ไอแห้งเป็นอาการกวนใจที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และอาการมักรุนแรงมากขึ้นในช่วงกลางคืน บางครั้งอาการไออาจเรื้อรังติดต่อกันนานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ ทำให้รบกวนการนอนและการใช้ชีวิตประจำวัน
ไอแห้งเป็นอาการไอที่ไม่มีเสมหะหรือเมือก ไอเป็นเสียงแหบหรือเสียงดังก้อง เสียงไอคล้ายแค่นไอ บางรายอาจรู้สึกระคายเคืองหรือคันในลำคอร่วมด้วย เนื่องจากเสมหะหรือเมือกสร้างความระคายเคืองแต่ขับออกไม่ได้จนทำให้ไอ หรือมีสารบางอย่างมากระตุ้นให้ไอ
โดยสาเหตุของอาการไอแห้งนั้นมีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่การสูบบุหรี่ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษติดต่อกันเป็นเวลานาน เจอฝุ่นควัน รวมทั้งอาจเป็นผลจากบางปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหืด กรดไหลย้อน เสมหะในคอ โรคภูมิแพ้ โควิด-19 หากอาการไอแห้งเป็นผลมาจากโรคต่าง ๆ ในข้างต้น การรักษาโรคเหล่านี้อาจช่วยให้อาการไอแห้งบรรเทาลงได้
นอกจากนี้ อาการไอแห้งยังสามารถบรรเทาและรักษาได้ด้วยหลายวิธีต่อไปนี้
- ใช้ยา
ในเบื้องต้นสามารถรับประทานยากดอาการไอ (Antitussives) อย่างยาโคเดอีน (Codeine) หรือยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการไอแห้ง อาการกระคายเคืองคอที่ไม่มีเสมหะ อาการเจ็บคอหรือต้องตื่นกลางดึกเนื่องจากอาการไอ แต่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้
หากอาการไอแห้งมีสาเหตุจากความผิดปกติของไซนัสหรือหลอดเลือดในจมูก แพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำให้ใช้ยาหดหลอดเลือด (Decongestant) โดยตัวยาจะทำให้หลอดเลือดหดตัวและลดอาการบวมของเนื้อเยื่อในจมูก แต่ยากลุ่มนี้ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเกิน 3–5 วัน เพราะอาจทำให้ร่างกายผลิตเสมหะและอาการอุดตันภายในทางเดินหายใจรุนแรงมากขึ้นได้
ส่วนใครที่มีอาการไอแห้งร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ หายใจไม่อิ่ม ไอหรือหายใจเป็นเสียงหวีด หรือไอติดต่อกันนานกว่า 2–3 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาแก้ไอ และไม่ควรใช้ยาแก้ไอนานกว่า 7 วัน เพราะอาจเป็นการปกปิดสาเหตุของอาการไอแห้งที่แท้จริงได้ นอกจากนี้ เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ไม่ควรใช้ยาแก้ไอหรือยาแก้หวัดที่หาซื้อได้ตามร้านทั่วไป
- ใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ
สมุนไพรชนิดต่าง ๆ อาจช่วยบรรเทาอาการไอแห้งได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระเทียม ขมิ้นชัน สะระแหน่ รากชะเอมเทศ รากมาร์ชแมลโลว (Marshmallow Root) หรือไทม์ (Thyme) เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมความแข็งแรงให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงป้องกันการอักเสบและบรรเทาอาการบวมในลำคอได้
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ
การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือสามารถบรรเทาอาการอักเสบและช่วยให้อาการไอดีขึ้น โดยสามารถผสมเกลือครึ่งช้อนกับน้ำ 1 แก้ว อมไว้ เงยหน้าขึ้นกลัวคอเป็นเวลาประมาณ 30 วินาทีก่อนจะบ้วนออก และจะต้องไม่กลืนน้ำเกลือโดยเด็ดขาด
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
การดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คอชุ่มชื้นและช่วยให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน นอกจากน้ำเปล่า อาจรับประทานซุป อาหารเหลวอุ่น ชาสมุนไพร น้ำผลไม้หรือชงน้ำผึ้งกับน้ำอุ่นและมะนาว ซึ่งน้ำผึ้งนั้นมีสรรพคุณต้านการอักเสบในลำคอ ขับเสมหะ บรรเทาอาการเจ็บคอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มแอลกอฮล์
- ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ
เนื่องจากอากาศแห้งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยของการไอ และอาจทำให้เนื้อเยื่อในคออักเสบเพิ่มมากขึ้น การใช้เครื่องเพิ่มความชื้นจะช่วยบรรเทาอาการไอและหายใจไม่สะดวก ทั้งนี้ ควรทำความสะอาดเครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการเกิดแบคทีเรียหรือเชื้อรา
นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ อีกมากมายที่ช่วยบรรเทาอาการไอแห้ง อาทิ การรับประทานวิตามินหรืออมยาอมเพื่อให้ร่างกายผลิตน้ำลายได้มากขึ้น การหลีกเลี่ยงสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการไอหรือทำให้อาการไอหายช้าลง อย่างควัน น้ำยาทำความสะอาด น้ำหอม ขนสัตว์หรือละอองเกสร
อาการไอแห้งแบบไหนควรไปพบแพทย์
แม้ว่าอาการไอแห้งอาจไม่ใช่สัญญาณของโรคที่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่หากมีอาการไอต่อเนื่องนาน 3–4 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาให้หายขาด
รวมถึงหากมีอาการไอแห้งร่วมกับอาการอื่นที่รุนแรงขึ้น เช่น มีไข้ เจ็บหน้าอก ไอเป็นเสียงหวีด หายใจลำบากหรือหายใจไม่อิ่ม ไอเป็นเลือด ไอแบบมีเลือดเจือปน หรือมีอาการคล้ายขาดน้ำ โดยสังเกตได้จากริมฝีปากแห้ง ช่องปากหรือตาแห้ง มึนหัว รู้สึกอ่อนเพลีย ปัสสาวะเป็นสีเข้มและปัสสาวะน้อย ผู้ป่วยควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
อาการไอแห้งสามารถป้องได้ด้วยการรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอเพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ ที่อาจตามมา รวมทั้งควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเปล่าหรือแอลกอฮอล์เจล หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าก่อนล้างมือ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดผู้ที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และเลิกสูบบุหรี่เพราะอาจเป็นสาเหตุของอาการไอหรือทำให้อาการที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น