เด็กเครียดมักมีสาเหตุจากเหตุการณ์ไม่ดีที่เจอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว เพื่อน และการเรียน แม้ว่าความเครียดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่การปล่อยให้ความเครียดสะสมเป็นเวลานานอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย จิตใจ และการใช้ชีวิตของเด็กได้
ความเครียดของเด็กมักเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ เพราะคิดว่าเด็กเป็นวัยที่ไม่มีภาระหน้าที่และเรื่องที่ต้องตัดสินใจมากนัก แต่ความจริงแล้วเด็กมีความเครียดได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ หากพ่อแม่หมั่นสังเกตพฤติกรรมของลูก หาสาเหตุ และให้คำแนะนำในการจัดการกับความเครียดอย่างถูกต้อง จะช่วยให้ลูกก้าวข้ามปัญหาต่าง ๆ ได้
เด็กเครียดเกิดจากอะไรบ้าง
สาเหตุของความเครียดในเด็กอาจแตกต่างกันตามช่วงวัย โดยสาเหตุของความเครียดที่พบบ่อยมีดังนี้
ความเครียดในเด็กเล็ก
ความเครียดอาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ลูกยังเด็ก โดยความเครียดมักเกิดควบคู่กับความกลัว อย่างการแยกห่างจากพ่อแม่ หรือต้องอยู่กับญาติหรือพี่เลี้ยงเด็ก ซึ่งอาจทำให้เด็กรู้สึกกลัวการถูกทอดทิ้งให้อยู่กับคนแปลกหน้า หรือความกลัวจากการเห็นเหตุการณ์ที่กระทบความรู้สึก เช่น ภาพยนตร์สยองขวัญ ภัยธรรมชาติ และความรุนแรงจากคนในครอบครัวหรือคนอื่น อาจทำให้เด็กเครียด นอนไม่หลับ และส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาว
นอกจากนี้ เด็กเล็กอาจเกิดความเครียดจากการฝึกการขับถ่ายโดยใช้กระโถนหรือชักโครก หากพ่อแม่ฝึกขับถ่ายให้ลูกเร็วเกินไป หรือดุด่าเมื่อลูกขับถ่ายรดกางเกง อาจทำให้ลูกเครียดและเกิดการต่อต้านได้
อีกสาเหตุที่พบบ่อยคือการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการหย่าร้าง การแต่งงานใหม่ของพ่อแม่ ไปจนถึงการมีสมาชิกใหม่ในครอบครัว อย่างลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งเด็กมักกลัวการถูกแย่งความรัก และเครียดกับการปรับตัวเข้าหาสมาชิกใหม่
ความเครียดในเด็กโตและวัยรุ่น
ความเครียดในเด็กโตและวัยรุ่นอาจเกิดจากครอบครัวคล้ายกับเด็กเล็ก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในครอบครัว ปัญหาครอบครัว และการเงิน นอกจากนี้ เด็กโตอาจเกิดความเครียดจากปัญหาต่าง ๆ ดังนี้
- การเรียน เช่น เรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด และผลการเรียนไม่ดีเมื่อเทียบกับเพื่อน ซึ่งความเครียดจะเพิ่มขึ้นหากพ่อแม่ตั้งความหวังกับเรื่องเรียนของลูกสูงเกินไป หรือบังคับให้เรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ
- การพักผ่อนไม่เพียงพอจากการเรียนหนัก การบ้านยากหรือหลายวิชา และการทำกิจกรรมอื่น ๆ หลังเลิกเรียน
- การถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน (Bully) เช่น การทำร้ายร่างกาย การพูดล้อเลียน นินทา และการแบ่งแยกออกจากกลุ่ม
- ความสัมพันธ์กับเพื่อนและความรักในวัยเรียน อย่างการทะเลาะกับเพื่อนหรือแฟน
- ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคเอชไอวี (HIVs) และความบกพร่องทางการเรียนรู้ รวมถึงการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอาจทำให้เด็กขาดเรียน เรียนได้ไม่ดีเท่าเด็กทั่วไป ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อน หรือได้รับผลข้างเคียงจากการรักษา
- การรับข้อมูลข่าวสารมากเกินไป เพราะเด็กวัยนี้มักใช้โซเชียลมีเดียตลอดเวลาและยังไม่มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล การรับข้อมูลที่มากเกินไปและข้อมูลที่เป็นเท็จอาจทำให้เด็กเครียด สับสน และสร้างความตื่นตระหนกได้
- ความกังวลในรูปลักษณ์ของตัวเอง โดยพบบ่อยในวัยรุ่นที่เริ่มใส่ใจรูปร่างของตัวเอง ผลการศึกษาหนึ่งพบว่าวัยรุ่นกว่า 71% ที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ในเกณฑ์ปกติรู้สึกไม่พอใจในรูปร่างของตัวเอง และเด็กกว่า 58.3% ต้องการลดน้ำหนักเพิ่มเติมอีก
- การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิต เช่น การออกจากโรงเรียน การสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการสมัครงาน
- การถูกทารุณกรรมทางร่างกายและจิตใจ (Child Abuse) และการล่วงละเมิดทางเพศ
สังเกตอาการเด็กเครียด
ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกให้ผู้ใหญ่ทราบได้ดีพอ หรือเด็กโตที่อาจไม่กล้าเล่าปัญหาที่เจอให้ผู้ปกครองฟัง ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้พ่อแม่ไม่ทราบว่าเด็กเกิดความเครียด แต่พ่อแม่อาจสังเกตจากอาการที่บ่งบอกความเครียดของลูกได้ดังนี้
อาการทางกาย
ความเครียดทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น หายใจเร็ว หัวใจเต้นแรงขึ้น เลือดสูบฉีด ความดันโลหิตสูงขึ้น และกล้ามเนื้อในร่างกายหดเกร็ง เด็กจึงอาจมีอาการปวดศีรษะและปวดท้อง หากเกิดความเครียดสะสมอาจทำให้นอนไม่หลับหรือหลับยาก ฝันร้าย นอนกัดฟัน อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ รู้สึกวิตกกังวล และเด็กผู้หญิงอาจมีรอบเดือนผิดปกติ
อาการทางอารมณ์และพฤติกรรม
ในเด็กเล็กมักร้องไห้โยเย ร้องอาละวาด (Tantrums) และไม่ยอมให้พ่อแม่ห่างจากสายตา ส่วนเด็กโตอาจควบคุมอารมณ์ไม่ได้ โมโหร้าย ดื้อรั้น ก้าวร้าว ร้องไห้บ่อย วิตกกังวล และอาจเกิดความกลัวต่าง ๆ เช่น กลัวความมืด กลัวคนแปลกหน้า และกลัวการอยู่ลำพัง เป็นต้น
นอกจากนี้ เด็กอาจนอนน้อยลงหรือนอนมากกว่าปกติ เบื่ออาหารหรือกินอาหารเพื่อระบายความเครียดและสร้างความสบายใจ (Comfort Foods) หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัวและเพื่อน และไม่อยากไปโรงเรียน
รับมืออย่างไรเมื่อเด็กเครียด
หากพบว่าเด็กเครียด พ่อแม่อาจใช้วิธีเหล่านี้ช่วยแก้ปัญหาที่ทำให้เด็กเครียดได้อย่างตรงจุด
- หากลูกกลัวการแยกจากพ่อแม่ ควรสร้างความมั่นใจให้ลูกว่าพ่อแม่ไม่ได้ไปไหน บอกสถานที่ที่จะไปบอกเวลาที่จะกลับแน่ชัด และกลับมาให้ตรงเวลา และฝากลูกไว้กับญาติหรือพี่เลี้ยงที่เด็กคุ้นเคย
- หลีกเลี่ยงการให้ลูกดูภาพยนตร์หรือฟังเรื่องน่ากลัว โดยเฉพาะช่วงกลางคืน ซึ่งจะทำให้ลูกนอนไม่หลับ
- ฝึกให้ลูกขับถ่ายเมื่อถึงวัยที่เหมาะสมและลูกพร้อมจะฝึกขับถ่าย หากลูกไม่อยากฝึกขับถ่าย รู้สึกเครียดและกลัว ไม่ควรดุด่าและควรรอให้ลูกพร้อมก่อนจึงค่อยฝึกใหม่
- บอกให้ลูกรู้ว่าสามารถเล่าปัญหาให้พ่อแม่ฟังได้ทุกเรื่อง หลีกเลี่ยงการดุด่า และรับฟังอย่างมีเหตุผล
- เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ควรสอนวิธีจัดการกับความเครียดและการรับมือเมื่อเจอปัญหาที่เหมาะสม เพราะพ่อแม่ไม่สามารถช่วยลูกแก้ปัญหาได้ตลอด
- ไม่กดดันลูกจนเกินไป และสอนให้ลูกรักตัวเอง เพราะคุณค่าในตัวเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปร่างที่ต่างจากเพื่อนหรือผลการเรียนที่ทำคะแนนไม่ดีในบางวิชา
- สอนการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเหมาะสม รู้จักแบ่งเวลาและไม่ใช้เวลากับการเล่นโซเชียลมีเดียนานเกินไป รวมทั้งสอนให้อ่านข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้และพิจารณาความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับเสมอ
- หากลูกถูกทำร้ายร่างกายหรือเจอเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ พ่อแม่ควรรับฟังปัญหาด้วยความใจเย็น สร้างความมั่นใจว่าจะอยู่เคียงข้างและช่วยแก้ปัญหา และสอนให้ลูกรู้ว่าไม่ควรโทษตัวเอง หากปัญหาเกิดขึ้นที่โรงเรียน ควรพูดคุยกับครูที่ปรึกษาเพื่อจัดการกับเหตุการณ์ดังกล่าว และปรึกษาจิตแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
- ดูแลสุขภาพของเด็กและคนในครอบครัวให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้พร้อมรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้
พ่อแม่ควรสอนให้เด็กเข้าใจว่าความเครียดจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ หากรู้สึกเศร้า กังวล หรือไม่พอใจบ้างถือเป็นเรื่องปกติ และสามารถปรึกษาพ่อแม่ได้เสมอ อย่างไรก็ตาม หากเด็กเครียดเป็นเวลานานและพ่อแม่ไม่สามารถรับมือได้ ควรปรึกษากุมารแพทย์และจิตแพทย์เพื่อตรวจและรับการรักษาต่อไป