ความหมาย ไอ (Cough)
ไอ เป็นกลไกของร่างกายที่มีการตอบสนองและกำจัดสิ่งที่กีดขวางระบบทางเดินหายใจ เช่น เสมหะ หรือสิ่งอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในลำคอ อย่างฝุ่น ควันบุหรี่ ขนสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมนั้นเข้าสู่ปอดได้ โดยการไออาจแบ่งได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ ไอแห้ง กับไอแบบมีเสมหะ โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับโรคและอาการที่เป็นสาเหตุทำให้ไอ
โดยทั่วไปการไอมักไม่ได้เป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง อาการไอมักจะดีขึ้นและหายไปภายในเวลาไม่เกิน 2–3 สัปดาห์ แต่หากมีอาการสำคัญอื่นเกิดขึ้นร่วมกับการไอ ไออย่างรุนแรง ไอจนเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้ออยู่ในลำคอ ไอเป็นเลือด ไออย่างเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วไม่ทุเลาลงเกินกว่า 3 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาต่อไป
อาการของการไอ
อาการไอแบ่งได้ 2 แบบ ดังนี้
- ไอแห้ง เป็นอาการไอจากอาการคันและระคายเคืองภายในลำคอ โดยไม่มีเสมหะหรือมูกหนาเกิดขึ้น
- ไอแบบมีเสมหะ เป็นอาการไอพร้อมกับมีเสมหะภายในลำคอ ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยกำจัดสารหรือสิ่งสกปรกที่ติดค้างภายในลำคอ
สาเหตุของการไอ
อาการไออาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้
การรับสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองหรือสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย
สารก่อความระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน มลภาวะในอากาศ ขนสัตว์ เชื้อรา ละอองเกสร ไอระเหยจากสี น้ำหอม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีกลิ่นฟุ้ง การสูบบุหรี่ หรือการหายใจสูดเอาควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบเข้าไปในปอด
การใช้ยาบางชนิด
ยารักษาบางโรคบางอาการอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นการไอได้ เช่น กลุ่มยาต้านเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) เป็นยาลดความดันโลหิตและช่วยการทำงานของหัวใจ ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและภาวะอาการที่เกี่ยวกับหัวใจ
และกลุ่มยาปิดกั้นเบต้า (Beta Blockers) ที่ทำให้ชีพจรเต้นช้าลงทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ใช้รักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และมีผลข้างเคียงทำให้หลอดลมตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดอาการไอได้
หากอาการไอเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้ยาเหล่านี้ อาการจะหมดไปด้วยเมื่อผู้ป่วยหยุดการใช้ยา
โรคและภาวะอาการป่วย
ปัญหาสุขภาพสามารถทำให้เกิดการไออย่างเฉียบพลัน กึ่งเฉียบพลัน หรืออย่างเรื้อรังได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความรุนแรงของโรค
โรคที่มักเป็นสาเหตุของอาการไออย่างเฉียบพลัน คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม หากไม่มีอาการป่วยหรือภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง จะฟื้นตัวและหายจากอาการไอภายในเวลาประมาณ 3 สัปดาห์
ส่วนอาการไอที่เกิดขึ้นกึ่งเฉียบพลัน คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกัน แต่ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวช้าหรือมีการติดเชื้อที่รุนแรงกว่าอาการไอแบบเฉียบพลัน เช่น โรคหวัด ซึ่งอาการจะทุเลาลงและฟื้นตัวภายใน 3-8 สัปดาห์
และอาการไอเรื้อรังที่มีอาการยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 8 สัปดาห์ เกิดจากการอักเสบและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง กรดไหลย้อน มะเร็งปอด หรือน้ำท่วมปอดอันเนื่องมาจากหัวใจล้มเหลว
การวินิจฉัยการไอ
โดยทั่วไปแล้ว อาการไอจะดีขึ้นและหายไปภายในเวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์ แต่หากมีอาการสำคัญอื่นเกิดขึ้นร่วมกับการไอ ไออย่างรุนแรง ไอจนเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก เจ็บคอ รู้สึกเหมือนมีก้อนเนื้ออยู่ในลำคอ ไอเป็นเลือด หรือไออย่างเรื้อรังติดต่อกันเป็นเวลานานแล้วอาการไม่ทุเลาลงเกินกว่า 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา ดังต่อไปนี้
การตรวจเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ ประวัติการป่วย อาการป่วยในปัจจุบัน โรคประจำตัว ประวัติการสูบบุหรี่และการใช้สารเสพติด และสภาพแวดล้อมที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย
หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น ทดสอบการทำงานของปอดด้วยการใช้หูฟัง ฟังเสียงหายใจเข้าและออก หากมีเสียงหวีดแสดงว่าปอดทำงานผิดปกติ
หากตรวจพบความผิดปกติ จะนำไปสู่การส่งตรวจหาโรคในขั้นต่อไป เช่น การเอกซเรย์ช่องอกเพื่อตรวจหาความผิดปกติของปอด การตรวจหาการติดเชื้อจากเสมหะภายในลำคอ เพื่อให้ทราบสาเหตุปัญหาที่ทำให้เกิดอาการไอ และทำการรักษาให้ตรงกับโรคต่อไป
การรักษาอาการไอ
