คุณแม่ตั้งครรภ์มือใหม่มักต้องการคำแนะนำในการดูแลร่างกายของตนเองและลูกน้อยในครรภ์ ทั้งจากคนใกล้ชิด ผู้ที่เคยผ่านการตั้งครรภ์ รวมถึงสื่อต่าง ๆ หลายช่องทาง โดยเฉพาะพวกสื่อออนไลน์ แต่คำบอกเล่าจากบุคคลและสื่อเหล่านั้นอาจไม่เป็นความจริงเสมอไป พบแพทย์ได้รวบรวม 10 ความเชื่อของการตั้งครรภ์ที่คนท้องมักเข้าใจผิดพร้อมคำอธิบายมาไว้ในบทความนี้ !!
คนท้องไม่ควรออกกำลังกาย
นอกจากการตั้งครรภ์จะทำให้คุณแม่เคลื่อนไหวลำบากจนอาจไม่อยากขยับตัวหรือลุกขึ้นไปไหน คนท้องหลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าการออกกำลังกายจะกระทบกระเทือนต่อลูกน้อยในครรภ์ด้วย แต่แท้จริงแล้วการออกกำลังกายเบา ๆ นั้นกลับเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ตั้งครรภ์หลายประการ ทั้งช่วยลดความอ่อนเพลีย ลดความเครียด ลดอาการปวดหลัง รวมถึงช่วยปรับสรีระและเตรียมร่างกายให้พร้อมต่อการคลอดบุตรด้วย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่า การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมระหว่างตั้งครรภ์ อาจช่วยป้องกันโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
คนท้องไม่ควรมีเพศสัมพันธ์
คนทั่วไปอาจคิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลกระทบต่อเด็กในท้อง แต่ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริงเสมอไป หากแพทย์ไม่ได้แนะนำให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ หรือผู้ที่ตั้งครรภ์ไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์นั้นก็ถือว่ายังปลอดภัยทั้งต่อคุณแม่และเจ้าตัวน้อย
คนท้องต้องกินข้าวมากขึ้นเป็น 2 เท่า
เป็นเรื่องธรรมดาที่คนท้องอาจรู้สึกหิวบ่อยกว่าปกติ แต่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจำกัดปริมาณการบริโภคอาหารของตนเองให้พอเหมาะ และไม่จำเป็นต้องบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะผู้หญิงตั้งครรภ์นั้นต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ยเพียงวันละ 300 แคลอรี่เท่านั้น นอกจากนี้ การกินอาหารมากเกินไปอาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพครรภ์ได้ โดยปกติคุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 12-16 กิโลกรัม ซึ่งขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ด้วย
คนท้องควรกินอาหารเพียง 3 มื้อเท่านั้น
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจคิดว่าตนเองควรกินอาหารให้ครบ 3 มื้อตามปกติก็เพียงพอแล้ว รวมถึงไม่ควรกินอาหารว่างระหว่างมื้อเพราะจะทำให้อ้วนง่าย แต่จริง ๆ แล้ว คนท้องอาจกินอาหารโดยแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ วันละ 6-7 มื้อ โดยเลือกกินอาหารให้หลากหลายและกินแต่ของที่มีประโยชน์ ซึ่งการกินอาหารวันละหลายมื้ออาจมีส่วนช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล ซึ่งส่งผลดีต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกในท้อง
คนท้องไม่ควรกินของหวาน
ของหวานทั่วไปเป็นสิ่งที่คนท้องควรหลีกเลี่ยง แต่ในปัจจุบันมีงานวิจัยพบว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่กินช็อกโกแลตทุกวันระหว่างตั้งครรภ์ มีแนวโน้มยิ้มและหัวเราะได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยที่พบว่าการกินช็อกโกแลตระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 อย่างน้อย 5 หน่วยบริโภค/สัปดาห์ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์
คนท้องไม่ควรกินอาหารทะเล
แม้อาหารทะเลอาจดูเป็นของแสลงสำหรับคนท้อง แต่จริง ๆ แล้วการกินปลาที่เป็นแหล่งโอเมก้า 3 ในปริมาณที่เหมาะสม อาจส่งผลดีต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีงานวิจัยที่พบว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีระดับโอเมก้า 3 ในเลือดสูง มีแนวโน้มมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานกว่าเด็กที่เกิดจากแม่ที่มีระดับโอเมก้า 3 ในเลือดต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม งานวิจัยทางด้านนี้ยังมีอยู่ค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นต้องรองานวิจัยสนับสนุนเพิ่มเติมในอนาคตที่ช่วยให้ทราบผลอย่างแน่ชัดต่อไป นอกจากนี้ ทั้งคนท้องและผู้บริโภคทั่วไปทุกคนควรเลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เพราะอาหารทะเลนั้นเสี่ยงต่อการปนเปื้อนโลหะหนักอย่างปรอท อีกทั้งควรเลือกกินอาหารทะเลที่ใหม่ สด สะอาด และผ่านการปรุงสุกแล้วเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจากสิ่งปนเปื้อนในอาหาร
