ความหมาย ข้ออักเสบ (Arthritis)
Arthritis (ข้ออักเสบ) คือ ภาวะที่ข้อต่อกระดูกเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อ ข้อติด หรือข้อบวม ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยภาวะ Arthritis มีหลายประเภท แต่ที่พบบ่อย คือ โรคข้อเสื่อมและรูมาตอยด์ ภาวะนี้พบมากในผู้สูงอายุและสามารถรักษาได้หลายวิธี เพื่อบรรเทาอาการและทำให้ข้อต่อกลับมาใช้งานได้ดีขึ้น
อาการของข้ออักเสบ
ผู้ที่มีภาวะ Arthritis จะมีอาการหลัก คือ ปวดข้อ ข้อติด บวม แดง รวมถึงขยับข้อต่อได้ไม่เต็มที่ โดยผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการข้ออักเสบรุนแรงในช่วงเช้า นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์อันเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- ไม่สบายตัว
- เป็นไข้
- เวียนหัว
- น้ำหนักลด
- ต่อมน้ำเหลืองโต
นอกจากนี้ หากภาวะ Arthritis เกิดขึ้นบริเวณข้อต่อขนาดเล็กอย่างนิ้วมือ อาจทำให้สูญเสียแรงบีบมือ ซึ่งมีผลต่อการหยิบจับสิ่งต่าง ๆ แต่หากภาวะ Arthritis เกิดที่ข้อต่อขนาดใหญ่อย่างหัวเข่า อาจส่งผลให้สูญเสียกระดูกอ่อนในบริเวณดังกล่าวได้
สาเหตุของข้ออักเสบ
ภาวะ Arthritis มีหลายประเภท เกิดขึ้นได้หลายส่วนในร่างกาย และมีสาเหตุของโรคที่แตกต่างกันออกไป เช่น
- ข้อต่อสึกหรอจากการใช้งาน
- ติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
- ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ
- มีการสะสมผลึกกรดยูริกบริเวณข้อต่อ
- เป็นโรคเก๊าท์ หรือเก๊าท์เทียม
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างก็อาจทำให้เกิดภาวะ Arthritis ได้ เช่น มีน้ำหนักตัวมาก เป็นผู้สูงอายุ คนในครอบครัวเคยมีภาวะนี้ เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อต่อ และผู้ที่มีเพศหญิงจะมีความเสี่ยงต่อโรครูมาตอยด์ มากกว่าเพศชาย ในขณะที่เพศชายจะมีความเสี่ยงต่อโรคเก๊าท์มากกว่าเพศหญิง เป็นต้น
การวินิจฉัยข้ออักเสบ
เบื้องต้นแพทย์อาจวินิจฉัยโดยสอบถามอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายเพื่อดูการเคลื่อนไหวของข้อต่อ รวมทั้งตรวจหาความผิดปกติต่าง ๆ อย่างอาการบวมหรือแดง หรืออาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น
- ตรวจตัวอย่างของเหลว
แพทย์จะนำตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ หรือเจาะบริเวณข้อแล้วนำตัวอย่างของน้ำไขข้อไปตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาการเจ็บป่วยและจำแนกประเภทของภาวะ Arthritis ที่เกิดขึ้น - เอกซเรย์หรืออัลตราซาวด์
เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์วิเคราะห์หาสาเหตุของโรค โดยทำได้ทั้งเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรืออัลตราซาวด์ เพื่อให้แพทย์เห็นภาพของข้อต่อที่ต้องการตรวจและพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ประกอบการวินิจฉัย เช่น สภาพกระดูกอ่อน ปริมาณหินปูน เนื้อเยื่อและเส้นเอ็นรอบบริเวณดังกล่าว เป็นต้น
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ควรไปพบแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อโดยตรง เพื่อให้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว
การรักษาข้ออักเสบ
การรักษาภาวะ Arthritis ในปัจจุบันทำได้โดยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นและทำให้ข้อต่อกลับมาใช้ได้ปกติ ซึ่งทำได้หลายวิธี ดังนี้
การดูแลตัวเอง
ผู้ป่วยสามารถดูแลอาการป่วยของตนเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ว่ายน้ำหรือออกกำลังในน้ำ เพื่อช่วยให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น อีกทั้งการออกกำลังกายในน้ำจะมีแรงพยุงซึ่งทำให้ข้อต่อรับน้ำหนักได้น้อยลง ใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างไม้เท้าเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ ใช้การประคบร้อนหรือประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด เป็นต้น
การรักษาด้วยยา
ยาที่ใช้ในการรักษาภาวะ Arthritis มีหลายชนิด เช่น
- ยาแก้ปวด อย่างพาราเซตามอล ทรามาดอล หรือนาร์โคติก ซึ่งใช้เพื่อช่วยระงับอาการปวด แต่ไม่ได้ช่วยบรรเทาการอักเสบของข้อต่อ และนาร์โคติกยังมีฤทธิ์ทำให้เสพติดด้วย
- ยาในกลุ่มเอ็นเสด เป็นกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน เป็นต้น ยากลุ่มนี้ช่วยบรรเทาอาการปวดและแก้อักเสบ แต่ยาบางชนิดอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองได้
- ยาทา ใช้ยาที่มีส่วนผสมของเมนทอลหรือแคปไซซินทาบริเวณข้อต่อที่มีอาการ เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด
- ยารักษาโรครูมาตอยด์ ช่วยชะลอหรือยับยั้งภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลายข้อต่อ โดยมียาหลายชนิด เช่น เมโธเทรกเซท ไฮดรอกซีคลอโรควิน เป็นต้น
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ มีหลายชนิด เช่น เพรดนิโซโลน คอติโซน เป็นต้น โดยมีทั้งแบบรับประทานและแบบฉีดบริเวณที่มีอาการโดยตรง ซึ่งตัวยาจะช่วยลดการอักเสบและยับยั้งภูมิคุ้มกันร่างกาย
การทำกายภาพบำบัด
การทำกายภาพบำบัดหรือการออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อมีความยืดหยุ่นและแข็งแรงมากขึ้น แต่การรักษาวิธีนี้ได้ผลกับภาวะ Arthritis บางประเภทเท่านั้น
การผ่าตัด
หากการใช้ยาหรือทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้มีหลายรูปแบบ เช่น ผ่าตัดส่องกล้องเพื่อรักษาข้อต่อ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม หรือหากเป็นข้อต่อขนาดเล็กอย่างนิ้วมือก็อาจใช้วิธีผ่าตัดเชื่อมข้อต่อ เป็นต้น
การแพทย์ทางเลือก
นอกจากขั้นตอนทางการแพทย์ ผู้ป่วยอาจใช้การรักษาทางเลือกที่มีหลายวิธี เช่น ฝังเข็ม นวด โยคะ หรือใช้กลูโคซามีนเพื่อช่วยลดอาการปวด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานน้อยมากที่สนับสนุนว่าวิธีการเหล่านี้อาจช่วยรักษาภาวะ Arthritis ได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกวิธีต่าง ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของข้ออักเสบ
หากภาวะ Arthritis เกิดบริเวณมือหรือแขน อาจทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น หรือหากเกิดบริเวณข้อต่อที่รับน้ำหนัก อาจทำให้เดินหรือลุกนั่งไม่สะดวก หรือข้อกระดูกอาจคดงอผิดรูปได้ และหากป่วยด้วยภาวะ Arthritis อย่างเรื้อรัง อาจทำให้ข้อต่อเสียหายอย่างถาวรจนขยับส่วนนั้น ๆ ไม่ได้
นอกจากนี้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรครูมาตอยด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายด้วย เช่น ปากหรือตาแห้ง ปอดติดเชื้อ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น
การป้องกันข้ออักเสบ
ภาวะ Arthritis เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งบางปัจจัยไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ อย่างอายุหรือเพศของผู้ป่วย แต่บางปัจจัยก็สามารถป้องกันได้ เช่น
- เลิกสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่
- ดูแลสุขภาพให้ดี โดยหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บและการติดเชื้อ
- รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า 3 ซึ่งพบมากในปลาทะเล
- ออกกำลังกาย โดยเลือกกิจกรรมที่ส่งผลต่อข้อต่อที่รับน้ำหนักน้อย อย่างการเดินหรือการว่ายน้ำ
- ปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการ เพื่อลดความเสี่ยงอาการรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับข้อต่อ