอบเช่นกัน เพื่อเป็นการป้องกันผิวจากแสงแดดไปในตัว
การทาครีมกันแดดหรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารกันแดดอาจไม่เพียงพอต่อการป้องกันแสงแดดที่มีความรุนแรง ในช่วงที่มีแดดแรงควรมีการปกป้องผิวอีกชั้นเมื่อต้องเจอกับแสงแดดแรงโดยตรงบริเวณใบหน้า เช่น การกางร่ม สวมหมวก หรือสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดผิวหนังได้อย่างมิดชิด