โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ คือโรคที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายได้รับสารเคมีจากควันบุหรี่ เช่น นิโคติน น้ำมันดิน (Tar) คาร์บอนมอนนอกไซด์ และอื่น ๆ อีกกว่า 7,000 ชนิด ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอ ทำลายระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
การสูบบุหรี่ทำให้เราได้รับสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่เป็นพิษต่อร่างกาย โดยสารเคมีจากควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดมทางจมูกและทางปาก จากนั้นจึงเดินทางเข้าสู่คอ ปอด เข้าสู่กระแสเลือด แล้วจึงเข้าไปยังส่วนสมอง หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดโรคตามมาได้ โดยสารเคมีจากควันบุหรี่สามารถทำร้ายได้ทั้งตัวผู้สูบเองและผู้คนที่อยู่รอบข้าง
โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ความเสี่ยงที่ควรระวังและสังเกต
การสูบบุหรี่อาจก่อให้เกิดโรคและภาวะต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้หลายประการ เช่น
1. โรคหืด
โรคหืดคือโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังที่ทำให้หายใจลำบาก ซึ่งการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด เนื่องจากควันบุหรี่จะเข้าไประคายเคืองเยื่อบุหลอดลม และทำให้หลอดลมแคบจนเกิดหอบหืดเฉียบพลัน โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่บ่อย อาจทำให้เกิดอาการหอบหืดแรงขึ้นและอาจลดประสิทธิภาพยารักษาโรคบางตัวลงด้วย
การสูดควันบุหรี่มือสองยังทำให้ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้วเกิดอาการบ่อยและหนักขึ้น เพราะผู้เป็นโรคนี้มีระบบทางเดินหายใจที่อ่อนไหวง่าย นอกจากนี้ เด็กที่สูดควันบุหรี่มือสองยังเสี่ยงเป็นหอบหืดเพิ่มขึ้น เนื่องจากปอดยังเล็กและพัฒนาไม่เต็มที่ ควันบุหรี่จึงอาจส่งผลให้ปอดทำงานแย่ลง และอาจทำให้มีการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ จนเกิดอาการไอหรือไอมีเสียงหวีด
2. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นอาการของโรคปอดอักเสบเรื้อรังซึ่งทำให้เกิดการกีดขวางการไหลเวียนของอากาศสู่ปอด ทำให้หายใจลำบาก ไอ และหายใจมีเสียงหวีด นอกจากนี้อาจยังมีอาการของภาวะถุงลมโป่งพอง หรือ โรคหลอดลมอักเสบด้วย การสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสองมักเป็นสาเหตุของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เนื่องจากการการสูบบุหรี่ส่งผลให้หลอดลมตีบจนกีดขวางการหายใจ
3. โรคเบาหวานชนิดที่ 2
โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นอีกโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้เช่นกัน เนื่องจากการสูบบุหรี่ส่งผลทำให้ร่างกายเกิดภาวะดื้ออินซูลิน และนำไปสู่ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยคนที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้นถึง 30–40% และยังอาจทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 1ด้วย
อย่างไรก็ตาม บุหรี่เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง ซึ่งโรคเบาหวานสามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่รับประทานหรือดื่มของหวานมากเกินไป
4. โรคไต
โรคไตเป็นอีกโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เพราะการสูบส่งผลต่อผู้ที่มีความดันเลือดสูงและอาจเสี่ยงเป็นโรคไตได้ เนื่องจากควันบุหรี่มีผลต่อยาควบคุมความดัน ซึ่งการไม่สามารถควบคุมความดันเลือดสูงได้เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเป็นโรคไต
นอกจากนี้ ควันบุหรี่ยังมีผลทำให้การไหลเวียนของเลือดสู่อวัยวะต่าง ๆ รวมถึงไตช้าลง และทำให้โรคไตมีอาการแย่ลงได้ ผู้ที่สูบบุหรี่มากจึงมีความเสี่ยงที่ไตจะได้รับความเสียหายมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ
5. โรคหัวใจและหลอดเลือด
โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ยังรวมถึงโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งผู้ที่สูบอาจเสี่ยงเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น โดยควันจากบุหรี่ส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดสูง นอกจากนี้ สารนิโคตินในบุหรี่ยังทำให้หลอดเลือดตีบตัน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันก่อให้เกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้
6. โรคมะเร็ง
มะเร็งเป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เพราะมีสารเคมีมากมายที่เป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง โดยสารเคมีนั้นจะทำลาย DNA ซึ่งควบคุมการทำงานของเซลล์ ส่งผลให้เซลล์เพิ่มขึ้นและสร้างเนื้องอกของมะเร็ง นอกจากนี้สารเคมีจากบุหรี่ยังเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายไม่สามารถจัดการกับเซลล์มะเร็งได้ ฃฃ
มะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกาย เช่น มะเร็งคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งไต และมะเร็งกระเพาะ
7. การเสพติดบุหรี่และนิโคติน
การเสพติดบุหรี่นั้นเกิดจากสารนิโคตินที่เข้าไปทำงานในสมอง ส่งผลให้สมองหลั่งโดปามีนซึ่งเป็นสารที่ทำให้ผู้สูบรู้สึกดีและคลายกังวล ซึ่งเมื่อผู้สูบเสพติดความรู้สึกนั้นก็จะทำให้ต้องการสูบบุหรี่ไปเรื่อยๆ จนทำเป็นกิจวัตร และอาจหลีกเลี่ยงอาการที่เกิดขึ้นเมื่อไม่ได้สูบบุหรี่ เช่น อาการหงุดหงิด วิตกกังวล นอนไม่หลับ จนทำให้การเลิกเสพติดบุหรี่หรือนิโคตินในบุหรี่ยากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังทำให้มีบุตรยากทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงอาจทำให้มีปัญหาท้องนอกมดลูก เสี่ยงต่อการแท้ง หรือส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กในครรภ์และเด็กแรกเกิด โดยอาจทำให้เด็กเกิดมาน้ำหนักตัวต่ำ ปากแหว่งเพดานโหว่และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
การสูบบุหรี่เป็นระยะเวลานานอาจส่งผลถาวรต่ออวัยวะภายในและนำไปสู่โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ทั้งยังทำให้การเลิกสูบทำได้ยากขึ้น ผู้ที่สูบเป็นเวลานานอาจมีแนวทางในการดูแลสุขภาพด้วยการพบแพทย์ ส่วนผู้ที่เพิ่งสูบบุหรี่หรือสูบบุหรี่มาไม่นาน การเลิกสูบจะช่วยให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูความเสียหายและลดความเสี่ยงต่อโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้มากขึ้น
การเลิกบุหรี่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง หรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบตัว เช่น ครอบครัว เพื่อนฝูง แต่หากพบปัญหาในการเลิกบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการเลิกบุหรี่ที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยสามารถติดต่อสอบถามไปยังคลินิกเลิกบุหรี่ หรือโทรสายด่วนเลิกบุหรี่ได้ที่เบอร์ 1600