ความหมาย ปอดแฟบ (Atelectasis)
Atelectasis หรือปอดแฟบ เป็นภาวะถุงลมในปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่หรือปอดแฟบ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหมุนเวียนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ถุงลมได้ ส่งผลให้หายใจได้ไม่เต็มที่ หัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก หรือระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ เป็นต้น ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดบริเวณทรวงอกหรือช่องท้อง แต่ก็อาจเกิดจากการอุดตันของทางเดินหายใจ หรือป่วยเป็นโรคที่ส่งผลต่อการทำงานของปอดได้เช่นกัน
อาการของ ปอดแฟบ
หากภาวะ Atelectasis ทำให้ปอดแฟบเพียงเล็กน้อยมักจะไม่เกิดอาการใด ๆ เพราะปอดส่วนอื่น ๆ ยังคงทำงานและหมุนเวียนก๊าซได้ตามปกติ แต่หากปอดแฟบมากและเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน อาจทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำจนส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ไอ มีเหงื่อออกมาก ปากเขียวหรือตัวเขียว และผู้ป่วยเด็กอาจมีอาการกระวนกระวาย ดูเหมือนกลัวหรือวิตกกังวลได้
แม้ส่วนใหญ่ Atelectasis จะเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดหรือในขณะที่ผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่หากพบว่ามีอาการหายใจลำบาก มีไข้ ไอ รู้สึกเหนื่อยมากผิดปกติ หรือมีอาการอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
สาเหตุของ ปอดแฟบ
Atelectasis เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปหลังการผ่าตัดช่องท้องหรือทรวงอก โดยเฉพาะการผ่าตัดบายพาสหัวใจ เนื่องจากยาสลบที่ผู้ป่วยได้รับจะชะลออัตราการหายใจและยับยั้งการไอ อีกทั้งความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดอาจทำให้ผู้ป่วยหายใจลึก ๆ ไม่ได้ จึงส่งผลให้ปอดแฟบหรือขยายตัวได้ไม่เต็มที่
โดย Atelectasis อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ด้วย ดังต่อไปนี้
- การอุดตันของทางเดินหายใจ การสะสมของเยื่อเมือก สิ่งแปลกปลอม รวมถึงการใส่ท่อช่วยหายใจได้ไม่ดี อาจทำให้อากาศไม่สามารถผ่านเข้าสู่ถุงลมในปอดได้อย่างเต็มที่
- แรงกดจากภายนอกปอด การเกิดเนื้องอก กระดูกผิดรูป หรือภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือไม่สามารถหายใจได้เต็มที่เช่นกัน
- ความผิดปกติที่ส่งผลต่อการทำงานของปอด เช่น กลุ่มอาการหายใจลำบาก (RDS) เป็นต้น ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เพราะร่างกายของเด็กยังไม่สามารถผลิตสารลดแรงตึงผิวในปอดได้เพียงพอและอาจทำให้ปอดแฟบได้
- โรคประจำตัว เช่น โรคปอดบวม โรคมะเร็งปอด โรคทางระบบประสาทที่ทำให้ควบคุมกล้ามเนื้อผิดปกติ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซิสติกไฟโบรซิส โรคอ้วน โรคหัวใจ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ และภาวะความดันหลอดเลือดปอดสูง เป็นต้น
นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Atelectasis ได้ เช่น
- เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีอายุต่ำกว่า 3 ปี
- ผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนอาหาร โดยเฉพาะผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีกล้ามเนื้อในระบบทางเดินหายใจอ่อนแรง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อเสื่อม หรือได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
- ผู้ที่หายใจเข้าไม่สุด ซึ่งอาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดท้อง หรือซี่โครงหัก เป็นต้น
- ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดศีรษะ ลำคอ หรือหลอดเลือด
- ผู้ป่วยที่อยู่ติดเตียง หรือไม่ได้ขยับร่างกายเป็นเวลานาน
- ผู้ที่สูบบุหรี่
การวินิจฉัย ปอดแฟบ
แพทย์จะวินิจฉัยภาวะนี้จากอาการของผู้ป่วย เช่น อาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ไอ โดยเฉพาะหากมีอาการหลังจากผ่าตัดได้ไม่นาน และหากมีอาการที่บ่งบอกว่าระดับออกซิเจนต่ำ อาจต้องวัดค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดโดยสวมเครื่องตรวจที่ปลายนิ้ว
นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้
- การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจสอบโครงสร้างและอวัยวะภายใน เช่น ปอด หัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น โดยการเอกซเรย์ทรวงอกอาจแสดงภาพสิ่งแปลกปลอมที่อุดตันในทางเดินหายใจได้เช่นกัน
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ จะแสดงภาพภายในทรวงอกที่ชัดเจนแม่นยำกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป และยังแสดงให้เห็นถึงรายละเอียดอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้ปอดแฟบได้
- การส่องกล้องหลอดลม โดยใส่ท่อผ่านทางจมูกหรือปากเพื่อแสดงภาพภายในหลอดลมและทางเดินหายใจ
การรักษา ปอดแฟบ
หากเกิดปอดแฟบเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยอาจมีอาการดีขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา เพราะปอดส่วนอื่นยังคงทำงานได้ตามปกติ แต่หากมีอาการรุนแรง การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ปอดแฟบด้วย ดังนี้
- ปอดแฟบจากการผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยฝึกหายใจเข้าลึก ๆ อย่างช้า ๆ ฝึกการเคลื่อนไหวทั้งการนั่งหรือการเดินหลังผ่าตัด ฝึกไอเพื่อกำจัดเยื่อเมือกออกจากทางเดินหายใจ นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อขยายทางเดินหายใจและทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น
- ปอดแฟบจากแรงดันภายนอกปอด แพทย์จะรักษาที่ต้นเหตุ เช่น หากเนื้องอกเป็นสาเหตุที่ทำให้ปอดแฟบ แพทย์จะผ่าตัดเนื้องอกออกเพื่อให้ปอดสามารถขยายตัวได้เต็มที่ เป็นต้น
- ปอดแฟบจากการอุดตันของทางเดินหายใจ หากเกิดการอุดตันในทางเดินหายใจ แพทย์อาจกำจัดสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นในระหว่างการวินิจฉัยด้วยการส่องกล้องหลอดลม แต่หากเกิดการสะสมของเยื่อเมือก แพทย์อาจใช้เครื่องดูดเยื่อเมือก เคาะปอด จัดท่าให้ผู้ป่วยระบายเยื่อเมือก หรือใช้ยาเพื่อขยายหลอดลมและทำให้เยื่อเมือกหลุดออกไปได้ง่าย
- ปอดแฟบจากโรคหรือความผิดปกติของปอด แพทย์จะรักษาโรคที่เป็นสาเหตุด้วยการใช้ยา การผ่าตัด หรือการรักษาวิธีอื่น ๆ
ภาวะแทรกซ้อนของ ปอดแฟบ
การสะสมของเยื่อเมือกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง จนนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอย่างโรคปอดบวม ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบที่ถุงลมและส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก
นอกจากนี้ ภาวะ Atelectasis อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น
- ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ เนื่องจากปอดแฟบจึงทำให้ปอดไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง จนทำให้ผู้ป่วยมีอาการปากเขียวหรือตัวเขียว รู้สึกสับสน หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ หายใจมีเสียงหวีด และมีเหงื่อออกมาก
- ภาวะหายใจล้มเหลว เป็นภาวะที่เกิดเมื่อปอดแฟบจนไม่สามารถส่งออกซิเจนเข้าสู่เลือดอย่างเพียงพอและไม่สามารถกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายได้ ทำให้เลือดมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงและเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายในอื่น ๆ
การป้องกัน ปอดแฟบ
สามารถป้องกันภาวะ Atelectasis ได้โดยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้
- เก็บของเล่นหรือสิ่งของชิ้นเล็ก ๆ ให้ไกลจากมือเด็ก
- เพิ่มความระมัดระวังในระหว่างการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารจำพวกถั่ว ข้าวโพด หรือธัญพืชที่อาจหลุดเข้าไปและทำให้เกิดการอุดตันในหลอดลม
- ปรึกษาแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะ Atelectasis หลังการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดทรวงอกหรือช่องท้อง
- ไม่สูบบุหรี่ก่อนการผ่าตัด และควรปรึกษาแพทย์ว่าควรงดสูบบุหรี่เป็นเวลานานเท่าไรก่อนการผ่าตัด
- กำจัดเยื่อเมือกด้วยการดื่มน้ำในปริมาณตามที่แพทย์กำหนด ไอบ่อย ๆ เพื่อกำจัดเยื่อเมือกออกจากปอด หรือจัดท่าทางร่างกายเพื่อช่วยระบายเยื่อเมือกออกไป
- หายใจลึก ๆ หลังการผ่าตัด เพื่อช่วยให้ปอดทำงานได้ดีขึ้นและป้องกันปอดแฟบ
- หลังการผ่าตัด ควรปรับท่านั่งให้เหมาะสมด้วยการนั่งหลังตรงที่ขอบเตียง หรือเดินบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้ปอดขยายตัวอย่างเต็มที่และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อที่ปอด