Budesonide (บูเดโซไนด์)
Budesonide (บูเดโซไนด์) เป็นยาสูดพ่นสำหรับรักษาอาการโรคหืดในผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เช่น หายใจลำบาก หายใจเสียงดังวี้ด แน่นหน้าอก และไอ โดยจัดเป็นยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ มีสรรพคุณลดการอักเสบและระคายเคืองในระบบทางเดินหายใจ ช่วยให้หายใจได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังอาจใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ ตามแพทย์เห็นเหมาะสม
เกี่ยวกับ Budesonide
กลุ่มยา | คอร์ติโคสเตียรอยด์ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | ยารักษาอาการโรคหืด โรคโครห์น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาพ่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาสวนทวาร |
คำเตือนการใช้ยา Budesonide
- ไม่ควรใช้ยาบูเดโซไนด์หากมีอาการแพ้ยานี้ หรือแพ้โปรตีนจากนมอย่างรุนแรงในกรณีใช้ยาบูเดโซไนด์ชนิดพ่น
- ไม่ควรใช้ยาบูเดโซไนด์ชนิดพ่นหากเกิดโรคหืดชนิดเฉียบพลัน
- ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดที่จมูกไม่ควรใช้ยาบูเดโซไนด์พ่นจมูกรักษาโรคภูมิแพ้จมูกหรือริดสีดวงจมูก
- ไม่อนุญาตให้ใช้ยาบูเดโซไนด์ชนิดสูดพ่นกับเด็กอายุต่ำว่า 6 ปี
- ยานี้อาจไหลผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ทารกและอาจทำให้เกิดอันตรายได้ หญิงที่ต้องให้นมบุตรจึงไม่ควรใช้ยานี้
- หญิงกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดว่ายานี้จะปลอดภัยต่อทารกในครรภ์หรือไม่
-
แจ้งให้แพทย์ทราบ หากมีโรคประจำตัวหรืออยู่ในภาวะต่อไปนี้
- เคยป่วยหรือกำลังป่วยด้วยโรคจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือเชื้อราอย่างรุนแรง เช่น วัณโรค โรคติดเชื้อไวรัสเริม
- มีความผิดปกติของการมีเลือดออก
- ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เนื่องจากโรคหรือการใช้ยาบางชนิด
- ภาวะความดันโลหิตสูง
- โรคตับแข็งหรือโรคเกี่ยวกับตับชนิดอื่น ๆ
- โรคเกี่ยวกับไทรอยด์
- โรคเกี่ยวกับลำไส้ แผลในกระเพาะอาหาร
- โรคกระดูกพรุน หรือมีความหนาแน่นของมวลกระดูกต่ำ
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือโรคภูมิแพ้ใด ๆ
- ตนเองหรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติป่วยด้วยโรคเบาหวาน ต้อหิน หรือต้อกระจก
- โรคสภาวะทางจิตใจหรืออารมณ์ เช่น โรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือโรคจิตผิดปกติ
-
แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยารักษาโรค สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ ที่กำลังใช้ โดยเฉพาะยาต่อไปนี้ที่อาจทำปฏิกิริยากับบูเดโซไนด์
- ยาอัลเดสลูคิน (Aldesleukin) มิฟีพริสโตน (Mifepristone)
- ยาที่เสี่ยงทำให้มีเลือดออกหรือฟกช้ำ เช่น คลอพิโดเกรล (Clopidogrel) ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin)
- ยาแก้อับเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น แอสไพริน (Aspirin) เซเลโคซิบ (Celecoxib) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำทุกวันขณะรับประทานยาบูเดโซไนด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ หรือขอคำแนะนำจากแพทย์เพิ่มเติม
- ปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีนป้องกันโรคใด ๆ ขณะรับประทานยานี้ เพราะยาบูเดโซไนด์อาจส่งผลให้วัคซีนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
- ยานี้อาจทำให้การเจริญเติบโตของเด็กชะลอลงได้ หากรับประทานเป็นระยะเวลานาน ผู้ปกครองควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับรายละเอียดเพิ่มเติม และหมั่นตรวจวัดการเติบโตของร่างกายและส่วนสูงของบุตรหลานที่รับประทานยานี้เป็นปะจำ
