BCG (บีซีจี)
BCG (บีซีจี) เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อแบคทีเรีย ใช้ฉีดเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันวัณโรค หรืออาจใช้รักษาเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ โดยจะช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่กำจัดเซลล์เนื้องอก หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์
ยา BCG มีข้อห้ามใช้และอาจเกิดผลข้างเคียงได้ ดังนั้น การใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรเสมอ
เกี่ยวกับยา BCG
กลุ่มยา | วัคซีน |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ป้องกันวัณโรค |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยา BCG
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงการแพ้น้ำยางจากธรรมชาติ ยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้อยู่ทุกชนิด ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน และสมุนไพร เพราะมียาหลายชนิดที่อาจทำปฏิกิริยากับยานี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีภาวะติดเชื้อใด ๆ โรคมะเร็ง เป็นไข้ มีแผลไหม้รุนแรงตามร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเป็นโรคที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น เอชไอวี (HIV) เป็นต้น
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากกำลังเข้ารับการรักษาโดยทำรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัด
- ก่อนใช้ยานี้ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองวัณโรค
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากเคยฉีดวัคซีนโรคฝีดาษหรือมีผลการตรวจวัณโรคเป็นบวก
- ยานี้อาจทำให้ผลการตรวจบางชนิดคลาดเคลื่อน ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือพยาบาลทราบว่ากำลังใช้ยานี้ก่อนรับการตรวจวินิจฉัยใด ๆ
- ระหว่างที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยควรคุมกำเนิดและแจ้งให้แพทย์ทราบหากเกิดการตั้งครรภ์ระหว่างที่ได้รับการรักษา เนื่องจากไม่อาจรับรองได้ว่าวัคซีน BCG จะไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
- ก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้
- ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้ยานี้
- ผู้ที่กำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อบุตร
ปริมาณการใช้ยา BCG
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ป้องกันวัณโรค
ผู้ใหญ่ ฉีดวัคซีนปริมาณ 0.1 มิลลิลิตร เข้าผิวหนัง หลังฉีดอาจเกิดตุ่มนูนขนาด 6-8 มิลลิเมตร และจะหายไปในไม่ช้า แต่อาจมีตุ่มนูนขึ้นอีกและแตกออกเป็นแผลเล็ก ๆ ที่มีหนอง ในช่วงประมาณสัปดาห์ที่ 2 ต่อมา อาการดังกล่าวจะเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ประมาณ 6 สัปดาห์ และค่อย ๆ ดีขึ้นเอง
การใช้ยา BCG
- เข้ารับการฉีดวัคซีน BCG ตามการนัดหมายและปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับวัคซีน BCG โดยร่างกายของเด็กจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันต่อวัณโรคในช่วง 4-6 สัปดาห์ หลังจากการฉีด และภูมิคุ้มกันจะคงอยู่ประมาณ 10 ปี วัคซีนนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันวัณโรคได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะวัณโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็ก
- ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส
- ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรถึงวิธีการเก็บยาและวิธีกำจัดยาที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างเหมาะสม
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา BCG
การฉีดวัคซีน BCG อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉีดเกิดแผลเปื่อย ตุ่มนูน อาการปวด คัน ผด หรือมีต่อมน้ำเหลืองโต นอกจากนี้อาจรู้สึกไม่อยากอาหาร ท้องไส้ปั่นป่วน และระคายเคืองกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน และคงอยู่เป็นระยะเวลา 1-3 วัน รวมทั้งปัสสาวะมากหรือรู้สึกปวดมากจนต้องปัสสาวะทันที มีอาการแสบหรือเจ็บเวลาปัสสาวะ หนาวสั่น มีอาการของไข้หวัด มีไข้ปานกลาง และอ่อนเพลีย ควรไปพบแพทย์หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหรือรบกวนการใช้ชีวิต
หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์ทันที
- อาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นคัน ลมพิษ คัน บวม แดง ตุ่มพุพอง ผิวลอกพร้อมกับมีไข้หรือไม่มีไข้ หายใจเสียงดัง แน่นหน้าอกหรือคอ มีปัญหาในการหายใจหรือพูด เสียงแหบ หน้า ปาก ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม
- สัญญาณที่บ่งบอกว่าตับทำงานผิดปกติ เช่น ปัสสาวะสีเข้ม ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลีย ตัวเหลืองตาเหลือง ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้อง อุจจาระสีซีด อาเจียน เป็นต้น
- สัญญาณที่บ่งบอกว่าปอดหรือการหายใจผิดปกติ เช่น หายใจไม่อิ่ม ไอ หรือมีไข้
- มีไข้สูง 39.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนานกว่า 12 ชั่วโมง
- มีไข้ปานกลาง 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนานกว่า 48 ชั่วโมง
- ปวดข้อ เจ็บหน้าอก
- เจ็บตา ระคายเคืองตา ตาแดง
- เวียนศีรษะรุนแรงหรือหมดสติ
- ไอ อาเจียน
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน