วิธีลดไขมันในเลือดด้วยตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia) ควรทำความรู้จักเอาไว้ เนื่องจากการมีระดับไขมันในเลือดที่สูงเกินปกติอาจส่งผลให้ผู้ที่ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะที่เลือดในร่างกายมีไขมัน อย่างคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ สะสมอยู่ในปริมาณมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้หลอดเลือดเกิดการอุดตันได้ โดยการรักษาภาวะนี้หลัก ๆ จะเป็นการใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย
รู้จักวิธีลดไขมันในเลือดด้วยตัวเอง
การรักษาภาวะนี้หลัก ๆ จะเป็นการใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยชนิดของยาที่ใช้จะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้รักษา ส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือการดูแลตัวเองที่ผู้ป่วยสามารถทำได้เองจะมีดังต่อไปนี้
1. ออกกำลังกาย
การมีพฤติกรรมที่ไม่ค่อยได้ขยับตัวหรือไม่ค่อยออกกำลังกายอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (High–Density Lipoprotein: HDL) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยควบคุมหรือลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในหลอดเลือดลดลงได้
ดังนั้น ผู้ที่กำลังมองหาวิธีลดไขมันในเลือดด้วยตัวเองอาจจะลองเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกายให้มากขึ้น หรือประมาณ 150 นาที/สัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การว่ายน้ำ หรือการปั่นจักรยาน แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางร่างกายที่อาจส่งผลกระทบต่อการออกกำลังกาย ผู้ป่วยอาจจะลองปรึกษาแพทย์ถึงวิธีและระยะเวลาในการออกกำลังกายที่เหมาะกับตนเองก่อนเพื่อความปลอดภัย
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร
ผู้ที่เริ่มลดไขมันในเลือดควรลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันชนิดไขมันอิ่มตัว และไขมันทรานส์ และน้ำตาล ซึ่งเป็นกลุ่มอาหารที่อาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นได้
โดยแหล่งของอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงก็เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว และนมวัวหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัวสูตรที่มีไขมัน ส่วนอาหารที่มักพบไขมันทรานส์มากก็เช่น มาการีน และขนมหวานต่าง ๆ
นอกจากนี้ นอกจากการลดปริมาณอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลแล้ว การเพิ่มการรับประทานอาหารที่ช่วยลดไขมันในเลือดก็อาจมีส่วนช่วยลดไขมันในเลือดได้เช่นกัน โดยกลุ่มสารอาหารที่ควรเพิ่มการรับประทานก็เช่น โอเมก้า 3 ใยอาหาร และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว
โดยกลุ่มอาหารที่มักพบสารอาหารเหล่านี้ได้มากก็เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ อะโวคาโด ข้าวโอ๊ต แซลมอน และถั่วแดง
3. ควบคุมน้ำหนักตัว
การมีน้ำหนักตัวมาก หรือภาวะอ้วน อาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในร่างกายลดลง และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low–Density Lipoprotein: LDL) เพิ่มขึ้นได้ การควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร จึงเป็นอีกวิธีที่อาจช่วยลดไขมันในเลือดได้
4. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
ควันบุหรี่ ทั้งการสูบเองและการได้รับควันบุหรี่มือสอง อาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีในร่างกายลดลง และระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีเพิ่มขึ้นได้
5. หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นได้ ดังนั้น ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำควรหลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม
6. รับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางชนิด
การรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมบางชนิดอาจมีส่วนช่วยในการควบคุมหรือลดไขมันในเลือดได้ เช่น
- น้ำมันปลา เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารอาหารที่อาจมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและไตรกลีเซอไรด์ในร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังใช้ยาละลายลิ่มเลือดควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
- ไซเลียม ฮัสค์ (Psyllium Husk) เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดหนึ่งที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำ (Soluble Fiber) เป็นส่วนผสมอยู่มาก ซึ่งสารอาหารชนิดนี้อาจมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
ทั้งนี้ ก่อนรับประทานอาหารเสริม ผู้รับประทานควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงความเหมาะสมก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพใด ๆ อยู่ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย
7. เพิ่มพืชสมุนไพรบางชนิดในมื้ออาหาร
พืชสมุนไพรบางชนิดอาจมีส่วนช่วยในการลดระดับไขมันในร่างกายได้ โดยตัวอย่างพืชสมุนไพรที่อาจมีส่วนช่วยในด้านนี้ก็เช่น กระเทียม ขิง โหระพา
อย่างไรก็ตาม วิธีลดไขมันในเลือดด้วยตัวเองทั้งหมดที่ยกมาในข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการควบคุมหรือลดระดับไขมันในเลือดเท่านั้น ซึ่งในการจะลดไขมันในเลือดให้ได้ผล ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงก็ควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และรับประทานยาที่แพทย์ให้อย่างสม่ำเสมอร่วมด้วย