เบ่งอุจจาระไม่ออกอาจเป็นอาการที่ทำให้ใครหลายคนรู้สึกกังวลและไม่สบายตัวได้ โดยอาการเบ่งอุจจาระไม่ออกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ท้องผูก ภาวะอุจจาระอัดแน่น อย่างไรก็ตาม เบ่งอุจจาระไม่ออกสามารถรักษาได้ไม่ยาก และสามารถรักษาได้ด้วยตนเองหลายวิธี
เมื่อรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ระบบย่อยอาหารจะดูดซึมสารอาหารและน้ำเข้าสู่ร่างกาย โดยกากของเสียที่เหลือจากการย่อยอาหารจะถูกขับออกจากนอกร่างกายในรูปของอุจจาระ ซึ่งการขับถ่ายเป็นประจำอาจบ่งบอกถึงการมีสุขภาพที่ดี แต่ถ้าหากการขับถ่ายผิดปกติหรือเบ่งอุจจาระไม่ออก อาการนี้อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรเพิกเฉย
สาเหตุที่ทำให้เบ่งอุจจาระไม่ออก
เบ่งอุจจาระไม่ออกอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น
1. ท้องผูก
ท้องผูกคือการที่ขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมีอาการเบ่งอุจจาระไม่ออก รวมถึงขับถ่ายยาก โดยอาการท้องผูกอาจเกิดขึ้นเมื่ออุจจาระเคลื่อนที่ผ่านลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ จึงอาจทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดน้ำจากอุจจาระเพิ่มขึ้น และส่งผลให้อุจจาระแห้ง แข็ง และขับออกจากร่างกายยากยิ่งขึ้น
อาการเบ่งอุจจาระไม่ออกเนื่องจากท้องผูกอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การดื่มน้ำน้อยเกินไป การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ต่ำ การไม่ออกกำลังกายหรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (Sedentary lifestyle)
2. ภาวะอุจจาระอัดแน่น
ภาวะอุจจาระอัดแน่น คือภาวะที่อุจจาระมีขนาดใหญ่ แข็ง และแห้ง อัดแน่นอยู่บริเวณปลายลำไส้ใหญ่ที่ติดกับทวารหนักและกั้นไม่ให้อุจจาระใหม่ถูกขับออก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เบ่งอุจจาระไม่ออกได้ โดยภาวะอุจจาระอัดแน่นอาจเกิดขึ้นจากอาการท้องผูกเป็นเวลานาน และมักพบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย
โดยภาวะอุจจาระอัดแน่นอาจสังเกตได้จากอาการต่าง ๆ เช่น เบ่งอุจจาระไม่ออก ท้องป่อง ปวดท้องหรือปวดหลัง อุจจาระเล็ดเมื่อไอหรือหัวเราะ ปัสสาวะน้อยลง มีไข้ หากมีอาการท้องผูกร่วมกับอาการดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะภาวะอุจจาระอัดแน่นอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
3. โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
โรคลำไส้แปรปรวนเป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องอืด เบ่งอุจจาะไม่ออก ท้องเสีย ท้องผูก หรือมีอาการท้องเสียและท้องผูกสลับกัน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลำไส้แปรปรวนนั้นยังไม่ชัดเจน แต่อาจเกิดขึ้นเมื่อการทำงานของลำไส้ผิดปกติ หรือลำไส้ไวต่อสิ่งเร้า เช่น ความเครียด อาหารบางชนิด เช่น นม น้ำอัดลม อาหารมัน อาหารรสเผ็ด
4. การตั้งครรภ์
ในระหว่างการตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสูง โดยฮอร์โมนนี้จะทำให้กล้ามเนื้อภายในร่างกายคลายตัว ซึ่งอาจส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณลำไส้บีบตัวช้าลง และทำให้อุจจาระเคลื่อนที่ช้าลงเช่นกัน การที่อุจจาระเคลื่อนที่ช้าอาจทำให้ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ท้องผูก และเบ่งอุจจาระไม่ออกได้
5. โรคลำไส้อุดตัน
เบ่งอุจจาระไม่ออกอาจเป็นสัญญาณของโรคลำไส้อุดตัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่เกิดการอุดตัน และทำให้อาหาร ของเหลว รวมถึงอุจจาระไม่สามารถเคลื่อนที่ผ่านได้ โดยสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น ไส้เลื่อน การมีพังผืดในลำไส้ หรือโรคมะเร็งลำไส้
โดยผู้ที่เป็นโรคลำไส้อุดตันอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เบื่ออาหาร ท้องผูก ผายลมและเบ่งอุจจาระไม่ออก อาเจียน บวมบริเวณหน้าท้อง
วิธีรักษาอาการเบ่งอุจจาระไม่ออกด้วยตนเอง
อาการเบ่งอุจจาระไม่ออกเป็นอาการที่สามารถรับมือได้ด้วยตนเอง โดยอาจใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยในการขับถ่าย เช่น
- ดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยให้อุจจาระนิ่มและขับออกง่ายขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือใยอาหารสูง เช่น ผลไม้ ผัก ถั่ว ธัญพืช ข้าว โดยไฟเบอร์จะช่วยให้อุจจาระนิ่ม และสามารถขับถ่ายได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่ง โยคะ เนื่องจากการออกกำลังกายจะช่วยให้ลำไส้มีการบีบและคลายตัว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายได้
- เปลี่ยนท่านั่งขับถ่าย โดยวางเท้าบนเก้าอี้ขนาดเล็กขณะนั่งชักโครกเพื่อยกขาให้สูงขึ้น จากนั้นโน้มตัวไปด้านหน้าให้ข้อศอกอยู่บนหัวเข่า ยืดหลังให้ตรงและไม่ต้องเกร็งตัว โดยท่านี้จะทำให้ขับถ่ายง่ายขึ้น ทั้งนี้ ไม่ควรนั่งนานเกิน 10 นาที เพราะอาจเสี่ยงต่อการเป็นริดสีดวงได้
- หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วมือสวนทวารเพื่อกระตุ้นให้ขับถ่าย เพราะอาจทำให้ภายในทวารหนักและรูทวารได้รับบาดเจ็บ ฉีกขาด หรือมีเลือดออกได้
- ไม่ควรฝืนเบ่งอุจจาระแรงเกินไป เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ริดสีดวง ปวดที่ทวารหนัก แผลปริที่ขอบทวารหนัก เลือดไหลออกจากทวารหนัก
- ใช้ยาระบาย โดยยาระบายอาจช่วยให้อุจจาระนิ่มและเคลื่อนที่ได้ง่ายขึ้น จึงอาจช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายได้
เบ่งอุจจาระไม่ออกสามารถรับมือได้ด้วยตนเองเบื้องต้น แต่ถ้าหากอาการเบ่งอุจจาระไม่ออกยังคงอยู่นานเกิน 3 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ อุจจาระมีเลือดปน สีหรือลักษณะของอุจจาระเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม