Botulinum Toxin (โบทูไลนัม ท็อกซิน)

Botulinum Toxin (โบทูไลนัม ท็อกซิน)

Botulinum Toxin (โบทูไลนัม ท็อกซิน) เป็นโปรตีนที่ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม บูโทลินัม (Clostridium Botulinum) ที่มีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ในทางการแพทย์นำสารนี้ไปสกัดบริสุทธิ์ให้อยู่ในรูปแบบยาฉีดสำหรับรักษาโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น โรคคอบิด หนังตากระตุก ตาเหล่ ปวดศีรษะไมเกรนเรื้อรัง ภาวะเหงื่อออกมากบริเวณรักแร้ หรือภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น

Botulinum Toxin

นอกจากนี้ สาร Botulinum Toxin ยังมักถูกนำไปใช้เป็นยาฉีดสำหรับเสริมความงาม เช่น ยกกระชับใบหน้า ลดริ้วรอยเหี่ยวย่นหรือรอยตีนกา และปรับรูปหน้าให้เรียว เป็นต้น

ทั้งนี้ ยา Botulinum Toxin มีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่มีการนำเข้าและจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาประเทศไทย ได้แก่ สารโบทูลินัม ท็อกซิน เอ (Botulinum Toxin Type A) โดยคนทั่วไปจะรู้จักกันดีในชื่อโบทอกซ์

เกี่ยวกับยา Botulinum Toxin

กลุ่มยา ยาคลายกล้ามเนื้อ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาโรคกล้ามเนื้อหดเกร็งบริเวณลำคอและดวงตา ลดริ้วรอยบนใบหน้า
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยาฉีด

คำเตือนของการใช้ยา Botulinum Toxin

  • ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนเข้ารับการฉีดยา เนื่องจากยา Botulinum Toxin มีส่วนประกอบของเลือด จึงมีโอกาสปนเปื้อนกับเชื้อก่อโรคและแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้รับการฉีดได้ แต่พบได้น้อยมาก
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยา อาหาร สมุนไพร หรือสารใด ๆ เพราะยาอาจมีส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรืออาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ
  • หากมีโรคประจำตัวหรือเคยเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้ โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดเอแอลเอสหรือเอ็มจี โรคหัวใจ โรคตา โรคลมชัก มีความผิดปกติด้านการหายใจจากโรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคอื่น ๆ กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง มีปัญหาในการกลืน การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เคยผ่าตัดหรือกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดบริเวณใบหน้า เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เคยได้รับการฉีดยาปฏิชีวนะ เคยได้รับยา Botulinum Toxin ชนิดอื่นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา หรือเคยเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดยานี้มาก่อน
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินหรือมีภาวะปัสสาวะเล็ดในขณะที่มีการติดเชื้อ แต่สามารถฉีดยาได้ตามปกติในผู้ป่วยที่ใช้สายสวนปัสสาวะ
  • หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยานี้อยู่
  • ไม่ควรฉีดยารักษาภาวะหนังตากระตุกในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เนื่องจากยังไม่ทราบถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยาในเด็กวัยดังกล่าว
  • หญิงตั้งครรภ์หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ยานี้ก่อนเสมอ และใช้ยาในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น โดยไม่ควรใช้ยาเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความงามในขณะตั้งครรภ์
  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากเป็นวัยที่มักเกิดผลข้างเคียงได้ง่ายกว่าวัยอื่น โดยเฉพาะผลข้างเคียงที่อาจเกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การใช้ยาในผู้ป่วยเด็กสำหรับรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านการหายใจ การกลืน หรือผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้ง่าย ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนใช้ยานี้ทุกครั้ง

ปริมาณการใช้ยา Botulinum Toxin

Botulinum Toxin เป็นยารูปแบบยาผงเพื่อนำไปผสมเป็นยาฉีด โดยแต่ละผลิตภัณฑ์ล้วนมีส่วนประกอบต่างกัน ปริมาณและความถี่ในการใช้ยาจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก เนื่องจากต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยก่อนฉีดและปรับยาให้เหมาะกับแต่ละบุคคล เช่น จุดประสงค์ในการใช้ยา สุขภาพผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค ความผิดปกติที่เกิดขึ้น หรือการตอบสนองต่อการรักษา เป็นต้น

ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา Botulinum Toxin

รักษาหนังตากระตุก หรือใบหน้ากระตุกครึ่งซีก

  • ปริมาณยาเริ่มต้น 1.25-2.5 ยูนิต/จุด แต่ไม่เกิน 25 ยูนิต/ดวงตา 1 ข้าง อาจฉีดซ้ำได้หากไม่เห็นผลหลังจากผ่านไป 2 เดือน โดยปริมาณยาสูงสุดภายใน 2 เดือนไม่ควรเกิน 200 ยูนิต

รักษาโรคคอบิด หรือภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็งที่คอ

  • ปริมาณยา 95-360 ยูนิต ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีอาการ ลักษณะอาการปวด และการตอบสนองของร่างกาย แต่ไม่ควรเกิน 50 ยูนิต/จุด/ครั้ง ปริมาณยาสูงสุดในเวลา 3 เดือนไม่ควรเกิน 360 ยูนิต

รักษาอาการตาเหล่ ตาเข

  • ปริมาณยา 1.25-2.5 ยูนิต/กล้ามเนื้อ หากอาการยังคงอยู่หรือเกิดอาการอีกสามารถฉีดซ้ำได้ภายใน 7-14 วัน และอาจเพิ่มปริมาณยาได้เป็น 2 เท่า แต่ไม่เกิน 25 ยูนิต/กล้ามเนื้อ/ครั้ง

ลดริ้วรอยบริเวณหน้าผาก

  • ปริมาณยา 4 ยูนิต/ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 20 ยูนิต

การใช้ยา Botulinum Toxin

  • ต้องได้รับการฉีดยา Botulinum Toxin จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลหรือคลินิกที่ผ่านการรับรองอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายตามวัตถุประสงค์ของการรักษา และการฉีดแต่ละครั้งควรทิ้งระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือน
  • ผู้เข้ารับการฉีดยานี้ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยข้อปฏิบัติจะแตกต่างกันออกไปตามจุดประสงค์และตำแหน่งที่ฉีดยา
  • ผู้ป่วยอาจยังไม่เห็นผลการรักษาในทันที เนื่องจากยา Botulinum Toxin ออกฤทธิ์ช้า อาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังการฉีดในแต่ละครั้ง
  • หากฉีดยาบริเวณกล้ามเนื้อรอบดวงตา ผู้ป่วยต้องใช้ยาหยอดตา ขี้ผึ้ง คอนแทคเลนส์ หรืออุปกรณ์พิเศษทางการแพทย์เพื่อช่วยปกป้องดวงตา โดยแพทย์หรือพยาบาลจะเป็นผู้แนะนำ และอาการจะดีขึ้นภายใน 1-3 วัน จนเห็นผลอย่างชัดเจนในเวลา 2-6 สัปดาห์หลังการฉีด
  • หากเป็นการรักษาภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติบริเวณรักแร้ ผู้เข้ารับการฉีดควรโกนขนใต้วงแขนออกให้หมดและหยุดใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลใต้วงแขนทุกชนิดล่วงหน้า 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการฉีดยา รวมทั้งหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร้อน ๆ หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ส่งผลให้มีเหงื่อออกก่อนการฉีดยา 30 นาที
  • ในการรักษาภาวะกล้ามเนื้อคอหดเกร็ง ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้นในระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังการฉีด และจะเห็นผลชัดเจนหลังจากฉีดยาไป 6 สัปดาห์
  • ผลของการฉีดจะคงอยู่เพียงชั่วคราวหรือประมาณ 3 เดือน ทำให้อาการต่าง ๆ ที่เคยมีกลับมาเป็นเช่นเดิม หลังจากฉีดยาซ้ำในครั้งต่อไปอาจทำให้เห็นผลการรักษาน้อยลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่อยาชนิดนี้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรเข้ารับการฉีดยาจากสถานพยาบาลมากกว่า 1 ที่ภายในครั้งเดียว กรณีที่มีการเปลี่ยนแพทย์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงระยะเวลาการฉีดยา Botulinum Toxin ครั้งล่าสุด เพราะการใช้ยาเกินความจำเป็นอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพของยาลดลงและเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้
  • ผู้ป่วยควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นหลังการฉีดยา เมื่อพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล หากอาการเหล่านั้นยังคงเป็นอย่างต่อเนื่องหรือมีอาการรุนแรงขึ้น ให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Botulinum Toxin

ผู้ป่วยอาจมีอาการปวด บวมแดง มีเลือดออก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงในบริเวณที่ฉีดยา รวมทั้งอาจมีอาการปวดหัว คลื่นไส้ ปวดคอ ปวดตามแขนขาหรือกล้ามเนื้อ เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อลำบาก มีเหงื่อออกมากในบริเวณอื่น มีไข้ หรือมีอาการอื่น ๆ คล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหากอาการเหล่านี้ยังคงอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์

นอกจากนี้ หากพบผลข้างเคียงรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

  • มีอาการแพ้รุนแรง ได้แก่ ปาก ริมฝีปาก หรือใบหน้าบวม เป็นลมพิษ มีผื่นขึ้น หายใจหรือกลืนอาหารลำบาก แน่นหน้าอก
  • เปลือกตาหย่อนหรือบวม มีปัญหาทางสายตา
  • ไอ เจ็บคอ เสียงแหบ
  • พูดลำบาก หรือมีปัญหาในการหายใจ
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรืออ่อนแรงลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณที่ไม่ได้ฉีดยา
  • ไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ รู้สึกปวดแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะได้น้อย หรือปัสสาวะไม่ออก