อาการแน่นหน้าอกคือความรู้สึกไม่สบายและอึดอัดบริเวณลำคอส่วนล่างจนถึงท้องส่วนบน มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันในช่วงสั้น ๆ ทำให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกกังวลใจ เนื่องจากอาการแน่นหน้าอกอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงปัญหาสุขภาพต่าง ๆ
หลายคนมักนึกถึงโรคหัวใจเมื่อมีอาการแน่นหน้าอก แต่ความจริงแล้วอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น อุบัติเหตุ ความเครียด โรคระบบทางเดินหายใจและระบบย่อยอาหาร และโรคอื่น ๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกร่วมกับอาการอื่น บทความนี้จึงชวนทุกคนมาสังเกตอาการแน่นหน้าอกที่เกิดจากสาเหตุต่าง ๆ และสัญญาณอันตรายที่ควรไปพบแพทย์กัน
สาเหตุของอาการแน่นหน้าอก
อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดจากโรคและความผิดปกติต่าง ๆ ดังนี้
1. โรคปอดและการติดเชื้อ
โรคปอดเป็นสาเหตุที่พบบ่อยเมื่อมีอาการแน่นหน้าอก โดยโรคที่อาจพบได้มีดังนี้
โรคหืด (Asthma)
โรคหืดหรือโรคหอบหืดเกิดจากการที่เยื่อบุและผนังหลอดลมตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ได้ไวต่อคนทั่วไป เช่น ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ สารเคมี ควันบุหรี่ รวมทั้งการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลอดลมของผู้ป่วยอักเสบ ตีบแคบ และบวม
ผู้ป่วยหอบหืดมักเกิดอาการแน่นหน้าอก ไอ หายใจลำบาก และหายใจมีเสียงหวีด โดยอาการอาจรุนแรงขึ้นเมื่อออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก หรืออยู่ในสภาพอากาศแห้งและเย็น
โควิด-19 (COVID-19)
โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ทำให้เกิดอาการไอ มีไข้ อ่อนเพลีย หากอาการรุนแรงอาจทำให้หายใจลำบาก เจ็บหรือแน่นหน้าอก และไม่สามารถพูดหรือทรงตัวได้ ซึ่งเป็นอาการที่ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)
โรคหลอดลมอักเสบเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุหลอดลม ทำให้เยื่อบุหลอดลมบวม และเกิดอาการไอมีเสมหะเรื้อรัง แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และหายใจมีเสียงหวีด โดยโรคหลอดลมอักเสบแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเฉียบพลันมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดและไข้หวัดใหญ่
- โรคหลอดลมอักเสบชนิดเรื้อรังอาจเกิดจากการสูบบุหรี่เป็นเวลานาน การสูดดมสารเคมี ฝุ่นควัน และมลภาวะ ซึ่งกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดลมอักเสบมักจะเป็นผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ โรคหืด และมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD)
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังคือโรคที่ปอดเกิดการอักเสบเรื้อรัง ทำให้เกิดการอุดกั้นของหลอดลม โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือการสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานาน ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังมักมีอาการหายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอก และไอเรื้อรัง
ปอดบวม (Pneumonia)
ปอดบวมเป็นโรคที่เกิดจากติดเชื้อที่ทำให้ถุงลมปอดและเนื้อเยื่อข้างเคียงเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก ไอ อ่อนเพลีย และอาการสับสนที่มักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี โดยสาเหตุของปอดบวมที่พบบ่อยคือ การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และการสำลัก
ภาวะปอดรั่ว (Pneumothorax)
ภาวะปอดรั่วเป็นภาวะที่มีลมเข้าไปอยู่ในช่องปอด โดยลมที่รั่วเข้าไปในปอดจะเบียดเนื้อปอด ทำให้ปอดขยายตัวไม่เต็มที่จนส่งผลต่อการหายใจ ผู้ป่วยมักเกิดอาการเจ็บแปลบหรือแน่นหน้าอก หายใจหอบถี่และหายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว และผิวหนังบางบริเวณเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ
ภาวะปอดรั่วมักเกิดจากการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงบริเวณอกหรือผนังปอด และอาจพบในผู้ที่สูบบุหรี่ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น การติดเชื้อรุนแรงที่ปอด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นเองในบางคนที่มีลักษณะผอมสูงมาก ๆ (Spontaneous Pneumothorax)
ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง
ภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary Hypertension) เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงที่นำเลือดจากหัวใจไปยังปอดเกิดการตีบแคบ ส่งผลให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดได้ยากและความดันในหลอดเลือดปอดสูงกว่าระดับปกติ ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดและอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายได้ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหรือแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และเป็นลม
2. โรคหัวใจ
โรคหัวใจอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกได้ โดยอาจเกิดจากโรคต่าง ๆ ดังนี้
โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease)
โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการสะสมของพลัค (Plaque) หรือคราบไขมันที่ผนังหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบหรืออุดตัน และเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ โดยมักพบในคนที่มีความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลสูง มีน้ำหนักเกิน และมีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น รับประทานอาหารไม่มีประโยชน์ ไม่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสูบบุหรี่
ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการในระยะแรก แต่เมื่อมีพลัคสะสมที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมากขึ้นอาจรู้สึกเจ็บหรือแน่นหน้าอกหลังหลังทำกิจกรรมที่ใช้แรงหรือเกิดความเครียด หายใจลำบาก และอาจมีอาการที่บ่งบอกภาวะหัวใจขาดเลือด (Heart Attack) เช่น แน่นหน้าอกและปวดบริเวณหัวไหล่หรือแขน อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ และคลื่นไส้
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) คือภาวะที่เกิดการอักเสบบริเวณเยื่อหุ้มหัวใจ ซึ่งเยื่อหุ้มหัวใจมีลักษณะเป็นถุงที่มี 2 ชั้น หากเกิดการอักเสบจะทำให้เกิดการเสียดสีระหว่างชั้นเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบ ปวดตื้อ แน่นหน้าอก และอาจลามไปบริเวณลำคอและหัวไหล่ด้านซ้าย โดยอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อนอนราบ ไอ หายใจเข้าลึก ๆ และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไอ ปวดขาหรือขาบวม และอ่อนเพลีย
หัวใจวาย
หัวใจวาย (Heart Failure) เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ ส่งผลให้เลือดและของเหลวคั่งในปอด ทำให้เกิดอาการหายใจลำบากหลังทำกิจกรรมหรือนอนราบ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว ขา เท้า และข้อเท้าบวม และเจ็บหน้าอกหากเกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด
3. โรคระบบทางเดินอาหาร
อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหารต่าง ๆ ดังนี้
กรดไหลย้อน
กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease) เกิดจากการที่กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหารหย่อนตัวผิดปกติ ทำให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ รับประทานอาหารมื้อเย็นปริมาณมากหรือรับประทานใกล้เวลาเข้านอน และการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ทำให้มีอาการแสบร้อนบริเวณอก เจ็บหรือแน่นหน้าอก เรอเปรี้ยว และกลืนลำบาก
แผลในกระเพาะอาหาร
แผลในกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer) จะเกิดบริเวณเยื่อบุของกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น โดยเกิดจากชั้นเมือก (Mucous Layer) ที่เคลือบทางเดินอาหารบางลง หรือมีกรดในทางเดินอาหารมากขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง แสบท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ และแสบร้อนบริเวณอก ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการปวดแบบบีบรัด หรือรู้สึกแน่นหน้าอกเหมือนมีน้ำหนักกดทับ
ไส้เลื่อนกระบังลม
ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal Hernia) เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อกระบังลมอ่อนแอ ทำให้อวัยวะในช่องท้องบางส่วนสามารถเคลื่อนจากตำแหน่งเดิมไปยังช่องอกผ่านช่องเปิดของกระบังลม ผู้ป่วยไส้เลื่อนกระบังลมอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่บางคนอาจมีอาการคล้ายกรดไหลย้อน เช่น แสบร้อนบริเวณอก เรอเปรี้ยว รวมถึงอาการอื่น เช่น เจ็บหน้าอก กลืนลำบาก ท้องอืด ปวดท้อง และอาเจียน
ความผิดปกติของหลอดอาหาร
ความผิดปกติของหลอดอาหารบางอย่างอาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอกได้ เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ส่งผลกระทบต่อการกลืน (Esophageal Contraction Disorder) ภาวะหลอดอาหารมีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น (Esophageal Hypersensitivity) และหลอดอาหารฉีกขาด (Esophageal Rupture)
4. ความเครียดและวิตกกังวล
หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าความเครียดและวิตกกังวลทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะตอบสนองด้วยกลไกต่อสู้หรือหนี (Fight-or-Flight) ทำให้เกิดอาการทางร่างกาย เช่น หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจถี่ ความดันโลหิตสูงขึ้น และบางครั้งอาจทำให้รู้สึกแน่นหน้าอก เนื่องจากหลอดเลือดและกล้ามเนื้อบริเวณอกหดตัว
5. ปัญหาของกล้ามเนื้อและกระดูก
ปัญหาที่เกี่ยวกล้ามเนื้อและกระดูกที่อาจทำให้เกิดอาการแน่นหน้าอก เช่น
- กล้ามเนื้อฉีก มักเกิดการฉีกขาดที่กล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างซี่โครง (Intercostal muscles) จากการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายอย่างหนัก หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้รู้สึกเจ็บหน้าอกขณะหายใจได้
- กระดูกซี่โครงหัก มักเกิดจากการประสบอุบัติเหตุ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงบริเวณอก
- ภาวะกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ (Costochondritis) มักเกิดบริเวณกระดูกอ่อนที่เชื่อมกระดูกซี่โครงส่วนบนและกระดูกอก ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่สบาย แน่นหน้าอก และอาการมักรุนแรงขึ้นเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ ขยับตัว หรือยืดกล้ามเนื้อ
อาการแน่นหน้าอกแบบใดที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์หากมีอาการแน่นหน้าอกเกิดขึ้น หรือหลังจากบรรเทาอาการเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น เนื่องจากอาการแน่นหน้าอกเกิดได้จากหลายสาเหตุ และบางครั้งอาการแน่นหน้าอกอาจไม่หายขาด การวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็วจะช่วยลดความกังวลของผู้ป่วย และรักษาอาการแน่นหน้าอกและอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแน่นหน้าอกเฉียบพลันหรือไม่ทราบสาเหตุ และมีอาการของหัวใจขาดเลือดร่วมด้วย เช่น อาการเจ็บหน้าอกลามไปที่ไหล่ แขน หลัง คอ และกราม มีเหงื่อออก เวียนศีรษะ และหายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดจากความเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติของปอด หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อ การประสบอุบัติเหตุ และความเครียด ซึ่งแต่ละสาเหตุอาจทำให้เกิดอาการและความรุนแรงที่ต่างกัน หากได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมจะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