ทารกไม่ถ่ายหรืออาการท้องผูกในทารกเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และเมื่อลูกไม่ถ่ายหรือถ่ายยากก็มักจะทำให้เด็กไม่สบายตัว ร้องไห้งอแง และหากปล่อยไว้อาจส่งผลต่อสุขภาพทารกในด้านอื่นตามมาได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรทราบวิธีสังเกตอาการในเบื้องต้นและหาวิธีรับมือกับปัญหาทารกไม่ถ่ายอย่างถูกต้อง
เมื่อทารกไม่ถ่ายสามารถแก้ไขได้หลายวิธี ทั้งการใช้วิธีธรรมชาติอย่างการปรับเปลี่ยนอาหาร การเพิ่มหรือลดอาหารบางประเภท เทคนิคบรรเทาอาการต่าง ๆ ไปจนถึงการใช้ยา ในบทความนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลและนำวิธีรับมือเมื่อทารกไม่ถ่ายไปปรับใช้ได้
ทารกไม่ถ่ายนานแค่ไหนถึงเรียกว่าท้องผูก
การประเมินอาการท้องผูกในทารกแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป โดยอาการท้องผูกในทารกไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าทารกถ่ายหรือไม่ถ่าย หรือถ่ายบ่อยแค่ไหนเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องสังเกตพฤติกรรมการขับถ่ายของเจ้าตัวน้อยด้วย ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามช่วงวัย
- ทารกที่กินนมแม่ ควรถ่ายอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์
- ทารกที่ดื่มนมชงทารกถ่ายทุก 4–5 วัน
โดยทุกครั้งที่ขับถ่าย ทารกควรขับถ่ายได้ง่าย ไม่งอแง อุจจาระนิ่ม ไม่แข็งและแห้ง หากทารกถ่ายตรงตามเวลาที่เหมาะสม แต่อุจจาระแข็ง ขับถ่ายยาก หรือทารกไม่ถ่ายนานกว่าช่วงวันดังกล่าว ทารกอาจกำลังเผชิญกับอาการท้องผูกอยู่
6 เทคนิคแก้ปัญหาทารกไม่ถ่าย
วิธีต่อไปนี้เป็นวิธีง่าย ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาใช้เมื่อลูกท้องผูกหรือถ่ายไม่ออกได้
1. เปลี่ยนนมที่ทารกกิน
หากทารกไม่ถ่ายหรือถ่ายยากเป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มจากการเปลี่ยนสูตรนมหรือเปลี่ยนยี่ห้อนมผงที่ชงให้ทารก และติดตามพฤติกรรมการขับถ่ายหลังจากนั้นว่าดีขึ้นหรือไม่
เพราะนมผงแต่ละสูตรแต่ละยี่ห้อมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน ซึ่งทารกบางคนอาจไวต่อส่วนผสมบางอย่างในนม ทำให้ท้องผูกและไม่ถ่าย ในกรณีที่ลูกยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเลือกนมเด็กให้เหมาะสมกับช่วงวัยและปลอดภัยสำหรับทารก
ส่วนทารกที่ยังกินนมแม่อยู่ คุณแม่สามารถให้ทารกกินต่อไปได้ โดยตัวคุณแม่เองอาจปรับเปลี่ยนชนิดหรือปริมาณอาหารที่ตนเองกิน เพราะสารบางอย่างอาจส่งผ่านทางน้ำนมและทำให้ทารกไม่ถ่าย หากไม่แน่ใจหรือลองเปลี่ยนอาหารแล้วไม่ได้ผล ควรปรึกษาแพทย์
2. ป้องกันลูกน้อยขาดน้ำ
น้ำและของเหลวภายในร่างกายเป็นส่วนสำคัญของระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่การย่อย ดูดซึมสารอาหาร ไปจนถึงการขับถ่าย หากทารกได้รับของเหลวอย่างเพียงพอต่อวันจะช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ อุจจาระเคลื่อนตัวได้ดี อุจจาระนิ่ม และขับถ่ายง่าย
แต่หากลูกได้รับของเหลวไม่เพียงพออย่างกินนมน้อยหรือกินน้ำน้อย อาจทำให้ร่างกายทารกขาดน้ำจนส่งผลให้ทารกไม่ถ่าย ขับถ่ายยาก ท้องผูก และยังกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นด้วย
คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจปริมาณนมที่ให้ทารกในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อให้ลูกน้อยได้รับน้ำและนมอย่างเพียงพอ ซึ่งช่วยลดความผิดปกติของร่างกาย ส่วนทารกอายุ 6 เดือนขึ้นไป อาจเพิ่มน้ำสะอาดในปริมาณเล็กน้อย ไม่เกิน 1–2 ออนซ์ หรือ 60 มิลลิลิตรต่อวันหากคาดว่าทารกได้รับน้ำไม่เพียงพอจนเป็นเหตุให้ท้องผูก
