Astaxanthin (แอสตาแซนทิน)

Astaxanthin (แอสตาแซนทิน)

Astaxanthin (แอสตาแซนทิน) เป็นหนึ่งในสารประเภทแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ในธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดสีแดงหรือสีชมพูในพืชหรือสัตว์ ซึ่งมีฤทธิ์ในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยป้องกันการทำลายเซลล์ และกระบวนการออกซิเดชั่นที่มีผลทำให้เกิดริ้วรอยและการเสื่อมของเซลล์ก่อนวัยอันควร 

Astaxanthin เป็นสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงนิยมนำมาสกัดเป็นอาหารเสริมรูปแบบต่าง ๆ โดยเชื่อว่ามีคุณสมบัติในการบำรุงดวงตา ช่วยการทำงานของหัวใจ ลดการอักเสบทั่วร่างกาย และช่วยในเรื่องของผิวพรรณ

Astaxanthin

เกี่ยวกับ Astaxanthin

กลุ่มยา อาหารเสริม 
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ สร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ชะลอความเสื่อมของเซลล์
บำรุงดวงตาและผิวพรรณ
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร เนื่องจากยังไม่มีผลการวิจัยรับรองถึงการนำไปใช้อย่างปลอดภัย สตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของ Astaxanthin
รูปแบบของยา ยารับประทาน

คำเตือนของการบริโภค Astaxanthin

กลุ่มที่ไม่ควรรับประทาน Astaxanthin ได้แก่ 

  • ผู้ที่แพ้อาหารที่มีสาร Astaxanthin เช่น สาหร่าย แซลมอน กุ้ง หรือล็อบสเตอร์
  • ผู้ที่แพ้แคโรทีนอยด์ชนิดอื่น เช่น แคนทาแซนทิน (Canthaxanthin)
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพ เช่น ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคกระดูกพรุน แคลเซียมต่ำ ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ผิดปกติ ฮอร์โมนผิดปกติ หรือภาวะความดันโลหิตผิดปกติ
  • สตรีตั้งครรภ์หรือสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร 

ปริมาณการบริโภค Astaxanthin

โดยทั่วไปร่างกายจะได้รับ Astaxanthin จากการรับประทานอาหาร พืช และสัตว์ โดยมากจะพบในปลาแซลมอน กุ้ง เคย ล็อบสเตอร์ รวมไปถึงสาหร่ายบางชนิด โดยเฉพาะสาหร่าย ฮีมาโตคอกคัส พลูวิเอลิส (Haematococcus Pluvialis) 

ตัวอย่างปริมาณ Astaxanthin ที่พบในอาหารชนิดต่าง ๆ เช่น

  • เคย 120 PPM (Part Per Million)
  • กุ้ง 1,200 PPM
  • ยีสต์ (Phaffia Yeast) 10,000 PPM
  • สาหร่าย ฮีมาโตคอกคัส พลูวิเอลิส 40,000 PPM

หากต้องการรับประทาน Astaxanthin เป็นตัวช่วยเสริมสารอาหารให้ร่างกาย ควรบริโภคตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือบนฉลากที่ระบุไว้ข้างกล่อง

การบริโภค Astaxanthin

ปริมาณที่นิยมบริโภคสำหรับผู้ใหญ่คือ 4–18 มิลลิกรัมต่อวัน และรับประทานต่อเนื่องกันไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยปริมาณการรับประทานขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น ปริมาณ 4 มิลลิกรัมต่อวันมีผลในการลดการอักเสบได้ดี หรือบริโภคในปริมาณ 12 มิลลิกรัมต่อวันมีส่วนช่วยในการเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ปริมาณที่เหมาะสมของการรับประทาน Astaxanthin ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ทั้งอายุ สุขภาพ หรือสภาวะร่างกายอื่น ๆ ของผู้ที่รับประทาน ทำให้ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากพอที่จะสรุปปริมาณเหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับอย่างแน่นอน นอกจากนี้ Astaxanthin ยังจัดเป็นสารแคโรทีนอยด์ที่ละลายได้ดีในน้ำมัน จึงควรบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น

แม้จะเป็นสารจากธรรมชาติก็ไม่สามารถรับประกันถึงความปลอดภัย จึงควรใช้ตามฉลากผลิตภัณฑ์และปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนการรับประทาน รวมไปถึงรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อวัน

ปฏิกิริยาระหว่าง Astaxanthin กับยาอื่น

Astaxanthin อาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่ใช้อยู่ เช่น 

  • ยารักษาความดันโลหิตสูง 
  • ยากลุ่ม 5 แอลฟา รีดักเตส อินฮิบิเตอร์ (5-Alpha Reductase Inhibitor) เช่น ดูทาสเทอไรด์ (Dutasteride) และยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย 
  • ยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจาก Astaxanthin อาจส่งผลต่อความเร็วของตับในการย่อยสลายยาบางชนิด ทำให้ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยาเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไป และอาจกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน 

ตัวอย่างยาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับอาหารเสริม Astaxanthin หากกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ผลข้างเคียงจากการบริโภค Astaxanthin

การรับประทาน Astaxanthin อาจทำให้ขับถ่ายบ่อยขึ้น หากรับประทานปริมาณมากอาจทำให้ปวดท้อง และการรับประทานเกินวันละ 48 มิลลิกรัมทุกวันอาจทำให้อุจจาระมีสีแดง 

นอกจากนี้ อาจทำให้ระดับแคลเซียมและความดันโลหิตลดต่ำลง และงานวิจัยบางชิ้นพบว่าอาจส่งผลต่อระดับฮอร์โมนเพศชาย แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนถึงผลข้างเคียงในการบริโภค Astaxanthin ต่อการเปลี่ยนแปลงของฮฮร์โมน ในกรณีที่เกิดความผิดปกติหลังการรับประทาน ควรรีบไปพบแพทย์