Acetylcysteine (อะเซทิลซิสเทอีน)
Acetylcysteine (อะเซทิลซิสเทอีน) คือยาละลายเสมหะ ช่วยสลายมูกเหนียวข้นให้ระบบทางเดินหายใจขับมูกเสมหะเหล่านั้นออกมาได้จากโรคที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ปอดบวม ปอดอักเสบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น
นอกจากนี้ Acetylcysteine ยังนำมาใช้รักษาอาการจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด และภาวะตับอักเสบจากสารพิษบางอย่าง เช่น เห็ดพิษ เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายที่ตับ Acetylcysteine มีหลายรูปแบบ ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อคลามปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา
เกี่ยวกับ Acetylcysteine
กลุ่มยา | ยาละลายเสมหะ และยาต้านพิษ (Antidotes) |
ประเภทยา | ยาที่หาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ละลายเสมหะ ช่วยให้สลายมูกเหนียวข้นให้เบาบางลง และบรรเทาหรือป้องกันความเสียหายของตับจากยาพาราเซตามอลและสารพิษ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพื่อพิจารณาถึงประโยชน์และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา |
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีผลการศึกษาที่ระบุชัดเจนว่าตัวยาสามารถดูดซึมผ่านน้ำนมแม่ และก่อให้เกิดเกิดผลกระทบต่อเด็กทารกหรือไม่ ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้เว้นระยะเวลาก่อนการให้นมบุตรเป็นเวลาประมาณ 30 ชั่วโมงหลังรับประทานยา |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ดฟู่ ชนิดผงละลายน้ำ ชนิดน้ำ ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาสูดพ่น |
คำเตือนในการใช้ยา Acetylcysteine
- หากเคยมีอาการแพ้ยาชนิดนี้ หรือแพ้สารประกอบใด ๆ ที่เป็นส่วนผสมในยาชนิดนี้ ห้ามใช้ยา Acetylcysteine เด็ดขาด และควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- หากผู้ป่วยเคยมีอาการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารชนิดใดอยู่ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา เพราะส่วนประกอบของยาอาจมีสารก่อภูมิแพ้ที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการแพ้ได้
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ โรคไต หัวใจวาย และความดันโลหิตสูง
ปริมาณการใช้ยา Acetylcysteine
ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา Acetylcysteine เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เช่น
1. ละลายเสมหะ
การใช้ยา Acetylcysteine ในการละลายเสมหะที่เหนียวข้นและสะสมปริมาณมาก ซึ่งเกิดจากโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แบ่งออกเป็นยารับประทาน และยาสูดพ่น
ยารับประทาน
ผู้ใหญ่ และเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป รับประทานยา Acetylcysteine ชนิดเม็ดฟู่ ขนาดเม็ดละ 600 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานยาชนิดผงละลายน้ำ ครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง
เด็กอายุ 2–6 ปี รับประทานยาชนิดผงละลายน้ำ ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2–4 ครั้ง
ยาสูดพ่น
ผู้ใหญ่ ใช้ยา Acetylcysteine ความเข้มข้น 10% สูดพ่นครั้งละ 6–10 มิลลิลิตร วันละ 3–4 ครั้ง หรือยาที่มีความเข้มข้น 20% สูดพ่นครั้งละ 3–5 มิลลิลิตร วันละ 3–4 ครั้ง โดยใช้เครื่องพ่นละอองยา (Nebulizer)
2. ภาวะพิษจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด
การรักษาภาวะพิษจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดในผู้ใหญ่และเด็ก จะให้ยา Acetylcysteine ชนิดรับประทานหรือยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำตามดุลพินิจของแพทย์
ยารับประทาน
เด็กและผู้ใหญ่ ควรให้ยา Acetylcysteine ทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังพบว่ารับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด
โดยให้ยาน้ำความเข้มข้น 5% หรือยาเม็ดฟู่ เริ่มจากรับประทานยาที่ละลายกับน้ำขนาด 140 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 1 ครั้ง หลังจากผ่านไป 4 ชั่วโมง ให้รับประทานยาครั้งละ 70 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก ๆ 4 ชั่วโมง จำนวน 17 ครั้ง หรือจนกว่าจะตรวจไม่พบระดับพิษในร่างกายจากการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด
ยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