คนท้องห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
โดยปกติคาเฟอีนที่คนท้องได้รับสู่ร่างกายสามารถส่งผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ได้ ซึ่งอาจไปกระตุ้นให้ทารกรู้สึกตื่นตัว ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายภายในครรภ์ได้ อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือกาแฟในปริมาณที่เหมาะสมนั้นไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ คุณแม่ตั้งครรภ์จึงไม่จำเป็นต้องงดเครื่องดื่มชนิดนี้ไปอย่างสิ้นเชิง แต่ให้จำกัดปริมาณการได้รับคาเฟอีนไม่ให้เกินวันละ 200 มิลลิกรัม อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มแต่ละชนิดมักมีปริมาณคาเฟอีนแตกต่างกันไป ผู้บริโภคจึงควรตรวจสอบปริมาณคาเฟอีนให้ดีก่อนดื่มทุกครั้ง
คนท้องสามารถดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณเล็กน้อยได้
รู้หรือไม่ว่า แอลกอฮอล์ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ได้รับจะถูกส่งผ่านไปยังทารกในครรภ์และก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมอง หัวใจ และอวัยวะต่าง ๆ ของทารกได้ โดยเรียกความผิดปกตินี้ว่า กลุ่มอาการผิดปกติของทารกในครรภ์จากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดา (Fetal Alcohol Spectrum Disorder; FASD) นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังไม่สามารถกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่คนท้องดื่มแล้วปลอดภัย หรือช่วงเวลาขณะตั้งครรภ์ที่คนท้องดื่มแล้วปลอดภัยได้อย่างแน่ชัด ดังนั้น แม้เป็นการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ คุณแม่ตั้งครรภ์หรือผู้ที่วางแผนตั้งครรภ์จึงควรงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
ความเครียดส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์เท่านั้น
หลายคนอาจคิดว่าความเครียดแม้เพียงเล็กน้อยนั้นเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ แต่แท้จริงแล้ว ความเครียดในระดับที่ไม่มากจนเกินไปอาจส่งผลดีต่อระบบประสาทของทารกในครรภ์ด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีงานค้นคว้าที่พบว่า แม่ที่รู้สึกเครียดบ้างเล็กน้อยระหว่างตั้งครรภ์ อาจให้กำเนิดลูกที่มีการทำงานของระบบประสาทดีกว่าทารกทั่วไป อย่างไรก็ตาม งานวิจัยที่ศึกษาในด้านนี้ยังคงมีอยู่ค่อนข้างจำกัด จึงจำเป็นต้องค้นคว้าทดลองเพิ่มเติมในอนาคตจนกว่าจะปรากฏผลลัพธ์ที่ชัดเจนในด้านนี้ ซึ่งในระหว่างนี้ คุณแม่ควรดูแลสุขภาพครรภ์และสุขภาพกายใจของตนเองให้ดีไว้เสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงรอบด้านที่อาจเกิดขึ้นได้
ลักษณะท้องของแม่ช่วยระบุเพศของทารกได้
คนโบราณเชื่อกันว่าลักษณะของท้องสามารถบ่งบอกเพศของทารกได้ เช่น หากท้องกลมและอยู่สูง เชื่อว่าจะได้ลูกสาว แต่หากท้องแหลมและอยู่ต่ำ เชื่อว่าจะได้ลูกชาย เป็นต้น ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ เพราะแท้จริงแล้วรูปร่างและความสูงต่ำของท้องนั้นไม่เกี่ยวกับเพศของทารกแต่อย่างใด แต่ขึ้นอยู่กับความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ความตึงตัวของมดลูก น้ำหนักตัวของคนท้องที่เพิ่มขึ้น และตำแหน่งของทารกในครรภ์ด้วย โดยยิ่งใกล้กำหนดคลอดมากเท่าไร ตำแหน่งของทารกก็จะยิ่งลดต่ำลงมาอยู่ใกล้อุ้งเชิงกรานมากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ การอัลตราซาวด์ถือเป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้เพื่อคาดการณ์เพศของทารกในครรภ์ แต่วิธีการดังกล่าวก็ยังไม่สามารถระบุเพศของเด็กในท้องได้อย่างแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์