วิธีแก้ตะคริวที่น่องที่มีอยู่หลายวิธี ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นวิธีง่าย ๆ ที่คุณสามารถทำตามได้ที่บ้าน และสามารถช่วยให้คุณหายจากอาการตะคริวที่น่องได้ในเวลาไม่นาน เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การนวด และการลุกขึ้นยืนหรือเดิน ซึ่งหากคุณรู้วิธีแก้ตะคริวที่น่องอย่างเหมาะสม คุณก็จะสามารถรับมือเมื่อเกิดตะคริวที่น่องได้อย่างเหมาะสม
ตะคริวที่น่องมักทำให้เกิดอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อขึ้นมาอย่างรุนแรงและกะทันหัน โดยอาจเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินไป ปัญหาการไหลเวียนของเลือด การเสียหายของเส้นประสาท หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งตะคริวที่น่องมักเกิดขึ้นในขณะที่กำลังนอนหลับ ทำให้เราเจ็บจนรู้สึกตัวตื่น และหากเกิดขึ้นเป็นประจำก็อาจส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับได้เลยทีเดียว
วิธีแก้ตะคริวที่น่องอย่างมีประสิทธิภาพ
วิธีแก้ตะคริวที่น่องโดยส่วนใหญ่จะเป็นการลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ การกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด หรือการบำรุงรักษาเส้นประสาทให้กลับมาทำงานตามปกติในกรณีของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท ซึ่งหากมีอาการตะคริวที่น่องเกิดขึ้นให้ลองทำตามวิธีการดังต่อไปนี้
1. พักและยืดกล้ามเนื้อ
หากมีอาการตะคริวเกิดขึ้น โดยเฉพาะอาการตะคริวที่เกิดขึ้นหลังจากการออกกำลังกายหรือการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก ควรหยุดทำกิจกรรมและพักเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายความตึงเครียด จากนั้นทำการยืดกล้ามเนื้อเพื่อช่วยให้อาการตะคริวบรรเทาลง โดยวิธีการยืดกล้ามเนื้อคือให้นั่งลงบนพื้นราบและเหยียดขาข้างที่เป็นตะคริวออกให้ตรง จากนั้นกระดกปลายเท้าเข้าหาตัวหรือใช้มือดัดปลายเท้าเข้าหาตัว
2. นวดบริเวณที่เป็นตะคริว
การนวดจะช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการตะคริวที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ควรใช้วิธีการบีบหรือนวดเบา ๆ บริเวณที่เกิดตะคริว เพราะหากบีบหรือนวดแรงจนเกินไป อาจทำให้อาการตะคริวที่เกิดขึ้นแย่ลงได้
3. นอนยกขาสูง
หากเกิดตะคริวที่น่องให้ลองนอนยกขาสูง เช่น หากเกิดตะคริวในขณะที่กำลังนอนหลับ ให้ยกขาพาดกับหมอนข้างหรือหมอนอิงที่สูงขึ้นเล็กน้อย โดยควรให้ขาอยู่สูงกว่าระดับหัวใจ วิธีการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้อาการตะคริวที่น่องบรรเทาลงอย่างรวดเร็ว
4. ลุกขึ้นยืนหรือเดิน
วิธีแก้ตะคริวที่น่องที่สามารถทำได้ง่าย ๆ อีกหนึ่งวิธีคือการลุกขึ้นยืนหรือเดิน โดยเริ่มจากการค่อย ๆ ลุกขึ้นยืนโดยให้ทิ้งน้ำหนักตัวไปยังขาข้างที่เป็นตะคริว และเน้นทิ้งน้ำหนักตัวไปยังบริเวณส้นเท้าด้วย จากนั้นให้เริ่มเดิน โดยขยับขาหรือสะบัดปลายเท้าไปมาและเดินวนรอบ ๆ ในระยะสั้น ๆ ทั้งนี้ ควรระมัดระวังการเดินในขณะที่เป็นตะคริว เพราะอาจเกิดการหกล้มได้ง่าย
5. ประคบร้อนหรือประคบเย็น
การประคบร้อนหรือประคบเย็นสามารถช่วยบรรเทาอาการตะคริวที่น่องได้อีกวิธีหนึ่ง เพราะความร้อนจะช่วยคลายกล้ามเนื้อและช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ส่วนความเย็นจะช่วยลดอาการปวด โดยมีวิธีการคือให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือผ้าห่อน้ำแข็งในการประคบบริเวณน่อง นอกจากนี้ การแช่ขาในน้ำอุ่นก็สามารถช่วยบรรเทาอาการตะคริวได้เช่นกัน
6. รับประทานยาหรืออาหารเสริมบางชนิด
หากอาการตะคริวที่น่องเกิดจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น การขาดวิตามินจากการตั้งครรภ์ หรือการอักเสบเสียหายของเส้นประสาท อาจจำเป็นต้องรับประทานยาหรืออาหารเสริมเพื่อช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อคาริโซโพรดอล (Carisoprodol) ยารักษาอาการปวดเส้นประสาทกาบาเพนติน (Gabapentin) รวมถึงอาหารเสริมวิตามินบีรวมและแมกนีเซียมด้วย
ทั้งนี้ การรับประทานยาหรืออาหารเสริมชนิดใดควรปรึกษาแพทย์ก่อน และใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาบางชนิดที่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อยามาใช้เองนอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นอกจากวิธีแก้ตะคริวที่น่องในข้างต้นนี้แล้ว ยังมีวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยป้องกันการเกิดตะคริวที่น่องได้ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มน้ำในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างเหมาะสม โดยต้องยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกายด้วย นอกจากนี้ การยืดกล้ามเนื้อเบา ๆ ก่อนนอนก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดอาการตะคริวที่น่องในขณะนอนหลับได้
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการตะคริวที่น่องเกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ จนรบกวนการใช้ชีวิตหรือส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ รวมถึงมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น มีอาการเจ็บปวดมาก มีอาการบวมหรือชาที่ขา และมีรอยแดงหรือรอยช้ำเกิดขึ้นบริเวณที่เป็นตะคริว อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการวินิจฉัยและการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม