Angina Pectoris

ความหมาย Angina Pectoris

Angina Pectoris เป็นอาการเจ็บแน่นหน้าอกที่เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดแดงที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง เมื่อหัวใจขาดเลือดจึงส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกบีบหรือเหมือนมีน้ำหนักมากดทับบริเวณหน้าอก โดยอาการอาจเกิดขึ้นได้ระหว่างออกแรงหรืออาจเกิดในขณะหยุดพักหากโรคมีความรุนแรง

ในบางครั้งอาการเหล่านี้อาจหายไปได้เอง แต่ในบางกรณีก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจและรีบไปพบแพทย์ทันที อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคนี้อาจทำได้ยาก เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับสาเหตุของอาการจ็บหน้าอกประเภทอื่น อย่างอาการอาหารไม่ย่อย ดังนั้น หากมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

angina pectoris

อาการของ Angina Pectoris

อาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ รู้สึกเจ็บแน่นเหมือนถูกกดหรือบีบเค้นบริเวณหน้าอก มักเกิดบริเวณกลางหน้าอกหรืออกฝั่งซ้าย รู้สึกปวดร้าวไปที่คอ กราม ไหล่ หรือแขนทั้งสองข้าง โดยเฉพาะร่างกายฝั่งด้านซ้าย หายใจได้สั้นลง มีเหงื่อออกมามาก รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนแรง เวียนศีรษะ รวมถึงอาจรู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน

Angina Pectoris สามารถแบ่งได้หลายประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่

  • Stable Angina เป็นประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด อาจเกิดระหว่างออกแรงทำกิจกรรม เช่น การออกกำลังกายหรือขึ้นบันได ฯลฯ มักเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยอาการอาจคงอยู่ประมาณ 5 นาทีหรือน้อยกว่านั้น อาการจะหายไปเมื่อได้หยุดพักหรือใช้ยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ 
  • Unstable Angina เกิดขึ้นได้ขณะที่หยุดพักหรือไม่ได้ทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยที่ผู้ป่วยไม่ได้คาดคิดหรือไม่มีสัญญาณของโรคบ่งบอกก่อน สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดรุนแรงกว่าและอาการสามารถคงอยู่ได้ยาวนานกว่าประเภท Stable Angina โดยผู้ป่วยอาจมีอาการได้นานถึง 30 นาทีหรือมากกว่านั้น และอาการอาจไม่หายไปแม้จะหยุดพักหรือใช้ยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือดได้ จึงถือว่าเป็นประเภทที่มีความร้ายแรงและควรเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด
  • Microvascular Angina เป็นอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจได้รับเลือดไม่เพียงพอ อาการมักคงอยู่นานกว่า 10 นาที และมักพบในเพศหญิง
  • Prinzmetal's Angina หรือ Variant Angina เป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก อาจเกิดขึ้นในตอนกลางคืนขณะนอนหลับหรือพักผ่อน โดยที่หลอดเลือดหัวใจเกิดการตีบตันอย่างฉับพลัน ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเป็นอย่างมาก จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้รับยาอมขยายหลอดเลือดหัวใจ

หากพบว่าตนเองมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัดว่าเป็นอาการ Angina Pectoris ประเภทใดและทำการรักษาอย่างเหมาะสม เนื่องจากกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นอาจมีความคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ ได้

สาเหตุของ Angina Pectoris 

Angina Pectoris ส่วนมากมักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเมื่อไขมันจับตัวสะสมเป็นคราบตะกรันหรือพลัค (Plaque) ในหลอดเลือดแดง จะทำให้การไหลเวียนเลือดเพื่อไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตัน และทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแคบลง หัวใจจึงต้องทำงานโดยขาดออกซิเจน ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกขึ้น ในบางกรณีอาจเกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงจนนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือดได้ 

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นที่อาจทำให้เกิด Angina Pectoris ได้ แต่มักพบได้น้อย ได้แก่ การอุดตันของหลอดเลือดแดงในปอด (Pulmonary Embolism) กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy) ลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ที่หัวใจเกิดการฉีกขาด (Aortic Dissection) เป็นต้น 

ทั้งนี้ Angina Pectoris จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าปกติเมื่อร่างกายต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น เช่น เมื่อออกกำลังกายหรือเมื่อต้องใช้แรง แต่ขณะที่หยุดพัก กล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการออกซิเจนน้อยลง จึงไม่ไปกระตุ้นการเกิด Angina Pectoris มากนัก

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิด Angina Pectoris เช่น

  • มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง มีระดับระดับไตรกลีเซอไรด์หรือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีในเลือดสูง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และอาจนำไปสู่ Angina Pectoris และภาวะหัวใจขาดเลือด
  • คนในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจหรือภาวะหัวใจขาดเลือด บุตรหลานก็มีความเสี่ยงมากขึ้นในการเป็น Angina Pectoris มากขึ้น 
  • อายุมาก โดยเฉพาะเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปี และเพศหญิงที่อายุมากว่า 55 ปี จะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด Angina Pectoris มากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี เช่น การสูบบุหรี่ การได้รับควันบุหรี่จากบุคคลใกล้ชิดเป็นเวลานาน การไม่ออกกำลังกาย การเกิดความเครียดสะสม เป็นต้น

การวินิจฉัย Angina Pectoris

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติทางการแพทย์หรือบุคคลในครอบครัวที่อาจพบว่าสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Angina Pectoris รวมทั้งทำการตรวจร่างกายเบื้องต้นและอาจมีการตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG) เป็นการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง โดยจะถูกบันทึกด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้แพทย์สามารถตรวจดูรูปแบบการทำงานของหัวใจ ซึ่งอาจตรวจพบความผิดปกติของการไหลเวียนของเลือดหรือภาวะหัวใจขาดเลือดได้
  • การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) ในบางกรณี Angina Pectoris สามารถตรวจพบได้ง่ายเมื่อให้ผู้ป่วยออกแรง โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยเดินบนลู่วิ่งหรือขี่จักรยานออกกำลังกาย จากนั้นจะตรวจดูความดันโลหิตและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หากผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายได้ แพทย์อาจให้ยาที่กระตุ้นการทำงานของหัวใจเสมือนการเลียนแบบการออกกำลังกาย
  • การทำเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงจำลองภาพของหัวใจเพื่อใช้ในการตรวจอาการผิดปกติของหัวใจและตรวจดูว่ากล้ามเนื้อหัวใจส่วนใดที่อาจถูกทำลายจากการสูบฉีดเลือดได้ไม่ดี บางกรณีแพทย์อาจทำเอคโค่หัวใจระหว่างการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย เพื่อดูว่าบริเวณใดของหัวใจที่ได้รับเลือดไม่เพียงพอ
  • การถ่ายภาพรังสี เป็นการเอกซเรย์ช่องอกแสดงภาพปอดและหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจอาการผิดปกติหรืออาจตรวจพบภาวะหัวใจโตได้ในบางกรณี นอกจากนี้ แพทย์อาจทำซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจหรือหลอดเลือด
  • การตรวจเลือด เนื่องจากผลเลือดจะแสดงปริมาณที่ผิดปกติของเอนไซม์หรือโปรตีนบางชนิดในเลือด จึงช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจขาดเลือดได้
  • การสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์พร้อมกับการฉีดสารสีเพื่อตรวจดูการทำงานภายในหลอดเลือดหัวใจ

การรักษา Angina Pectoris

การรักษาสามารถทำได้หลายวิธี โดยจะแตกต่างกันไปตามประเภทและระดับความรุนแรงของโรค เป้าหมายของการรักษาคือเพื่อลดความถี่และความรุนแรงของอาการลง รวมถึงลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและการเสียชีวิตได้ การรักษาสามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

หากผู้ป่วยมีอาการไม่มากนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจช่วยรักษาโรคได้ หรือหากมีอาการร้ายแรงก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้ สามารถทำได้โดย

  • เลิกบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่จากบุคคลอื่น
  • ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
  • เมื่อต้องทำกิจกรรมที่ใช้แรง ไม่ควรหักโหมจนเกินไป ควรผ่อนแรงลงหรือหาช่วงพักเป็นระยะ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ ฯลฯ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงและการรับประทานมื้อใหญ่ที่ทำให้อิ่มจนเกินไป
  • ดูแลตัวเองเป็นพิเศษในกรณีที่มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือคอเลสเตอรอลสูง
  • หลีกเลี่ยงความเครียดและหาวิธีการผ่อนคลาย หากไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองอาจปรึกษาแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำวิธีลดความเครียด
  • ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่เกินวันละ 2 หน่วยต่อวันสำหรับเพศชาย และไม่เกิน 1 หน่วยต่อวันสำหรับเพศหญิง ทั้งนี้ ปริมาณบริโภคต่อหน่วยอาจจำแนกตามประเภทของเครื่องดื่มได้ดังนี้ เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% จะมีหนึ่งหน่วยประมาณ 360 มิลลิลิตร ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 12% จะมีหนึ่งหน่วยประมาณ 150 มิลลิลิตร และสุราที่มีแอลกอฮอล์ 40% จะมีหนึ่งหน่วยอยู่ที่ 45 มิลลิลิตรโดยประมาณ

การรักษาโดยใช้ยา

หากใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล อาจต้องใช้ยาในการรักษา ได้แก่ยาดังต่อไปนี้

  • ยากลุ่มไนเตรท จะช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีขึ้น โดยตัวยาที่นิยมนำมารักษา Angina Pectoris ได้แก่ ยาไนโตรกลีเซอรีนและยาไอโซซอร์ไบด์ไดไนเตรต (Isosorbide Dinitrate)
  • แอสไพริน ป้องกันการอุดตันของลิ่มเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ผ่านหลอดเลือดหัวใจ แต่ควรรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์
  • กลุ่มยาต้านเกล็ดเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจับตัวเป็นลิ่มเลือด มักจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาแอสไพรินได้ เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ยาพราซูเกรล (Prasugrel) หรือยาทิคาเกรเตอร์ (Ticagrelor) 
  • ยาเบต้าบล็อกเกอร์ ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ ยังช่วยในการทำงานของหลอดเลือดและทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น 
  • กลุ่มยาสเตติน (Statins) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันการอุดตันของหลอดเลือด

การรักษาโดยวิธีการทางการแพทย์

หากรักษาด้วยการใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาการอุดตันของหลอดเลือดแดงด้วยวิธีการผ่าตัด ได้แก่

  • การผ่าตัดขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูนและการใส่ขดลวด เพื่อขยายหลอดเลือดแดงที่ตีบตัน ช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น โดยเหมาะกับผู้ป่วยประเภท Unstable Angina หรือผู้ป่วยที่รักษาด้วยการปรับพฤติกรรมและการใช้ยาแล้วไม่ได้ผล
  • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยแพทย์จะใช้หลอดเลือดที่อยู่ในสภาพดี ซึ่งนำมาจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย มาเชื่อมต่อแทนหลอดเลือดที่อุดตันหรือตีบตัน ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและบรรเทาอาการ Angina Pectoris โดยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยทั้งประเภท Stable Angina และ Unstable Angina ที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่น

ภาวะแทรกซ้อนของ Angina Pectoris 

Angina Pectoris มักเป็นอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้หัวใจบางส่วนได้รับเลือดไม่เพียงพอและเกิดอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย รวมทั้งอาจทำให้การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอย่างการเดินเกิดความไม่สะดวกหรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดตามมา 

การป้องกัน Angina Pectoris 

Angina Pectoris อาจไม่มีวิธีที่สามารถป้องกันได้อย่างสิ้นเชิง แต่การหมั่นดูแลสุขภาพจะช่วยชะลอหรือลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ โดยสามารถทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำตามที่แพทย์ให้คำแนะนำ
  • จัดการกับความเครียด
  • ไม่สูบบุหรี่หรือเลิกสูบหากเป็นผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว
  • รักษาน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
  • ดูแลสุขภาพเป็นพิเศษหากมีอาการของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และภาวะน้ำหนักเกิน
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เกินวันละ 2 หน่วยต่อวันสำหรับเพศชาย และไม่เกิน1 หน่วยต่อวันสำหรับเพศหญิง
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไวรัสที่อาจเกิดขึ้นที่บริเวณหัวใจ