รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio Placentae )

ความหมาย รกลอกตัวก่อนกำหนด (Abruptio Placentae )

Abruptio Placentae หรือภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อรกบางส่วนหรือทั้งหมดลอกตัวออกจากมดลูกของสตรีมีครรภ์ก่อนทารกคลอด ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกจากช่องคลอดและมีอาการเจ็บครรภ์ ส่วนทารกในครรภ์ก็อาจขาดออกซิเจนและสารอาหารได้ โดยภาวะนี้มีโอกาสเกิดขึ้นเพียงประมาณ 1 ใน 150 คน ซึ่งพบได้ในอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และอาจเป็นอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์หากไม่ได้รับการรักษาทันที

อาการของ รกลอกตัวก่อนกำหนด

โดยทั่วไป Abruptio Placentae มักเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย หรือเดือนที่ 7-9 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีอาการต่าง ๆ ที่เป็นสัญญาณ ดังนี้

  • มีเลือดออกทางช่องคลอด  
  • เจ็บครรภ์
  • ปวดหลัง
  • ท้องแข็งหรือมดลูกบีบตัว โดยมักบีบเป็นจังหวะ
  • อาจรู้สึกอ่อนเพลีย มีเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หรือเป็นลม
  • อาจเกิดภาวะน้ำเดิน ซึ่งมีเลือดปน
  • ทารกในครรภ์อาจไม่ดิ้น หรือดิ้นน้อยกว่าปกติ

ส่วนใหญ่อาการเจ็บปวดต่าง ๆ มักเกิดขึ้นทันที แต่ปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอดอาจมีมากหรือน้อยแตกต่างกัน บางกรณีอาจไม่มีเลือดออกเลย เนื่องจากเลือดอาจขังอยู่ภายในมดลูก ซึ่งปริมาณเลือดอาจไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของรกที่ลอกตัวออกมา

นอกจากนี้ ยังมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ภาวะ Abruptio Placentae เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ เช่น มีเลือดออกทางช่องคลอดแบบกะปริบกะปรอย มีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ และทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า เป็นต้น

รกลอกตัวก่อนกำหนด

สาเหตุของ รกลอกตัวก่อนกำหนด

ปัจจุบันในทางการแพทย์ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุของ Abruptio Placentae ได้ แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

  • การเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนบริเวณท้องในขณะตั้งครรภ์
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติดต่าง ๆ ขณะตั้งครรภ์
  • การตั้งครรภ์ลูกแฝด  
  • การติดเชื้อภายในมดลูกขณะตั้งครรภ์
  • หญิงตั้งครรภ์มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • หญิงตั้งครรภ์มีประวัติ Abruptio Placentae ในครรภ์ครั้งก่อน
  • การเกิดภาวะน้ำเดิน ซึ่งอาจทำให้สูญเสียน้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวทารกก่อนถึงกำหนดคลอด

การวินิจฉัย รกลอกตัวก่อนกำหนด

แพทย์อาจประเมินจากอาการและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยอาจตรวจเพิ่มเติมเพื่อประกอบการวินิจฉัยด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุของภาวะเลือดออกจากช่องคลอด การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ รวมถึงการตรวจอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจดูความผิดปกติในครรภ์ เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารก เพื่อประเมินอาการและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม

การรักษา รกลอกตัวก่อนกำหนด

การรักษา Abruptio Placentae จะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อย่างปริมาณเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอด อายุครรภ์ รวมถึงสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารก

หากอายุครรภ์ยังน้อย ทารกในครรภ์ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ แพทย์อาจตรวจอัตราการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ หากอัตราการเต้นของหัวใจยังเป็นปกติและการลอกตัวของรกไม่รุนแรงนัก อาจไม่จำเป็นต้องทำคลอดก่อนกำหนด แต่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิดจนกว่าอาการเลือดออกจะหยุดลง หากทารกมีอาการคงที่และไม่มีเลือดออกแล้ว แพทย์อาจอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อช่วยเร่งให้ปอดของทารกเจริญเต็มที่ ในกรณีที่จำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด

ในกรณีที่มีอายุครรภ์ใกล้ครบกำหนด หากอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ใช้วิธีคลอดธรรมชาติ โดยดูแลให้เด็กคลอดผ่านทางช่องคลอดอย่างระมัดระวัง แต่หากอาการค่อนข้างรุนแรงและเสี่ยงต่อสุขภาพของมารดาหรือทารก อาจต้องผ่าคลอดทันที และหากมารดาเสียเลือดมากก็อาจจำเป็นต้องได้รับการให้เลือดด้วย

ส่วนกรณีที่รกลอกตัวจากมดลูกจนหมดทุกส่วนหรือใกล้หมดทุกส่วน ผู้ที่ตั้งครรภ์ต้องเข้ารับการผ่าคลอดทางหน้าท้องทันที เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับมารดาและทารกในครรภ์

ภาวะแทรกซ้อนของ รกลอกตัวก่อนกำหนด

เนื่องจาก Abruptio Placentae เป็นภาวะที่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน จึงอาจส่งผลต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ ดังนี้

  • สำหรับมารดา Abruptio Placentae อาจส่งผลให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ จนอาจเกิดภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย หากถุงน้ำคร่ำที่ห่อหุ้มตัวทารกแตกหรือรั่ว อาจทำให้เกิดภาวะน้ำเดินร่วมด้วย ในบางกรณีอาจมีเลือดออกจากมดลูกจนต้องผ่าตัดมดลูกออก นอกจากนี้ อาจเสี่ยงเกิดภาวะตกเลือด ภาวะไตวาย หรืออวัยวะอื่น ๆ ทำงานล้มเหลว ทั้งยังอาจทำให้เกิดภาวะช็อกเนื่องจากเสียเลือดมากเกินไปจนเสี่ยงเสียชีวิตได้
  • สำหรับทารกในครรภ์ เด็กอาจเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เนื่องจากได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ และอาจต้องคลอดก่อนกำหนด โดยทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติและมีสุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งบางกรณีเด็กก็อาจเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์

การป้องกัน รกลอกตัวก่อนกำหนด

แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีป้องกัน Abruptio Placentae แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ในขณะตั้งครรภ์

  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงไม่ใช้สารเสพติดต่าง ๆ เป็นต้น
  • ดูแลสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง และควบคุมระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติอยู่เสมอ หากความดันโลหิตสูงก็ควรได้รับการดูแลจากแพทย์และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดเสมอ
  • ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้บาดเจ็บหรือเป็นอันตรายต่อครรภ์ หากเกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • สำหรับผู้ที่เคยเกิดภาวะนี้ในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์ครั้งต่อไป เพื่อหาวิธีลดความเสี่ยงต่อการเกิด Abruptio Placentae อีกครั้ง
  • รีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่าง ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของ Abruptio Placentae