โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia)

ความหมาย โรคกลัวที่ชุมชน (Agoraphobia)

Agoraphobia หรือโรคกลัวที่ชุมชน เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่ง โดยผู้ป่วยมักรู้สึกกลัวและวิตกกังวลเมื่ออยู่ในสถานที่หรือสถานการณ์ที่ตนคิดว่าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากใครได้หากมีเรื่องร้ายเกิดขึ้น รวมถึงกลัวสถานที่หรือสถานการณ์ที่อาจทำให้รู้สึกอับอายและเกิดอาการตื่นตระหนกได้ ซึ่งไม่ใช่เพียงสถานที่ที่มีคนจำนวนมากเท่านั้น แต่อาจเป็นสถานที่ปิดและคับแคบ รวมถึงอาจกลัวการถูกทิ้งให้อยู่ในบ้านคนเดียวด้วยเช่นกัน

1637 Agoraphobia resized

อาการของโรคกลัวที่ชุมชน

ผู้ป่วยโรค Agoraphobia ส่วนใหญ่มักรู้สึกกลัวเมื่อต้องอยู่ในเหตุการณ์ต่อไปนี้

  • อยู่ภายในบ้านคนเดียวเป็นเวลานาน
  • อยู่ท่ามกลางผู้คนจำนวนมาก
  • อยู่ในสถานที่ปิดหรือคับแคบ เช่น ลิฟต์ หรือโรงภาพยนตร์ เป็นต้น
  • อยู่ในสถานที่เปิดและกว้างขวาง เช่น ห้างสรรพสินค้า หรือลานจอดรถ เป็นต้น
  • ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ เครื่องบิน รถไฟ เป็นต้น

นอกจากอาการกลัวและวิตกกังวล ผู้ป่วยอาจแสดงพฤติกรรมหรือมีอาการผิดปกติ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว หากจำเป็นต้องอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวจะรู้สึกวิตกกังวลอย่างมาก หรือต้องการพาคนใกล้ชิดไปด้วย เพื่อช่วยให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
  • เกิดอาการตื่นตระหนกหรือที่เรียกว่าภาวะแพนิค เช่น หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ เจ็บหน้าอก มีเหงื่อออก รู้สึกร้อนวูบวาบ เป็นเหน็บตามนิ้วมือหรือเท้า หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องเสีย เคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ เป็นต้น

สาเหตุของโรคกลัวที่ชุมชน

ในทางการแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรค Agoraphobia ได้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่ามีหลายปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น สุขภาพและสภาวะจิตใจของผู้ป่วย พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเผชิญโรค Agoraphobia มากกว่าคนทั่วไป

  • ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล มีภาวะแพนิค โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคกลัวชนิดอื่น ๆ เช่น โรคกลัวที่แคบ หรือโรคกลัวการเข้าสังคม เป็นต้น
  • เคยประสบกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือคนใกล้ตัวเสียชีวิต เป็นต้น
  • มีพฤติกรรมใช้สารเสพติด
  • มีคนในครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคนี้
  • เป็นเพศหญิงหรือเป็นผู้ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว เพราะอาจมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนกลุ่มอื่น

การวินิจฉัยโรคกลัวที่ชุมชน

การวินิจฉัยโรค Agoraphobia แพทย์มักประเมินจากอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยแพทย์จะสอบถามถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และช่วงเวลาที่เริ่มเกิดอาการ รวมถึงซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและคนในครอบครัว หากพบว่ามีแนวโน้มเป็นโรคนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจร่างกายเบื้องต้น เพื่อให้แน่ใจว่าอาการดังกล่าวไม่ได้เกิดจากโรคอื่นที่อาจแสดงอาการใกล้เคียงกับโรคนี้
  • การตรวจเลือด สารบางชนิดในเลือดอาจบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ แพทย์จึงอาจนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติ
  • การวิเคราะห์ทางจิต แพทย์อาจนำหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตที่เรียกว่า Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) ซึ่งจัดทำโดยสมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกามาใช้เป็นแนวทางวินิจฉัยโรคควบคู่กับวิธีอื่น ๆ ด้วย

การรักษาโรคกลัวที่ชุมชน

การรักษาโรค Agoraphobia อาจจำเป็นต้องใช้หลายวิธีควบคู่กัน เพื่อประสิทธิภาพทางการรักษาที่ดีที่สุด ดังนี้