ผู้ใหญ่ และเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 41 กิโลกรัม ฉีดยาแบ่งเป็น 3 ครั้ง ภายใน 21 ชั่วโมง ดังนี้
- ฉีดยาปริมาณ 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 200 มิลลิตร ในเวลา 1 ชั่วโมง
- ตามด้วยยา 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 500 มิลลิตร ในเวลา 4 ชั่วโมง
- ตามด้วยยา 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 1,000 มิลลิตร ในเวลา 16 ชั่วโมง
เด็กที่มีน้ำหนักตัว 21–40 กิโลกรัม ฉีดยาแบ่งเป็น 3 ครั้ง ภายใน 21 ชั่วโมง ดังนี้
- ฉีดยาปริมาณ 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 100 มิลลิตร ในเวลา 1 ชั่วโมง
- ตามด้วยยา 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 250 มิลลิตร ในเวลา 4 ชั่วโมง
- ตามด้วยยา 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 500 มิลลิตร ในเวลา 16 ชั่วโมง
เด็กที่มีน้ำหนักตัว 5–20 กิโลกรัม ฉีดยาแบ่งเป็น 3 ครั้ง ภายใน 21 ชั่วโมง ดังนี้
- ฉีดยาปริมาณ 150 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 3 มิลลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในเวลา 1 ชั่วโมง
- ตามด้วยยา 50 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 7 มิลลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในเวลา 4 ชั่วโมง
- ตามด้วยยา 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อสารน้ำ 14 มิลลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในเวลา 16 ชั่วโมง
การใช้ยา Acetylcysteine
การรับประทานยา Acetylcysteine ละลายเสมหะชนิดเม็ดฟู่ ให้ละลายเม็ดฟู่ในน้ำประมาณ ½ –1 แก้ว และควรรับประทานพร้อมอาหาร ส่วนยาชนิดผง ให้ฉีกซองยาแล้วละลายผงยาในน้ำประมาณ 1 แก้ว อาจใช้ช้อนคนให้ยาละลายดี ยาที่ผสมน้ำแล้วควรดื่มให้หมดภายใน 2 ชั่วโมง หากผสมยากับน้ำอัดลมไม่ผสมน้ำตาล ควรดื่มให้หมดภายใน 1 ชั่วโมง
หากอาเจียนภายใน 1 ชั่วโมงหลังรับประทานยา Acetylcysteine เพื่อบรรเทาป้องกันภาวะพิษจากการรับประทานยาพาราเซตามอลเกินขนาด แพทย์อาจให้รับประทานยาซ้ำ
หากผู้ป่วยลืมรับประทานยาในรอบเวลาหนึ่ง ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้ถึงช่วงเวลาในการรับประทานยารอบถัดไป ให้ข้ามยารอบนี้แล้วรับประทานยาของรอบใหม่แทน โดยใช้ยาตามปริมาณปกติ ไม่เพิ่มปริมาณยา และไม่รับประทานยาเกินประมาณที่กำหนดในแต่ละครั้ง
ส่วนการเก็บรักษายาจะขึ้นอยู่กับชนิดของยา โดยทั่วไปควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 20–30 องศาเซลเซียส ไม่เก็บในที่ที่มีความร้อนและความชื้นสูง
นอกจากนี้ ในระหว่างที่ใช้ยา Acetylcysteine แพทย์อาจต้องตรวจอาการและผลข้างเคียงต่าง ๆ ทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ผู้ป่วยควรให้ความร่วมมือกับแพทย์อยู่เสมอ หรือมาพบแพทย์ตามนัดหมาย
ปฏิกิริยาระหว่างยา Acetylcysteine กับยาอื่น
การใช้ยา Acetylcysteine ร่วมกับยาบางชนิดอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของยาและเกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น
- ยาระงับอาการไอ (Cough Suppressants/Antitussives) เป็นยาที่ช่วยลดอาการไอ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายไม่สามารถขับเสมหะออกมาได้ และมีเสมหะสะสมในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น
- ผงถ่านกัมมันต์ (Activated Charcoal) อาจทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันสารพิษของ Acetylcysteine ลดลง
- ยารักษาความดันโลหิตสูง
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด
- ยาอื่น ๆ เช่น คลอโรควิน (chloroquine) ไนโตรกลีเซอริน (Nitroglycerin) คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Acetylcysteine
การใช้ยา Acetylcysteine อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงมาก และอาการอาจดีขึ้นหลังจากร่างกายปรับสภาพกับยาที่ได้รับ เช่น
หากอาการดังกล่าวไม่ทุเลาลง ยังคงป่วยอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาอาการต่อไป แต่กรณีที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรง เช่น อาเจียนไม่หยุด ไอหรืออาเจียนปนเลือด ปัสสาวะสีเข้ม เบื่ออาหาร อุจจาระเป็นสีเทา ตัวเหลือง ควรไปพบแพทย์
เช่นเดียวกับผู้ที่สังเกตว่ามีอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นลมพิษขึ้นที่ผิวหนัง หน้า ลิ้น และลำคอบวม หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที