สเปรย์แก้ปวดเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดขา ปวดเส้นเอ็น หรือปวดตามข้อต่าง ๆ โดยสเปรย์แก้ปวดจะมีทั้งแบบร้อนและแบบเย็น ซึ่งผู้ที่มีอาการปวดสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม เพื่อช่วยให้ได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ
อาการปวดที่เกิดขึ้นตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การออกกำลังกาย การบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ เส้นเอ็นอักเสบ ซึ่งอาการปวดเหล่านี้อาจส่งผลให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไม่สะดวก ดังนั้น การใช้สเปรย์แก้ปวดที่มีประสิทธิภาพดีอาจช่วยให้กลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่
สเปรย์แก้ปวดที่หาซื้อง่ายและมีประสิทธิภาพดี
สเปรย์แก้ปวดเป็นยาที่หาซื้อได้ง่ายและสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ซึ่งสเปรย์แก้ปวดที่มีประสิทธิภาพดี ใช้บรรเทาอาการปวดแล้วเห็นผล มีดังนี้
1. เพอสกินดอล คลาสสิก (Perskindol Classic) ขนาด 150 มิลลิลิตร
เพอสกินดอล คลาสสิกเป็นสเปรย์แก้ปวดที่มีส่วนผสมของลีโวเมนทอล (Levomenthol) และสารสกัดต่าง ๆ เช่น น้ำมันสน น้ำมันระกำ น้ำมันหอมระเหยส้ม ซึ่งมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดคอ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อตึง
เพอสกินดอล คลาสสิกสามารถซึมซาบเข้าสู่ผิวได้อย่างรวดเร็ว ไม่เหนียวเหนอะหนะ ไม่เปื้อนมือหรือเสื้อผ้า
อีกทั้งเมื่อฉีดพ่นครั้งแรกอาจทำให้รู้สึกเย็น และเมื่อทิ้งไว้สักครู่จะถูกดูดซึมและทำให้รู้สึกอุ่น
วิธีการใช้เพอสกินดอล คลาสสิกเพื่อบรรเทาอาการปวดสามารถทำได้โดยการฉีดพ่นบริเวณที่มีอาการวันละ 3–4 ครั้ง และนวดเบา ๆ จนกระทั่งยาซึมซาบเข้าสู่ผิวหนัง ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ยานี้บริเวณที่มีแผลเปิด และไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะอาจเป็นอันตรายได้
2. ยูนิเรน (Uniren) ขนาด 60 มิลลิลิตร
สเปรย์แก้ปวดตรายูนิเรน เป็นยาที่มีส่วนประกอบของไดโคลฟีแนค โซเดียม (Diclofenac soium) โดยยานี้จะช่วยลดการอักเสบ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อต่าง ๆ รวมไปถึงอาการปวดบริเวณเส้นเอ็น ข้อต่อ หรือบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากโรคข้ออักเสบได้อีกด้วย
เพียงฉีดพ่นยายูนิเรนบริเวณที่รู้สึกปวดวันละ 3–4 ครั้ง ควรระวังไม่ให้เข้าตาหรือฉีดพ่นยาบริเวณแผลเปิด เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ลมพิษ โรคตับ โรคไต ผู้มีภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาชนิดนี้
3. เอ็ม-ซิน (M-Cin) ขนาด 50 มิลลิลิตร
เอ็ม-ซินเป็นสเปรย์แก้ปวดสูตรเย็นที่อาจช่วยบรรเทาอาการปวด บวมและอักเสบบริเวณข้อ เอ็น หรือกล้ามเนื้อ เนื่องจากมีส่วนผสมของยาอินโดเมทาซิน (Indometacin) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยรักษาอาการปวดและอักเสบให้ดีขึ้น
การใช้สเปรย์แก้ปวดเอ็ม-ซินนั้นไม่ยาก โดยฉีดพ่นยาบริเวณที่มีอาการปวด 3–5 ครั้ง หรือตามที่แพทย์และเภสัชกรแนะนำ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาชนิดนี้ หากกำลังตั้งครรภ์และมีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป หรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหืด ลมพิษ เลือดออกในกระเพาะอาหาร โรคตับ โรคไต
4. คาริทีส ซิงจิเบอรีน เฟิร์ม (Charities Zingiberene Firm) 60 มิลลิลิตร
สเปรย์แก้ปวดคาริทีส ซิงจิเบอรีน เฟิร์ม เป็นสเปรย์แก้ปวดสูตรร้อนที่มีส่วนผสมของสารแคปไซซิน (Capsaicin) อีกทั้งยังมีสมุนไพรอย่างไพลและขมิ้น ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบและลดอาการปวด ดังนั้น การใช้ยานี้จึงอาจช่วยลดอาการปวดเมื่อยร่างกาย คลายกล้ามเนื้อ และลดอาการปวดข้อ
การใช้สเปรย์คาริทีส ซิงจิเบอรีน เฟิร์มสามารถทำได้ด้วยการฉีดพ่นยาในบริเวณที่มีอาการปวด โดยควรระวังไม่ให้เข้าตาหรือบาดแผลเปิดเพื่อป้องกันอาการระคายเคือง
5. น้ำมันมวย (Namman Muay) ขนาด 40 มิลลิลิตร
น้ำมันมวยเป็นสเปรย์แก้ปวดที่มีตัวยาเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเฉียบพลันต่าง ๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อจากภาวะกล้ามเนื้อตึงหรือเคล็ด ข้อต่ออักเสบ ฟกช้ำ อีกทั้งยังมีเมนทอล (Menthol) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการปวด และทำให้รู้สึกเย็นอีกด้วย
ผู้ที่มีอาการปวดสามารถใช้สเปรย์แก้ปวดตราน้ำมันมวยเพื่อพ่นบริเวณที่มีอาการวันละ 2–3 ครั้ง โดยอาการปวดอาจเริ่มดีขึ้นเมื่อใช้ยานี้
6. ลินิเมนท์ ที (Liniment T) ขนาด 50 มิลลิลิตร
ลินิเมนท์ ทีเป็นน้ำมันนวดที่อยู่ในรูปแบบสเปรย์แก้ปวด โดยลินิเมนท์ ที จะมีส่วนผสมของยาต่าง ๆ เช่น ยาลีโวเมนทอล (Levomenthol) ยาเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate) และการบูร ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดกล้ามเนื้อ เคล็ด ข้ออักเสบ และการปวดเมื่อยตามร่างกาย
โดยการใช้ยาลินิเมนท์ ทีเพื่อแก้ปวดสามารถทำได้โดยการฉีดพ่นยาบนบริเวณที่ปวด แล้วถูนวดเบา ๆ จนกระทั่งยาซึมเข้าผิวหนัง โดยยาลินิเมนท์ ทีสามารถใช้งานได้ง่าย ซึมเข้าผิวหนังได้ดี และยังพกพาสะดวกอีกด้วย
นอกจากการใช้สเปรย์แก้ปวดเพื่อรักษาอาการปวดที่เกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่มีอาการปวดสามารถดูแลตัวเองเพิ่มเติมร่วมด้วย เช่น หยุดพักการใช้งานบริเวณที่มีอาการปวด ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อและข้อต่อ
หากอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ปวดอย่างรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิต หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ รู้สึกชาตามมือ เท้า หรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตามสาเหตุของอาการปวดที่เกิดขึ้น