วิธีการที่ดีที่สุดในการรักษาอาการไอ คือ รักษาตามโรคและอาการป่วยที่เป็นสาเหตุของการไอ ส่วนอาการไอที่เกิดจากการระคายเคืองต่อสารและเชื้อโรคที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ แม้อาการจะทุเลาลงและหายดีภายในเวลาไม่เกิน 2-3 สัปดาห์
หากอาการไอรบกวนการใช้ชีวิต มีวิธีที่จะช่วยรักษาและบรรเทาอาการ ได้แก่
ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
การดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ จะช่วยให้เสมหะไม่ข้นเหนียวและขับออกมาได้ง่าย ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการคอแห้งที่จะทำให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย
ดื่มน้ำผึ้ง น้ำชา น้ำขิงร้อน หรือน้ำมะนาว
แต่ไม่ควรไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี รับประทานน้ำผึ้ง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโบทูลิซึมในเด็ก ซึ่งเป็นผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตเด็ก
กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
ใช้น้ำเกลืออุ่น ๆ กลั้วคอเพื่อกำจัดมูกและเสมหะสกปรกที่ติดค้างในลำคอ
หลีกเลี่ยงมลพิษ
หลีกเลี่ยงการเผชิญมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ฝุ่น ควัน ควันบุหรี่
ใช้สเปรย์พ่นคอ
หากมีอาการระคายคอร่วมด้วย อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการระคายเคืองบริเวณช่องปากและลำคอ เช่น สเปรย์พ่นคอที่มีส่วนผสมจากดอกคาโมไมล์และสมุนไพรธรรมชาติ อย่างเปปเปอร์มินต์ ยูคาลิปตัส ป๊วยกั๊ก มะกรูด น้ำมันเซจ (Sage)
ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ บรรเทาอาการระคายคอ เจ็บคอ อีกทั้งสมุนไพรบางชนิดยังมีสรรพคุณช่วยลดการอักเสบ โดยใช้ได้ตั้งแต่มีอาการระคายคอหรือเจ็บคอในระยะแรกและใช้ได้บ่อยตามคำแนะนำของแพทย์
โดยผลิตภัณฑ์สเปรย์พ่นคอสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป หากมีข้อสงสัยควรสอบถามเภสัชกรก่อนการใช้
นอกจากนี้ ผู้อาจใช้ยาแก้ไอเพื่อบรรเทาอาการไอ ดังนี้
ยากลุ่มกดอาการไอ (Antitussives)
ยากลุ่มนี้มักใช้เพื่อรักษาอาการไอแห้งเป็นส่วนใหญ่ โดยยาจะออกฤทธิ์กดประสาทและช่วยระงับอาการไอได้
ยาขับเสมหะ (Expectorants)
ยาขับเสมหะจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเสมหะและไอมากขึ้นในช่วงแรก เพื่อขับเสมหะออกมาง่ายขึ้น โดยหลังจากนั้น เสมหะและอาการไอจะบรรเทาลง
ยาละลายเสมหะ (Mucolytics)
ยาละลายเสมหะ อย่างยาคาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) 2.25 กรัมต่อวัน ยาบรอมเฮกซีน (Bromhexine) 8-16 มิลลิกรัม ยาเอ็นอะซิทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า NAC 600 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งตัวยาในกลุ่มนี้จะช่วยลดความเหนียวข้นของมูกเหลวและเสมหะ
ส่งผลให้สามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น จึงลดการระคายบริเวณลำคอที่เป็นสาเหตุของอาการไอ ทั้งนี้ปริมาณยาที่ใช้อาจขึ้นอยู่กับอายุและปัญหาสุขภาพอื่นของผู้ป่วยด้วย
นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้จัดจำหน่ายในหลายรูปแบบและมีทางเลือกใหม่ในรูปของยาเม็ดชนิดฟู่ละลายน้ำ ซึ่งช่วยให้ร่างกายดูดซึมได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น รวมทั้งสะดวกสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนยาเม็ดและผู้ที่มีปัญหาเรื่องการดูดซึม
ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators)
ยากลุ่มนี้ช่วยลดการหดเกร็งตัวของหลอดลมให้น้อยลง เมื่อหลอดลมขยายขึ้นทำให้หายใจสะดวกมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยาเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ โดยเฉพาะการใช้ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา และผู้ที่มีโรคประจำตัว
ภาวะแทรกซ้อนของการไอ
อาจเกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนจากการไอได้ หากไออย่างรุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น อาการเจ็บหน้าอก เจ็บคอ คอบวม ปวดหัว วิงเวียน อ่อนล้า นอนหลับไม่สนิท ไม่สามารถนอนหลับได้ ปัสสาวะเล็ด หรือกระทั่งซี่โครงร้าวซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่มีโอกาสพบได้น้อยมาก หากพบภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและเป็นปัญหา ควรหาทางรักษาและไปพบแพทย์
การป้องกันอาการไอ
การไอที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการป่วยที่ร้ายแรง จะเป็นการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ การป้องกันไม่ให้เกิดการไอจึงทำได้โดย
- ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ เพื่อรักษาสุขภาพปอดและหัวใจ
- หลีกเลี่ยงมลภาวะ เช่น ฝุ่นจากการก่อสร้าง ควันบนท้องถนน
- หากเป็นโรคภูมิแพ้ หรือแพ้ยา แพ้สารใด ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้นในชีวิตประจำวัน
- รับประทานอาหารบำรุงสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง เนื้อสัตว์ เนื้อปลา นม ธัญพืช อาหารที่มีไขมันต่ำ เพื่อสร้างภูมิต้านทานที่ดี
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ เพื่อสร้างระบบภูมิต้านทานให้แข็งแรง