การทำจิตบำบัด เป็นการปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อเรียนรู้วิธีรับมือกับความรู้สึกวิตกกังวลที่เกิดขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดพฤติกรรมและการรู้คิด ซึ่งเป็นการปรับวิธีคิดและพฤติกรรมเพื่อรับมือกับความรู้สึกวิตกกังวลอย่างเหมาะสม โดยชี้ให้ผู้ป่วยเข้าใจความคิดและพฤติกรรมที่ผิดปกติของตนเอง ควบคู่ไปกับการเผชิญหน้าสภาวะแวดล้อมที่ผู้ป่วยกลัวทีละน้อยอย่างสม่ำเสมอ และค่อย ๆ ปรับระดับความใกล้ชิดให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ลดระดับความกลัวลง

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำภายใต้การดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะจำเป็นต้องมีลำดับขั้นตอนในการบำบัดที่ถูกต้องและเหมาะสม หากลองทำเองอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายได้ ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถออกนอกที่พักอาศัยได้ อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญผ่านทางโทรศัพท์ หรือเชิญแพทย์และผู้เชี่ยวชาญมาบำบัดให้ที่บ้าน

การรับประทานยา ในบางครั้งแพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาเพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลและอาการแพนิคที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกกลัว

โดยยาที่แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ ได้แก่

  • ยาต้านอาการซึมเศร้า มีสรรพคุณช่วยลดความวิตกกังวลและรักษาอาการแพนิค แต่ผู้ป่วยไม่ควรเริ่มรับประทานยาหรือหยุดใช้ยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ และต้องใช้ยาตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะยาชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
  • ยาคลายกังวล แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาเบ็นโซไดอาเซพีน (Benzodiazepine) เพื่อบรรเทาอาการวิตกกังวลที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ควรใช้ตามปริมาณที่แพทย์กำหนดเท่านั้น เพราะหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการเสพติด ส่วนผู้ที่มีประวัติติดสุราหรือติดยาเสพติด ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการนำอาหารหรือสมุนไพรที่มีสรรพคุณคลายอาการวิตกกังวลมาแปรรูปเป็นอาหารเสริมด้วย แต่ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมใด ๆ เสมอ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอาหารเสริมที่ทำจากพืชกาวากาวา (Kava Kava) ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่าการรับประทานอาหารเสริมที่มีพืชชนิดนี้เป็นส่วนประกอบแม้ในระยะเวลาสั้น ๆ ก็อาจทำให้ไตทำงานผิดปกติได้

การปรับพฤติกรรม การปรับความคิดและพฤติกรรมตามคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยให้ผู้ป่วยคลายอาการวิตกกังวลและควบคุมอาการแพนิคของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

  • ไปพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ และรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์กำหนด
  • พยายามเผชิญหน้ากับสภาพแวดล้อมที่ตัวเองกลัวทีละนิด โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกสมาธิและทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เช่น การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ การนวด เป็นต้น
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเคมีในสมองที่ทำให้รู้สึกมีความสุขและผ่อนคลาย
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ ธัญพืช และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน และไม่ใช้สารเสพติด
  • หากเกิดอาการแพนิค ให้พยายามเบี่ยงเบนความสนใจของตัวเองไปที่เรื่องอื่น และหายใจเข้าออกอย่างช้า ๆ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกลัวที่ชุมชน

ผู้ป่วยโรค Agoraphobia บางราย โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการรุนแรง อาจไม่สามารถออกจากที่พักอาศัยได้เลย จึงต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากและพึ่งพาผู้อื่นอยู่เสมอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เสี่ยงต่อการเผชิญภาวะซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางจิตชนิดอื่น ๆ อย่างโรควิตกกังวลหรือโรคบุคลิกภาพผิดปกติ รวมถึงมีความเสี่ยงเลือกใช้วิธีที่ผิดในการรับมือภาวะที่เกิดขึ้นอย่างการพึ่งพิงสารเสพติดหรือแอลกอฮอล์

การป้องกันโรคกลัวที่ชุมชน

การป้องกันโรค Agoraphobia นั้นทำได้ค่อนข้างยาก เพราะทางการแพทย์ยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคนี้ได้อย่างแน่ชัด ส่วนผู้ที่พบว่าตนเองเริ่มมีอาการวิตกกังวลเมื่อไปสถานที่ใด ให้พยายามไปสถานที่ดังกล่าวบ่อย ๆ จนคุ้นชิน เพื่อป้องกันความรู้สึกวิตกกังวลรุนแรงขึ้นจนเป็นโรคนี้ ทั้งนี้ หากมีอาการวิตกกังวลร่วมกับอาการแพนิค ให้รีบไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสมทันที