ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism, Overactive Thyroid) เป็นภาวะเรื้อรังที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายเสียสมดุลและเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น น้ำหนักลด หงุดหงิดง่าย มีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย และหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น
คนรอบตัวและตัวผู้ป่วยด้วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษอาจพอทราบกันว่า อาการจากภาวะนี้มักรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิต ทั้งเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย และการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยบรรเทาอาการ หากทำร่วมกันอย่างสม่ำเสมออาจช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตเป็นปกติมากขึ้น
ทำไมผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ควรเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ ?
ฮอร์โมนไทรอกซีน (Thyroxine) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์ โดยฮอร์โมนชนิดนี้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ ระบบเผาผลาญพลังงาน และเสริมการทำงานของระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินก็อาจส่งผลให้ระบบเหล่านี้ทำงานผิดเพี้ยน ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น ท้องเสีย น้ำหนักลด ขี้ร้อน รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิดง่าย วิตกกังวล หัวใจเต้นรัว มือสั่น หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นต้น
อาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษจึงส่งผลให้ผู้ป่วยมักประสบกับปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยอาจกระทบทั้งในด้านการทำงาน การเรียน หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ รวมไปถึงรูสึกไม่มีความสุขและคุณภาพชีวิตที่แย่ลง จากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้ดีต่อสุขภาพอาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ได้ ด้วยเหตุนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างอาจเป็นทางเลือกที่ควรทำอย่างขาดไม่ได้ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อไทรอยด์เป็นพิษ ควรใช้ชีวิตอย่างไร ?
ผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องดูแลผู้ป่วยจากภาวะนี้อาจลองนำวิธีต่อไปนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
1. เลือกอาหารเพื่อปรับสมดุลไทรอยด์
ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษสามารถรับประทานอาหารแทบไม่ต่างจากคนทั่วไป เพียงแต่มีอาหารหรือสารอาหารบางอย่างที่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ เช่น
- ธาตุเหล็ก เป็นแร่ธาตุที่ช่วยปรับสมดุลการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้เป็นปกติ โดยอาหารที่มีธาตุเหล็กสามารถหาได้จาก ตับ เนื้อ ปลา เต้าหู้ ข้าวกล้อง ถั่ว ธัญพืช พืชผักใบเขียวอย่างคะน้าและผักสลัด
- เซเลเนียม (Selenium) มีคุณสมบัติต้านการอักเสบ บรรเทาการอักเสบของต่อมไทรอยด์ และช่วยลดความเสียหายของเซลล์ภายในร่างกาย โดยเซเลเนียมพบได้ในข้าว ผักใบเขียว เห็ด เนื้อสัตว์ และถั่ว
- สังกะสี (Zinc) ช่วยเสริมการทำงานของระบบร่างกายหลายระบบโดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกัน เราสามารถรับประทานสังกะสีเพิ่มได้จากเนื้อวัว เห็ด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดฟักทอง หรือถั่วลูกไก่
- แคลเซียมและวิตามินดี ช่วยป้องกันการสูญเสียของมวลกระดูกภายในร่างกายที่อาจเกิดจากการเผาผลาญที่มากกว่าปกติ โดยแคลเซียมหาได้จากผักปวยเล้ง ถั่วขาว ผักเคล กระเจี๊ยบเขียว นม ส่วนวิตามินดีเป็นวิตามินที่ร่างกายสังเคราะห์ได้เองเมื่อได้รับแสงแดดในเวลาที่เหมาะสม และพบได้ในอาหารประเภทปลาทะเล เห็ด และตับ
- ไขมันดีหรือกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fat) ช่วยให้ต่อมไทรอยด์ทำงานได้อย่างสมดุลและเป็นปกติ ซึ่งไขมันดีหรือกรดไขมันไม่อิ่มตัวหาได้จากปลาทะเล อะโวคาโด น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย ถั่วเปลือกแข็งและถั่วเมล็ดแห้งที่ไม่ใส่เกลือปรุงรส
การได้รับสารอาหารเหล่านี้อาจช่วยให้ต่อมไทรอยด์และฮอร์โมนไทรอกซินอยู่ในสภาวะที่สมดุล จึงอาจช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่ควรรับประทานเป็นประจำและในปริมาณที่เหมาะสม
2. งดอาหารที่กระตุ้นอาการไทรอยด์เป็นพิษ
อาหารบางชนิดอาจกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์และส่งผลให้อาการรุนแรงขึ้น จึงควรงดหรือลดปริมาณของอาหารต่อไปนี้
- อาหารที่มีไอโอดีน อย่างเกลือผสมไอโอดีน ถั่วเปลือกแข็งและถั่วเมล็ดแห้งที่ปรุงรสด้วยเกลือ ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม อาหารทะเล สาหร่าย และอาหารรสเค็มชนิดอื่น ๆ
- กลูเตน เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในอาหารประเภทข้าวและธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวไรย์ มอลต์ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากอาหารเหล่านี้ อย่างขนมปังและเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งการได้รับกลูเตนอาจกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอักเสบได้
- ไนเตรต สารชนิดนี้ช่วยในการดูดซึมไอโอดีน จึงอาจทำให้อาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษรุนแรงมากขึ้น ไนเตรตพบได้ในผักกาดหอม ผักชีลาว ผักคึ่นช่าย กะหล่ำปลี หัวไชเท้า แครอท และพาร์สลีย์
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เพราะอาจกระตุ้นอาการทางระบบประสาทและหัวใจ อย่างภาวะวิตกกังวล ความเครียด และภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
3. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ส่งผลดีต่อร่างกายในแทบทุกสภาวะ สำหรับภาวะไทรอยด์เป็นพิษก็เช่นกัน โดยการออกกำลังกายอาจช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น กระตุ้นการดูดซึมแคลเซียมและแร่ธาตุที่อาจช่วยเพิ่มมวลกระดูกภายในร่างกาย ช่วยควบคุมความอยากอาหารและควบคุมน้ำหนักของร่างกายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย และช่วยให้ระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยภาวะไทรอยด์เป็นพิษควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หนักจนเกินไป เช่น การวิ่ง การออกกำลังกายแบบ HIIT (High Intensity Interval Training) หรือการออกกำลังกายประเภทอื่น ๆ ที่ต้องใช้พลังงานมาก
4. ทำกิจกรรมลดความเครียด
ระดับฮอร์โมนไทรอกซินที่สูงเกินอาจกระตุ้นการทำงานของสมองและระบบประสาท ทำให้เกิดความรู้สึกเครียด วิตกกังวล และหงุดหงิดง่าย โดยอาการเหล่านี้อาจสร้างความรู้สึกทางลบต่อผู้ป่วยและคนรอบตัวได้ แต่ในเบื้องต้นอาจบรรเทาและควบคุมอาการเหล่านี้ด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด อย่างการออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ และการทำงานอดิเรก ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยควรทำความเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นก็อาจช่วยลดความรู้สึกในทางลบที่มีต่อตนเองได้อีกทาง
นอกจากนี้ เพื่อผลการรักษาและการใช้ชีวิตที่เป็นปกติ ผู้ป่วยควรใช้ยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหลัก เพราะบางรายอาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในรูปแบบเหล่านี้ได้ อย่างไรก็ตาม หากลองทำตามวิธีเหล่านี้ แล้วเกิดอาการอื่น ๆ ตามมา ควรไปพบแพทย์ทันที