วิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำอาจช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากท้องเสีย เช่น ขับถ่ายบ่อย ปวดท้อง ท้องอืด ซึ่งอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้ นอกจากนี้ การใช้วิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำยังอาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของอาการท้องเสียที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
ท้องเสียคืออาการถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ และขับถ่ายถี่กว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาหารเป็นพิษ การติดเชื้อบริเวณทางเดินอาหาร การรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค โดยท้องเสียเป็นอาการที่พบได้ทั่วไป และอาจดีขึ้นได้เองภายใน 1–2 วัน ซึ่งในระหว่างนี้ การใช้วิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำต่าง ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการท้องเสียและช่วยให้ท้องเสียหายไวยิ่งขึ้น
วิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำด้วยตนเองอย่างเหมาะสม
ผู้ที่มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว สามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นได้ด้วยวิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำต่าง ๆ เช่น
1. ดื่มน้ำมากขึ้น
ท้องเสียและถ่ายเหลวอาจทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น โซเดียม โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของร่างกายได้ ดังนั้น วิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำที่ไม่ควรมองข้ามคือการดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ โดยเครื่องดื่มที่อาจช่วยเพิ่มน้ำและแร่ธาตุในร่างกายมีหลายอย่าง เช่น น้ำ ผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) น้ำมะพร้าว
สำหรับทารกที่มีอาการท้องเสีย คุณแม่สามารถให้ทารกดื่มนมแม่หรือนมผงตามปกติ และไม่ควรหยุดนมลูก เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำในทารก
2. รับประทานอาหารรสจืดและมีใยอาหารต่ำ
การรับประทานอาหารรสจืดและมีใยอาหารต่ำเป็นวิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำที่ช่วยลดอาการท้องเสีย ปวดท้อง และช่วยให้อุจจาระแข็งยิ่งขึ้นหรือจับตัวกันเป็นก้อนมากขึ้น โดยอาหารที่รับประทานได้ระหว่างท้องเสียมีหลายอย่าง เช่น กล้วย ข้าว ขนมปัง มันฝรั่งต้มหรือมันฝรั่งอบ นอกจากนี้ อาหารดังกล่าวยังอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ที่อาจช่วยทดแทนแร่ธาตุที่สูญเสียไปได้
3. รับประทานโพรไบโอติก
โพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีขนาดเล็กที่ช่วยให้ลำไส้สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้อาจถูกรบกวนด้วยไวรัสหรือแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ดังนั้น การรับประทานโพรไบโอติกอาจเป็นวิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำที่จะช่วยให้สมดุลภายในลำไส้กลับมาเป็นปกติ
โดยโพรไบโอติกสามารถพบเจอได้จากในอาหารต่าง ๆ เช่น โยเกิร์ต กิมจิ หรืออาหารหมักดองอื่น ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีโพรไบโอติก ซึ่งควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทานอาหารเสริมใด ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยในการรับประทาน
4. รับประทานยาแก้ท้องเสีย
วิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำอีกหนึ่งวิธีคือการใช้ยาแก้ท้องเสียต่าง ๆ เช่น ยาบิสมัท ซับซาลิไซเลต (Bismuth Subsalicylate) ยาโลเพอราไมด์ (Loperamide) ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำได้ แต่อาจไม่สามารถใช้รักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเพื่อการใช้ยาอย่างถูกต้อง
นอกจากวิธีต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ผู้ที่มีอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่าง เช่น ของทอด ของมัน ถั่ว กะหล่ำปลี ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้อาการท้องเสียแย่ลงได้
ทั้งนี้ ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการรักษา หากใช้วิธีแก้ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น มีไข้ ปวดท้องอย่างรุนแรง อุจจาระเป็นเลือด รวมถึงมีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ผิวแห้ง ปากแห้ง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็ว