4 วิธีรับมือกับอาการปวดหัวจากความเครียดด้วยตัวเอง

อาการปวดหัวจากความเครียด (Tension-type headache) เป็นอาการปวดหัวที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหรือความตึงเครียดทางอารมณ์และจิตใจ ซึ่งบทความนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักวิธีจัดการอาการปวดหัวจากความเครียดง่าย ๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน

อาการปวดหัวจากความเครียดมักเป็นอาการปวดแบบตื้อ ๆ เหมือนถูกบีบรัดหรือถูกกดทับที่บริเวณศีรษะทั้งสองข้าง กระบอกตา หน้าผาก ท้ายทอย หรือลำคอ และมักมีอาการกดแล้วเจ็บร่วมด้วย โดยอาจเกิดขึ้นต่อเนื่องนานหลายนาทีหรือนานเป็นสัปดาห์ก็ได้เช่นกัน

4 วิธีรับมือกับอาการปวดหัวจากความเครียดด้วยตัวเอง

4 วิธีง่าย ๆ ในการรับมือกับอาการปวดหัวจากความเครียด

หากมีอาการปวดหัวจากความเครียด ในเบื้องต้นสามารถลองทำตามวิธีการดังต่อไปนี้เพื่อรับมือกับอาการ

1. รับประทานยาแก้ปวด

การรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) และยาแอสไพริน (Aspirin) อาจเป็นวิธีบรรเทาอาการปวดหัวจากความเครียดที่ง่ายมากที่สุด เพราะยาเหล่านี้เป็นยาแก้ปวดสามัญประจำบ้านที่ทุกบ้านมักมีอยู่แล้ว รวมถึงสามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป 

อย่างไรก็ตาม การใช้ยาควรใช้ตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และถ้าหากมีโรคประจำตัวหรือมีภาวะสุขภาพบางอย่าง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยาบางชนิดอาจทำให้อาการของโรคประจำตัวที่เป็นอยู่แย่ลงได้

2. ประคบเพื่อคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ

การประคบบริเวณหน้าผาก คอ บ่า ไหล่ จะช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและทำให้อาการปวดหัวจากความเครียดลดลง โดยสามารถทำได้ทั้งการประคบร้อนและการประคบเย็น อุปกรณ์ที่ใช้ในการประคบสามารถใช้ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าน้ำร้อน ลูกประคบร้อน หรือผ้าชุบน้ำอุ่นสำหรับการประคบอุ่น รวมถึงผ้าเย็น แผ่นเจลเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งสำหรับการประคบเย็นก็ได้เช่นกัน

นอกจากนี้ อาจใช้การนวดบริเวณขมับ หนังศีรษะ คอ บ่า และไหล่ด้วยปลายนิ้ว เบา ๆ และการยืดกล้ามเนื้อคอเบา ๆ ร่วมด้วย เพื่อช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและทำให้อาการปวดหัวลดลง

3. จัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม

การจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดอาการปวดหัวจากความเครียด การจัดการความความเครียดสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ตึงเครียด เช่น สถานการณ์ที่กดดัน การทะเลาะเบาะแว้ง หรือการเสพสื่อที่มีเนื้อหาเศร้าและหดหู่ เพราะอาจทำให้คุณเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว 

ส่วนถ้าหากเป็นความเครียดที่เกิดจากการเรียนหรือการทำงาน อาจใช้วิธีพักสายตาจากงานตรงหน้าสักครู่ จากนั้นยืดกล้ามเนื้อเพื่อคลายความเมื่อยล้า รวมถึงอาจใช้วิธีฝึกการหายใจเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หรือการฟังเพลงที่ชอบเพื่อคลายความเครียดก็ได้เช่นกัน

4. ดูแลสุขภาพเป็นประจำ

การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอจะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี และอาจช่วยลดความเสี่ยงของอาการปวดหัวจากความเครียดได้ 

โดยการดูแลสุขภาพสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ การดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ การออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ การพักผ่อนให้เพียงพอ การหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไป รวมถึงการไม่สูบบุหรี่ 

นอกจากนี้ อาจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือนักบำบัดเกี่ยวกับวิธีการจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม หากคุณมีอาการเครียดบ่อยครั้งหรือมีอาการเครียดที่รุนแรง รวมถึงอาจลองรักษาอาการปวดหัวจากความเครียดด้วยวิธีทางเลือกอื่น ๆ เช่น การนวด การฝังเข็ม หรือการทำ Biofeedback 

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงหรือข้อควรระวังของแต่ละวิธีก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา และถ้าหากมีอาการปวดหัวจากความเครียดต่อเนื่องนานกว่า 2 สัปดาห์หรืออาการปวดหัวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม