อาหารลดความดันโลหิต กินง่าย ๆ ได้สุขภาพ

นอกเหนือจากการใช้ยาและการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตแล้ว การเลือกรับประทานก็เป็นวิธีหนึ่งที่แพทย์แนะนำให้กับผู้ประสบปัญหาความดันโลหิตสูง ดังนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดอาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตจึงมีความสำคัญ แล้วอาหารประเภทใดที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบ้าง ? ศึกษาได้จากบทความนี้

ตามคำนิยามของสมาคมหัวใจของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Heart Association: AHA) ในปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) โรคความดันโลหิตสูงเป็นภาวะที่ตรวจพบความดันเลือดในหลอดเลือดแดงสูงกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โดยส่งผลให้หลอดเลือดแดงถูกทำลาย จนอาจนำไปสู่โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วย โดยโรคนี้ยังถูกขนานนามว่าเป็นฆาตกรเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการใด ๆ โดยเฉพาะในระยะแรก ทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและอาจทำให้เสียชีวิตอย่างไม่คาดคิดได้ 

อาหารลดความดันโลหิต

อาหารลดความดันโลหิตสูง

แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงดูแลสุขภาพโดยการปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารเสียใหม่ หันมารับประทานอาหารแดช (DASH Diet) หรืออาหารที่ช่วยให้ควบคุมความดันโลหิต ด้วยการลดปริมาณเกลือโซเดียม จากคำแนะนำของสมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา คนทั่วไปไม่ควรได้รับโซเดียมเกินวันละ 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือแกงประมาณ 1 ช้อนชา แต่สำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไม่ควรได้รับเกินวันละ 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาหารแดชจะแนะนำให้ผู้ป่วยลดการบริโภคเกลือโซเดียมในแต่ละมื้อ และรับประทานอาหารที่หลากหลายซึ่งอุดมไปด้วยสารโภชนาการสำคัญ อันมีสรรพคุณในการลดความดันโลหิต เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม แมงกานีส เป็นต้น 

โดยตัวอย่างอาหารลดความดันโลหิตสูง ได้แก่

ผักใบเขียว ผักใบเขียวมักมีโพแทสเซียมซึ่งเป็นสารอาหารที่ช่วยเไตขับโซเดียมออกมาผ่านทางปัสสาวะ และปรับปริมาณโซเดียมภายในร่างกายให้เกิดความสมดุล ทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลงได้ โดยผักใบเขียวที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม เช่น ผักกาด คะน้า ปวยเล้ง เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคไตรุนแรงควรระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากร่างกายได้รับโพแทสเซียมในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการก่อนเสมอ  

ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ เป็นต้น โดยเฉพาะบลูเบอร์รี่นั้นมีสารอาหารที่สำคัญอย่างสารฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า การบริโภคผลไม้ดังกล่าวอาจช่วยป้องกันความดันโลหิตสูง และลดระดับความดันโลหิตลง  

นมพร่องมันเนยและโยเกิร์ต เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดี และมีไขมันต่ำ โดยสมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริการะบุไว้ว่า ผู้หญิงที่รับประทานโยเกิร์ต 5 หน่วยบริโภคขึ้นไปต่อสัปดาห์ อาจไปลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ถึงร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม ควรตรวจสอบปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปบนฉลากบนบรรจุภัณฑ์ทุกครั้ง เนื่องจากการเติมน้ำตาลในปริมาณมากอาจกลายเป็นโทษต่อร่างกายแทน

เมล็ดพืชและถั่ว เมล็ดพืชอย่างเมล็ดทานตะวันหรือเมล็ดฟักทองแบบไม่โรยเกลือเต็มไปด้วยโพแทสเซียม แมกนีเซียม ใยอาหาร รวมถึงสารพฤกษเคมีต่าง ๆ ซึ่งช่วยลดความดันโลหิตได้ นอกจากนั้น ถั่วพิสตาชิโอยังถือเป็นอีกหนึ่งอาหารที่มีสรรพคุณในด้านนี้ด้วย    

ปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง ปลาแซลมอนและปลาแมคเคอเรลอุดมไปด้วยโปรตีนและกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งอาจช่วยลดความดันโลหิต และลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด 

ดาร์ค ช็อกโกแลต เป็นช็อกโกแลตที่ประกอบไปด้วยโกโก้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และมีน้ำตาลน้อยกว่าปกติ จากการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้บริโภคดาร์ค ช็อกโกแลตมีระดับความดันโลหิตตัวบนลดลงโดยเฉลี่ยถึง 3 มิลลิเมตรปรอท และระดับความดันโลหิตตัวล่างลดลงโดยเฉลี่ยถึง 2 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้น ดาร์ค ช็อกโกแลตจึงอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยลดระดับความดันโลหิตลงได้ โดยควรบริโภคไม่เกิน 100 กรัมต่อวัน    

น้ำมันมะกอก เป็นไขมันดีที่อุดมไปด้วยสารโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตลดลง อย่างไรก็ตาม แม้น้ำมันมะกอกจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูง แต่หากบริโภคมากจนเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้  

กระเทียม นับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน โดยมีการค้นคว้าสรรพคุณในการลดความดันโลหิตของกระเทียมแล้วผลปรากฏว่า สมุนไพรดังกล่าวเพิ่มปริมาณสารไนตริกออกไซด์ในร่างกาย ซึ่งจะไปช่วยกระตุ้นหลอดเลือดให้เกิดการขยายตัว อาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง 

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงไม่ควรมองข้ามอาหารที่แนะนำเหล่านี้ เพราะนอกจากจะหาซื้อได้ไม่ยากแล้ว ยังให้ผลดีต่อสุขภาพด้วย โดยควรวางแผนการรับประทานให้เหมาะสมและปลอดภัยตามคำแนะนำจากแพทย์หรือนักโภชนาการ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อสุขภาพในภายหลัง นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง อย่างผู้สูงอายุ ผู้สูบบุหรี่ และผู้ที่น้ำหนักตัวมาก ก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการการตรวจวัดความดันโลหิต และอาจต้องปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารเพื่อลดความดันโลหิตเช่นกัน