อาการโรคเซลิแอค (Celiac Disease) เกิดจากร่างกายสร้างภูมิต้านทานหรือสารต่อต้านกลูเตน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีอยู่ในพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลี จึงทำให้ไม่สามารถดูดซึมอาหารบริเวณลำไส้เล็กได้ และอาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหาร
โรคเซลิแอคเกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่มักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ หากเด็กมีอาการแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก และทำให้เด็กแคระแกร็นได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำจากแป้งและข้าวที่มีโปรตีนกลูเตน ซึ่งจะช่วยควบคุมไม่ให้เกิดอาการโรคเซลิแอครุนแรงขึ้น
อาการโรคเซลิแอคมีอะไรบ้าง
หลายคนเข้าใจว่าโรคเซลิแอคและอาการแพ้กลูเตนเป็นโรคเดียวกัน แต่ทั้งสองโรคมีความแตกต่างกัน โดยอาการแพ้กลูเตนจัดเป็นอาการแพ้อาหาร ซึ่งผู้ป่วยจะแพ้กลูเตนที่อยู่ในอาหาร จึงมีอาการเหมือนกับผู้ที่แพ้อาหารอื่น ๆ เช่น มีผื่นแดงคัน น้ำมูกไหล จาม คันตา ใบหน้าบวม และหายใจลำบาก ส่วนมากอาการแพ้จะเกิดทันทีหลังจากรับประทานอาหารที่มีกลูเตนเป็นส่วนประกอบ เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และข้าวไรย์
ส่วนโรคเซลิแอคต้องให้เวลาร่างกายสร้างภูมิต่อต้านกลูเตนที่รับประทาน ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าในการแสดงอาการ โดยอาการโรคเซลิแอคที่มักพบได้บ่อย ได้แก่
1. ปัญหาเรื่องระบบขับถ่าย
อาการโรคซิลิแอคที่พบบ่อยที่สุดคือปัญหาระบบขับถ่าย เพราะเมื่อระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตนแล้ว ก็จะทำให้ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือ ท้องเสีย ท้องอืด ท้องผูก ปวดท้อง อาการเหล่านี้อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว และมีอาการคลื่นไส้อาเจียนตามมา
2. ภาวะขาดสารอาหาร
โรคเซลิแอคทำให้ลำไส้เล็กเกิดการอักเสบจนไม่สามารถดูดซึมสารอาหารชนิดต่าง ๆ ได้ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร หากไม่ทำการรักษาอย่างทันท่วงทีก็จะยิ่งรุนแรงขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ภาวะขาดเกลือแร่ และอาจทำให้กล้ามเนื้อลีบลง เนื่องจากร่างกายไม่ได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ
3. น้ำหนักลดผิดปกติ
ผู้ที่มีอาการโรคเซลิแอคอาจมีน้ำหนักตัวลดลงมากผิดปกติทั้ง ๆ ที่รับประทานอาหารได้ปกติ เพราะเมื่อภูมิคุ้มกันตอบสนองต่ออาการแพ้จนทำให้เกิดภาวะลำไส้เล็กอักเสบ ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ซึ่งในเด็กอาจส่งผลให้การเจริญเติบโตและพัฒนาการไม่เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ
4. ลักษณะอุจจาระผิดปกติ
ผู้ป่วยโรคเซลิแอคจะมีลักษณะอุจจาระที่ผิดไปจากเดิม โดยอาจมีสีที่อ่อนลง มีไขมันปนในอุจจาระ และมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไขมันได้ ไขมันจึงถูกขับถ่ายออกมา โดยลักษณะอุจจาระของผู้ใหญ่จะค่อนข้างเหลว แต่ในเด็กอาจพบว่าถ่ายลำบากหรืออุจจาระแข็ง
5. อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
หากเริ่มรู้สึกอ่อนเพลียและไม่มีเรี่ยวแรงทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก และวิตามินต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลจากโรคเซลิแอคที่ทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้ดีเท่าที่ควร
6. อารมณ์แปรปรวน
โรคเซลิแอคไม่ได้ส่งผลถึงร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบถึงภาวะอารมณ์อีกด้วย อาจทำให้รู้สึกซึมเศร้า วิตกกังวล และหากอยู่ในช่วงก่อนมีประจำเดือน อารมณ์ก็จะยิ่งแปรปรวนมากขึ้น
7. ผิวหนังอักเสบ
อาการผิวหนังอักเสบพบได้ในผู้ที่มีโรคภูมิแพ้เกือบทุกชนิด รวมถึงโรคเซลิแอค แต่อาการผิวหนังอักเสบที่เกิดจากโรคเซลิแอคจะมีลักษณะเป็นผื่นคัน คล้ายตุ่มน้ำใส ๆ (Dermatitis Herpetiformis) ขึ้นได้ทั่วร่างกาย มักขึ้นบริเวณข้อศอก เข่า และก้น และเมื่อเกาตุ่มน้ำจะแตกออก อาการนี้จะหายไปหลังปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหาร โดยเลี่ยงอาหารที่มีโปรตีนกลูเตน
ทำอย่างไรเมื่อมีอาการโรคเซลิแอค
หากสังเกตพบอาการโรคเซลิแอคแล้ว สิ่งที่ควรทำคือรับประทานอาหารที่ปราศจากกลูเตน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เลย์ รวมทั้งอาหารที่ทำจากแป้งสาลีทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเส้นพาสต้า เบเกอรี่ หรืออาหารที่มีส่วนผสมของแป้งข้าวสาลี
หากผู้ป่วยเป็นเด็ก ผู้ปกครองควรแจ้งกับทางโรงเรียน หรือผู้ที่คอยดูแลเด็กถึงอาการเหล่านี้ เพื่อให้คอยช่วยสอดส่องและเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารของเด็ก
แม้ว่าอาการโรคเซลิแอคไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงแป้งในกลุ่มที่มีโปรตีนกลูเตนก็สามารถช่วยให้อาการของโรคสงบลงได้ อย่างไรก็ตาม การปรับพฤติกรรมและการดูแลสุขภาพ ควรทำภายใต้การแนะนำของแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด