ความหมาย Aortic Dissection (ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด)
Aortic Dissection หรือภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดแดงใหญ่ได้รับความเสียหาย โดยเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวฉีกขาดและแยกออกจากกัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ตามปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างฉับพลันและรุนแรง มีเหงื่อออกมาก และระดับความดันโลหิตระหว่างแขนทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
ภาวะหลอดเลือดแดงใหญ่ฉีกขาดสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ตามตำแหน่งที่หลอดเลือดแดงได้รับความเสียหาย ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้มีระดับความรุนแรงและวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม Aortic Dissection เป็นภาวะฉุกเฉินที่มีความรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
อาการของ Aortic Dissection
ภาวะ Aortic Dissection อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างฉับพลันและรุนแรง รู้สึกคล้ายถูกฉีก ดึง หรือเฉือน โดยอาการปวดจะลามไปยังกรามล่าง คอ ไหล่ และหลังคล้ายกับโรคหัวใจ และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
- ปวดหรือเจ็บท้องอย่างฉับพลันและรุนแรง
- มีเหงื่ออกมาก
- หายใจไม่อิ่มหรือหายใจลำบากขณะนอนราบ
- ปวดขา มีปัญหาเกี่ยวกับการเดิน หรือมีอาการอัมพาตบริเวณขา
- มีปัญหาด้านการพูด การมองเห็น กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันคล้ายกับอาการของโรคหลอดเลือดสมอง
- กลืนลำบาก
- ชีพจรเต้นแผ่วในแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือแผ่วกว่าผู้อื่น ๆ เมื่อเทียบกัน
- หมดสติ
ทั้งนี้ หากพบว่าตนเองมีอาการคล้ายกับอาการที่กล่าวไปข้างต้น ควรเข้าพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากภาวะ Aortic Dissection มีความรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
สาเหตุของ Aortic Dissection
Aortic Dissection เกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณที่มีความเปราะบางได้รับความเสียหายหรือฉีกขาด สามารถแบ่งตามตำแหน่งที่เกิดอาการได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิด A เป็นชนิดที่พบได้มากและเป็นอันตรายเนื่องจากการฉีกขาดเกิดขึ้นกับหลอดเลือดแดงใหญ่ที่นำเลือดออกจากหัวใจหรืออยู่ด้านบนในตำแหน่งใกล้กับหัวใจ และชนิด B เป็นชนิดที่เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่อยู่ทางด้านล่างห่างจากหัวใจ
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดเลือดอาจเป็นผลมาจากภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังจนกระทบต่อเนื้อเยื่อของหลอดเลือดแดงใหญ่ ความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ผนังหลอดเลือดเปราะบางหรือหลอดเลือดมีขนาดใหญ่กว่าปกติ หรือการบาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก แต่ที่พบได้ค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ บางปัจจัยอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงฉีกขาดได้มากขึ้น ได้แก่
- เพศชายจะมีความเสี่ยงจะมากกว่าเพศหญิง
- มีอายุมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่มีภาวะ Aortic Dissection จะมีอายุในช่วง 60–80 ปี
- มีภาวะความดันโลหิตสูง
- เป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคหลอดเลือดหัวใจพิการแต่กําเนิด (Aortic Coarctation) โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกผิดปกติแบบสองใบแต่กำเนิด (Bicuspid Aortic Valve)
- เป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มอาการเทอร์เนอร์หรือมาร์แฟนซินโดรม (Marfan Syndrome)
- เป็นโรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด อย่างโรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome)
การวินิจฉัย Aortic Dissection
การวินิจฉัย Aortic Dissection อาจทำได้ยาก เนื่องจากเป็นภาวะที่มีอาการคล้ายกับหลาย ๆ โรค จึงจำเป็นต้องวินิจฉัยด้วยวิธีประกอบกัน เบื้องต้นจะมีการสอบถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยและครอบครัว ฟังเสียงการทำงานของหัวใจ ปอดและท้อง เพื่อตรวจหาเสียงผิดปกติที่เกิดขึ้นจากหลอดเลือดแดงใหญ่
หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บคล้ายโดนฉีกบริเวณหน้าอกอย่างฉับพลัน ความดันโลหิตต่ำ ระดับความดันโลหิตระหว่างแขนทั้งสองข้างต่างกัน หรือเอกซเรย์แล้วพบว่าหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง ได้ยินเสียงผิดปกติอื่น ๆ มีอาการคล้ายหัวใจวายหรือมีอาการช็อก แต่ระดับความดันโลหิตยังอยู่ในระดับปกติ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติม ดังนี้
-
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG)
เป็นการตรวจการทำงานของคลื่นหัวใจเพื่อค้นหาความผิดปกติในระบบการทำงานของหัวใจ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดแดงฉีกขาดบางรายเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจควบคู่ไปกับวิธีอื่น ๆ เนื่องจากผลการตรวจด้วยวิธีนี้อาจมีความคล้ายกับอาการของโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ได้
-
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านทางหลอดอาหาร (Transesophageal echocardiogram: TEE)
แพทย์จะใช้เครื่องมือที่ลักษณะคล้ายด้ามสอดเข้าไปทางหลอดอาหาร โดยไปจ่อใกล้หัวใจเพื่อให้เครื่องมือนั้นส่งคลื่นเสียงความถี่สูงออกไปแล้วสะท้อนออกมาเป็นรูปภาพหัวใจแบบเรียลไทม์ (Realtime) ทำให้แพทย์สามารถเห็นการทำงานของหัวใจอย่างชัดเจน
-
การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
เป็นการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อแสดงภาพของหัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ และเส้นเลือดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยบางรายอาจต้องฉีดสีชนิดพิเศษเพื่อช่วยให้เห็นรายละเอียดของอวัยวะดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ซึ่งแพทย์สามารถนำผลจากการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มาใช้ประกอบการวินิจฉัยได้
นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่แพทย์อาจใช้ในการวินิจฉัยภาวะ Aortic Dissection เช่น การเอกซเรย์ การตรวจด้วยเครื่อง MRI บริเวณหน้าอก การทำเอ็กโคหัวใจแบบวางหัวตรวจไว้บนหน้าอก (Echocardiogram) และการตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดแบบดอปเปลอร์อัลตราซาวด์ (Doppler Ultrasound) เป็นต้น
การรักษา Aortic Dissection
แพทย์จะรักษาผู้ป่วยตามชนิดของ Aortic Dissection ที่เกิดขึ้น ดังนี้
การรักษา Aortic Dissection ชนิด A
เนื่องจากตำแหน่งของการฉีกขาดนั้นเกิดใกล้กับหัวใจและอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต แพทย์จึงต้องผ่าตัดแก้ไขหลอดเลือดที่ฉีกขาดอย่างเร่งด่วนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เลือดไหลเวียนกลับไปยังเส้นทางปกติ โดยอาจใช้หลอดเลือดเทียมร่วมด้วย ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะลิ้นหัวใจรั่วในบริเวณที่หลอดเลือดได้รับความเสียหายด้วย แพทย์อาจผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจไปในการผ่าตัดครั้งเดียวกัน
นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยาเพื่อช่วยรักษาระดับความดันเลือดของผู้ป่วยก่อนทำการผ่าตัด และใช้ยาชนิดต่าง ๆ ในการป้องกันไม่ให้อาการมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อย่างยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) และยาไนโตรพลัสไซด์ (Nitroprusside) เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจและลดระดับความดันโลหิต
การรักษา Aortic Dissection ชนิด B
ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นจะต้องเข้ารับการผ่าตัดทันทีหากความเสียหายของหลอดเลือดแดงใหญ่อยู่ห่างจากหัวใจ แต่จำเป็นจะต้องควบคุมระดับความดันเลือดให้ใกล้เคียงกับค่าปกติด้วยการใช้ยารักษาโรคความดันโลหิตและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่การฉีกขาดของหลอดเลือดแดงมีความรุนแรงมากขึ้นหรือเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยด่วนด้วยการผ่าตัดเนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ภายหลังเข้ารับการรักษา ผู้ป่วย Aortic Dissection อาจจำเป็นต้องรับประทานยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิตตลอดชีวิต และตรวจติดตามอาการด้วยเครื่อง MRI หรือ CT Scan เป็นระยะ ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของ Aortic Dissection
ผู้ป่วย Aortic Dissection อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เกิดขึ้น เนื่องจากเลือดที่ใช้ในการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ ไหลเวียนลดลงหรือไม่เพียงพอ ส่งผลให้อวัยวะในร่างกายได้รับความเสียหายหรือทำงานผิดปกติ โดยอาการอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ หรือเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมถึงอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะเลือดออกในอวัยวะภายใน และภาวะลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจมีความรุนแรงจนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
การป้องกัน Aortic Dissection
การป้องกันและลดความเสี่ยงจากภาวะ Aortic Dissection ด้วยตนเองทำได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- หากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเจ็บป่วยด้วยภาวะ Aortic Dissection ควรพูดคุยปรึกษากับแพทย์ โดยแพทย์ช่วยจะตรวจประเมินความเสี่ยงในกรณีมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะนี้ เช่น ผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต เป็นต้น
- ควบคุมระดับความดันโลหิตด้วยการรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและหมั่นตรวจเช็คระดับความดันโลหิตของตนเองอยู่เสมอ
- เลิกสูบบุหรี่ โดยการวางแผนและปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ช่วยเลิกบุหรี่ให้หายขาด
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานโดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารโซเดียมต่ำ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อป้องกันการได้รับปาดเจ็บอย่างรุนแรงบริเวณหน้าอก