Adjustment Disorders (ภาวะการปรับตัวผิดปกติ)

ความหมาย Adjustment Disorders (ภาวะการปรับตัวผิดปกติ)

Adjustment Disorders หรือภาวะการปรับตัวผิดปกติ เป็นความผิดปกติทางอารมณ์หรือพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการเผชิญความเครียดในสถานการณ์ต่าง ๆ จนไม่สามารถปรับตัวต่อเหตุการณ์ภายนอกได้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การเรียนและการทำงานตามมา 

Adjustment Disorders เป็นภาวะที่พบได้บ่อย สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภทย่อย ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันออกไป โดยส่วนมากผู้ป่วยมักจะเกิดความรู้สึกเศร้า หงุดหงิด กังวลใจ และอาการอาจมีความรุนแรงมากขึ้นจนมีความคิดฆ่าตัวตาย หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ 

 Adjustment Disorders (ภาวะการปรับตัวผิดปกติ)

อาการของ Adjustment Disorders

ผู้ป่วย Adjustment Disorders อาจมีอาการได้หลายแบบและแตกต่างกันไปตามชนิดย่อยของภาวะนี้ เช่น

  • รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง ร้องไห้บ่อย
  • ไม่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่เคยทำแล้วมีความสุข 
  • รู้สึกหนักใจ เป็นกังวล หงุดหงิด กระวนกระวายใจ หรือเครียด
  • รู้สึกกดดันเป็นอย่างมาก หลบหลีกจากสังคม
  • เลี่ยงการทำสิ่งสำคัญ เช่น การทำงาน การเรียน เป็นต้น
  • ไม่สามารถทำกิจกรรมประจำวันได้ตามปกติ
  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • เบื่ออาหาร
  • ไม่สามารถจดจ่อได้
  • ทำตัวแข็งกร้าวหรือหุนหันพลันแล่น
  • มือเท้าสั่นหรือมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะและเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ในร่างกาย
  • มีความคิดหรือพยายามจะฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยมักมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียดและอาการจะหายไปภายใน 6 เดือนหลังสิ้นสุดสถานการณ์นั้น แต่หากอาการคงอยู่มากกว่า 6 เดือนอาจส่งผลให้เกิดภาวะการปรับตัวผิดปกติเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่มีความเครียดจากปัจจัยภายนอก เช่น สิ่งแวดล้อม ที่ทำงาน สังคม เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เป็นต้น 

หากมีอาการคล้ายกับอาการของ Adjustment Disorders หรือเป็นเรื้อรัง มีสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดใหม่ หรือพบเจอเหตุการณ์กระทบจิตใจซ้ำ ๆ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและหาวิธีในการจัดการความเครียดที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรเข้าไปพบจิตแพทย์โดยเร่งด่วนหากมีความคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น

สาเหตุของ Adjustment Disorders

Adjustment Disorders มีสาเหตุมาจากการเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความเครียด โดยสถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุของความเครียดโดยตรงหรือเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด เช่น ปัญหาในโรงเรียน เรื่องทางเพศ ครอบครัว ความขัดแย้งของหรือคู่สมรส การหย่าร้าง ปัญหาด้านการเงินหรือการงาน คนรักเสียชีวิต การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เผชิญกับภัยพิบัติ หรือมีอาการเจ็บป่วยที่ไม่คาดคิด เป็นต้น

นอกจากนี้ ประสบการณ์ชีวิตอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะนี้ได้ โดยบางคนอาจมีความผิดปกติด้านสุขภาพจิต ได้รับความกดดันอย่างรุนแรงในวัยเด็ก หรือมีสถานการณ์ตึงเครียดเกิดขึ้นหลายอย่างในเวลาเดียวกัน 

อย่างไรก็ตาม การตอบสนองต่อความเครียดอาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยแวดล้อมภายนอกและปัจจัยเฉพาะบุคคล อย่างทักษะทางสังคม สติปัญญา พันธุกรรม และทักษะในการจัดการปัญหา จึงทำให้แต่ละคนรับมือกับความเครียดได้ไม่เท่ากัน 

การวินิจฉัย Adjustment Disorders

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ทางร่างกายและสุขภาพจิต ประวัติทางสังคม และอาจใช้เกณฑ์การวินิจฉัยโรคจิตเวช Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) ร่วมด้วย ซึ่งจากเกณฑ์การวินิจฉัยนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถแยกประเภทของ Adjustment Disorders และอาการอื่นได้เป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น ภาวะ Adjustment Disorders ที่เกิดร่วมกับอาการซึมเศร้า วิตกกังวล ผิดปกติในความประพฤติ หรือภาวะ Adjustment Disorders แบบที่ไม่สามารถระบุได้ เป็นต้น  