3. เพิ่มอาหารบด
เมื่อทารกโตถึงช่วงวัยที่เริ่มกินอาหารบดร่วมกับนมได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเพิ่มอาหารบดที่ทำมาจากอาหารที่มีใยอาหารและปลอดภัยต่อทารก เช่น กล้วย ลูกแพร ลูกพรุน พีช แอปเปิ้ลปอกเปลือก ข้าวโอ๊ต และควินัว เพราะใยอาหารจะช่วยให้อุจจาระจับตัวเป็นก่อนและขับออกมาได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ อาจใช้วิธีเพิ่มน้ำผลไม้จากผลไม้สด อย่างน้ำแอปเปิ้ล น้ำลูกพรุน หรือน้ำลูกแพรเติมลงไปในนมเล็กน้อยแล้วให้ทารกดื่มก็อาจช่วยลดปัญหาทารกไม่ถ่ายได้ เพราะนอกจากใยอาหารแล้ว ผักผลไม้ยังอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารมากมายที่จำเป็นต่อสุขภาพของทารก
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับช่วงวัยที่เหมาะสมที่ทารกสามารถกินอาหารประเภทอื่นนอกเหนือจากนม เพื่อความปลอดภัย
4. แช่น้ำอุ่นและนวดท้องให้ทารก
การอาบน้ำอุ่นหรือแช่น้ำอุ่นอาจช่วยบรรเทาอาการทารกไม่ถ่ายได้ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำอุ่นจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของทารก ทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น และการนวดบริเวณท้องของทารกเบา ๆ จะกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ ทำให้อุจจาระเคลื่อนตัวได้มากขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถนวดท้องของทารกได้วันละหลายครั้งเพื่อกระตุ้นการขับถ่าย
5. ช่วยทารกออกกำลังกาย
การเคลื่อนไหวที่มากขึ้นจะส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่จึงควรเล่นกับทารก โดยให้เขาคลาน เดิน หรือเคลื่อนไหวมากขึ้น
โดยท่าปั่นจักรยานอากาศ (Air Cycling) เป็นท่าออกกำลังกายที่อาจช่วยบรรเทาอาการทารกไม่ถ่ายได้ เพียงแค่ให้ทารกนอนหงายราบไปกับพื้น แล้วจับขาของทารกชูขึ้นด้านบน และเคลื่อนไหวคล้ายท่าปั่นจักรยานเพื่อกระตุ้นลำไส้ นอกจากนี้ การให้ทารกนอนราบแล้วยกเขาทารกเข้าหาหน้าอกอาจช่วยให้ทารกขับอุจจาระออกมาง่ายมากขึ้นด้วย
6. ไปพบแพทย์
วิธีข้างต้นเป็นการบรรเทาอาการเบื้องต้นที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เมื่อทารกไม่ถ่าย แต่หากลองทำแล้วไม่ได้ผล หรือทารกอยู่ในช่วงวัยที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอาหารหรือมีข้อจำกัดอื่น ๆ ควรพาทารกไปพบแพทย์ แต่ไม่ควรหายา อาหารเสริม หรือสมุนไพรให้ทารกกินเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการทารกไม่ถ่าย เพราะอาจเป็นอันตรายได้
หากแพทย์วินิจฉัยทารกที่อายุมากกว่า 6 เดือนว่ามีอาการท้องผูก แพทย์อาจสั่งจ่ายยาระบาย และยาสวนก้นสำหรับทารกในบางกรณี ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรศึกษาวิธีใช้ที่ถูกต้องและทำตามคำแนะนำของแพทย์ หากใช้ยาร่วมกับการดูแลตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการรุนแรงขึ้น หรือเกิดอาการอื่น ๆ ควรพาทารกไปพบแพทย์อีกครั้ง
สำหรับทารกที่อายุน้อยหรือมีข้อจำกัด แพทย์อาจพิจารณาการรักษาอื่นที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถขอคำแนะนำวิธีป้องกันและดูแลไม่ให้ทารกท้องผูกจากแพทย์เพิ่มเติมได้
ปัญหาทารกไม่ถ่ายมักหายได้เอง คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกด้วยวิธีที่เหมาะสมหรือตามคำแนะนำแพทย์ หากทารกไม่ถ่ายเป็นเวลานาน 5–10 วัน อุจจาระปนเลือดหรืออุจจาระสีดำ งอแงมากกว่าปกติ ไม่ยอมกินนม ท้องบวม อาเจียน เป็นไข้ หรือดูซึมกว่าปกติ ควรพาไปพบแพทย์ทันที