โดยเกณฑ์การวินิจฉัยตาม DSM-5 จะประกอบไปด้วย

  • มีอาการทางอารมณ์และพฤติกรรมเกิดขึ้นภายใน 3 เดือนหลังจากเจอกับสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียด
  • อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากความโศกเศร้าทั่วไปหรืออาการผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์อื่น ๆ 
  • รู้สึกเครียดมากกว่าปกติเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด และความเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความสัมพันธ์ของตนเองกับผู้คนรอบข้างและการใช้ชีวิตประจำ หรือเกิดอย่างใดอย่างหนึ่ง

การรักษา Adjustment Disorders

การรักษาจะมุ่งไปที่การบรรเทาอาการจาก Adjustment Disorders และช่วยให้ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด นอกจากนี้ จิตแพทย์อาจให้เพื่อน ครอบครัว หรือสังคมรอบข้างเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาควบคู่กับการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น 

การทำจิตบำบัด 

เป็นวิธีการรักษาด้วยการพูดคุย มีทั้งการพูดคุยแบบบุคคล กลุ่ม หรือครอบครัว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจกับเหตุของความเครียดและผลกระทบที่เกิดขึ้น มีกำลังใจในการรับมือกับความเครียด และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ นอกจากนี้ ยังมีการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) เพื่อช่วยเพิ่มทักษะด้านการสื่อสาร การควบคุมอารณ์โกรธหรือความต้องการของตนเอง และจัดการความเครียดได้ดีขึ้น

การใช้ยารักษา 

แพทย์จะใช้การรักษาด้วยยาไปพร้อมกับการทำจิตบำบัด อย่างยาต้านเศร้า (Antidepressants) หรือยาระงับอาการวิตกกังวล (Anti-Anxiety Drugs) ซึ่งอาจช่วยบรรเทาความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นพร้อมกับภาวะ Adjustment Disorders ในผู้ป่วยบางรายได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยห้ามหยุดใช้ยาด้วยตนเอง หากต้องการหยุดใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนการทุกครั้ง เพราะการหยุดใช้ยาด้วยตนเองอาจส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการคล้ายการถอนยา

การทำครอบครัวบำบัด

การรักษาด้วยครอบครัวบำบัดมักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น โดยมีการปรับหรือเปลี่ยนแปลงระบบภายในครอบครัว เช่น การพัฒนาทักษาะการพูด การสื่อสาร การเพิ่มการสนับสนุนหรือการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วย Adjustment Disorders ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลาสั้น ๆ แต่ในรายที่มีอาการ Adjustment Disorders แบบเรื้อรังหรือมีความผิดปกติด้านสุขภาพจิตมาก่อนอาจต้องใช้เวลาในการรักษานานขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Adjustment Disorders

ผู้ที่มีอาการของ Adjustment Disorders แล้วไม่ได้รับการรักษา อาจเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตอย่างรุนแรง อย่างโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ อาจไปกระตุ้นปัญหาสุขภาพที่มีอยู่เดิมให้กำเริบขึ้นมา และอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ การเรียน การทำงาน บางรายอาจมีการใช้สารเสพติดหรือแสดงออกทางพฤติกรรมรูปแบบต่าง ๆ เช่น การทำร้ายตนเอง การทำร้ายผู้อื่น และการฆ่าตัวตาย เป็นต้น

การป้องกัน Adjustment Disorders

Adjustment Disorders ไม่สามารถป้องกันได้ แต่การพัฒนาทักษะเพื่อรับมือและเรียนรู้ที่จะปรับตัวตามสถานการณ์จะช่วยในการเตรียมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่ส่งผลให้เกิดความเครียดได้ดี เช่น มองโลกในแง่ดี มีความยืดหยุ่นทางจิตใจเพื่อรับมือกับความเครียด เคารพและมองเห็นคุณค่าในตนเอง เป็นต้น

นอกจากนี้ หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดหรือความกดดันได้ดี ควรไปปรึกษากับแพทย์หรือจิตแพทย์ ซึ่งจะช่วยแนะนำวิธีรับมือกับความเครียดอย่างถูกวิธี