ปริมาณการใช้ยา Budesonide
ยาพ่นสำหรับรักษาโรคหืด
-
ผู้ใหญ่
- ยาสูดพ่นชนิดฝอยละออง ใช้สูดพ่นทุกวัน วันละ 400 ไมโครกรัม โดยแบ่งพ่น 2 ครั้ง ในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจเพิ่มปริมาณยาได้ถึง 1.6 มิลลิกรัมต่อวัน การรักษาเพื่อคงอาการ ใช้สูดพ่นครั้งละ 200-400 ไมโครกรัม
- ยาสูดพ่นชนิดผง ใช้วันละ 200-800 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งใช้ 2 ครั้ง ทั้งนี้ปริมาณที่ได้รับไม่ควรเกิน 800 ไมโครกรัม หรือเกินวันละ 2 ครั้ง
- ยาพ่นโดยใช้เครื่องพ่นละออง สำหรับโรคหืดรุนแรง ใช้ปริมาณ 1-2 มิลลิกรัม โดยแบ่งใช้วันละ 2 ครั้ง ส่วนการรักษาเพื่อคงอาการใช้ 0.5-1 มิลลิกรัม โดยแบ่งใช้วันละ 2 ครั้งเช่นกัน
-
เด็กอายุ 2-12 ปี
- ยาสูดพ่นชนิดฝอยละออง ใช้สูดพ่นวันละ 200-800 ไมโครกรัม โดยแบ่งใช้วันละ 2 ครั้ง
-
เด็กอายุ 5-12 ปี
- ยาสูดพ่นชนิดผง ใช้วันละ 200-800 ไมโครกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งใช้ 2 ครั้ง
-
เด็กอายุ 3 เดือน-12 ปี
- ยาพ่นโดยใช้เครื่องพ่นละออง ใช้ 0.5-1 มิลลิกรัม โดยแบ่งใช้วันละ 2 ครั้ง ส่วนการรักษาเพื่อคงอาการใช้ 0.25-0.5 มิลลิกรัม โดยแบ่งใช้ 2 ครั้ง
ยาพ่นรักษากลุ่มอาการครูป (Croup)
-
เด็ก
- ยาพ่นโดยใช้เครื่องพ่นละออง ใช้ 2 มิลลิกรัม ในครั้งเดียว หรือแบ่งใช้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 มิลลิกรัม เป็นเวลา 30 นาที และอาจให้ซ้ำทุก 12 ชั่วโมง นานสูงสุด 36 ชั่วโมง หรือจนกว่าอาการจะคงตัว
รักษาริดสีดวงจมูก
-
ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี
- สเปรย์สูดพ่นชนิดฝอยละออง (ขนาด 64-100 ไมโครกรัมต่อครั้ง) ฉีดพ่นเข้าสู่รูจมูกข้างละ 1 ครั้ง วันละ 2 ครั้ง นาน 3 เดือน หรือข้างละ 2 ครั้ง เพียงวันละ 1 ครั้ง
รักษาโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้จมูก
-
ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 6 ปี
- ยาพ่นโดยใช้เครื่องพ่นละออง (ขนาด 64-100 ไมโครกรัมต่อครั้ง) เบื้องต้นใช้ฉีดเข้าสู่รูจมูกข้างละ 2 ครั้ง ทุกวัน หรือฉีดข้างละ 1 ครั้ง วันละ 2 ครั้ง และปรับลดเป็นฉีดข้างละ 1 ครั้งต่อวันจนกว่าอาการจะคงตัว
รักษาโรคโครห์น (ยารับประทาน)
-
ผู้ใหญ่
- รับประทาน 9 มิลลิกรัม/ครั้ง/วัน ก่อนอาหารเช้า หรือแบ่งรับประทาน 30 นาทีก่อนมื้ออาหาร 3 มื้อ เป็นเวลาไม่เกิน 8 สัปดาห์ และลดปริมาณยา 2-4 สัปดาห์ก่อนหยุดการรักษา
โรคโครห์นที่กลับมาเป็นอีก อาจรักษาโดยให้ยาวนาน 8 สัปดาห์อีกครั้ง
การรักษาเพื่อคงอาการ รับประทาน 6 มิลลิกรัม/ครั้ง/วัน ในตอนเช้า เป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน
รักษาโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง
-
ผู้ใหญ่
- ยาสวนทวาร ใช้ยา 2 มิลลิกรัม ใน 100 มิลลิลิตร ทุกวันก่อนนอน นาน 4 สัปดาห์ โดยอาจเพิ่มเวลาการรักษาเป็น 8 สัปดาห์ หากมีอาการทุเลาลงหลังจาก 4 สัปดาห์แรกที่ใช้
- ครีมสวนทวาร ใช้วันละ 2 มิลลิกรัม นาน 6-8 สัปดาห์
การใช้ยา Budesonide
- รับประทานยาตามปริมาณและระยะเวลาที่ระบุบนฉลากกำกับการใช้ยา อย่าใช้ปริมาณมากเกินหรือนานเกินกำหนด และปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้อย่างระมัดระวัง
- ยาเม็ดควรรับประทานในตอนเช้า ตามด้วยน้ำเปล่า 1 แก้ว
- ยาบูเดโซไนด์ชนิดเม็ดและแคปซูลควรรับประทานโดยกลืนลงไปทั้งเม็ด อย่ากัด เคี้ยว หรือทำให้แตกก่อนกลืน
- ยาเม็ดออกฤทธิ์ช้าควรรับประทานทั้งเม็ด อย่าแบ่งยาเป็น 2 ส่วน แม้จะมีเส้นแบ่งเม็ดยากำกับไว้ ยกเว้นเมื่อเป็นคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้นและห้ามกัดหรือเคี้ยวก่อนกลืน
- เมื่อลืมรับประทานยาให้รับประทานทันทีที่นึกได้ หรือข้ามมื้อนั้นไป หากใกล้ได้เวลารับประทานยาครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มปริมาณยาทดแทน
- ไม่ควรรับประทานยาร่วมกับผลไม้ตระกูลส้มหรือน้ำจากผลไม้ชนิดนี้ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
- แพทย์อาจให้ผู้ป่วยปรับปริมาณการใช้ยา หากต้องเข้ารับการผ่าตัด มีอาการป่วย หรือเครียด ทั้งนี้ห้ามปรับเปลี่ยนปริมาณและเวลาการรับประทาน หรือหยุดใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ยาบูเดโซไนด์อาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการของการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ปวดตามร่างกาย หนาวสั่น รู้สึกอ่อนเพลีย หรืออาเจียน
- ขณะรับประทานยานี้ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ที่มีอาการป่วยหรือติดเชื้อ แจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหาวิธีป้องกัน หากคาดว่าตนเองอาจสัมผัสเชื้อโรคอีสุกอีใสหรือโรคหัด ซึ่งเป็นโรคที่จะสามารถทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตในผู้ที่ใช้ยาบูเดโซไนด์
- หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงขณะใช้ยานี้ ควรไปพบแพทย์
- ผู้ที่ใช้ยานี้เป็นเวลาระยะเวลานานอาจต้องได้รับการตรวจสุขภาพบ่อยครั้ง
- เก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากความร้อนและความชื้น เมื่อไม่ได้ใช้ควรเก็บไว้ในขวดโหลที่มีฝาปิดสนิท
- การใช้บูเดโซไนด์ฉีดพ่นเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มใช้ 2-3 สัปดาห์ก่อนช่วงฤดูกาลที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ เพื่อป้องกันอาการแพ้เกิดขึ้น
- ยาบูเดโซไนด์ชนิดสูดพ่นควรใช้กับอุปกรณ์สูดพ่นที่มาพร้อมยาเท่านั้น และอย่านำอุปกรณ์ดังกล่าวไปแช่น้ำหรือพยายามแยกชิ้นส่วน
- ล้างปากทุกครั้งด้วยน้ำสะอาดหลังจากพ่นยา เพื่อป้องกันการติดเชื้อราในปากและลำคอ และหากใช้ยาพ่นผ่านหน้ากากหายใจ ควรล้างใบหน้าบริเวณที่สวมหน้ากากทุกครั้งหลังการใช้
- สำหรับการใช้ยาบูเดโซไนด์แบบสูดพ่น มีขั้นตอนการใช้ ดังนี้
- เปิดฝาครอบหลอดพ่นยาออก
- ในครั้งแรกที่เปิดใช้ยา ให้ถือหลอดพ่นยาในแนวตั้ง ใช้อีกมือบิดฐานหลอดยาไปทางขวาจนสุด และหมุนกลับไปทางซ้ายอีกครั้งจนสุด กระทั่งได้ยินเสียงดังคลิกของหลอดยาที่ถูกเปิด ทำซ้ำเช่นนี้อีก 2 ครั้งจึงเริ่มสูดพ่นยาได้
- สำหรับการใช้ครั้งต่อไปหลังจากเปิดใช้ยาแล้ว ให้ถือหลอดยาในแนวตั้ง หมุนฐานหลอดยาไปทางขวาให้สุด ตามด้วยหมุนไปทางซ้ายจนสุดและได้ยินเสียงคลิก โดยทำเพียง 1 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้ไม่ควรเขย่าหลอดพ่นยาหลังจากกดยาแล้ว
- เริ่มสูดพ่นยาโดยหันศีรษะไปทางอื่นและหายใจออก อย่าเป่าหรือพ่นลมหายใจเข้าสู่เครื่องสูดพ่นยา
- จับเครื่องสูดพ่นยาในแนวตั้ง วางปากหลอดพ่นที่ระหว่างริมฝีปากให้ดี ก้มศีรษะลงเล็กน้อย กดริมฝีปากแน่น ๆ แต่ไม่ต้องกัด จากนั้นหายใจเข้าลึก ๆ แรง ๆ ให้ผงยาเข้าสู่ลำคอโดยระวังไม่ให้ถูกฟันหรือลิ้นขวางไว้
- นำเครื่องสูดพ่นยาออกจากปากแล้วกลั้นหายใจประมาณ 10 วินาที อย่าเป่าหรือหายใจออกขณะที่เครื่องสูดพ่นยังอยู่ในปาก
- ผู้ที่ต้องสูดพ่นยาครั้งละ 2 หน ให้ทำตามขั้นตอนที่ 4-6
- ครอบฝาปิดหลอดพ่นยาไว้ดังเดิมแล้วหมุนปิดให้สนิท
- ล้างปากด้วยน้ำเปล่าแล้วบ้วนทิ้งทุกครั้งหลังการพ่นยา โดยห้ามกลืนน้ำที่บ้วน
- เก็บรักษาหลอดพ่นยาให้แห้งและสะอาดภายในภาชนะที่ปิดมิดชิดเสมอ
- เนื่องจากยาบูเดโซไนด์มีหลายรูปแบบ ก่อนใช้ยาควรให้แพทย์หรือเภสัชกรสาธิตวิธีการใช้ยา หรือสอบถามจนเข้าใจและมั่นใจว่าใช้ได้ถูกต้อง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Budesonide
การใช้ยาบูเดโซไนด์ชนิดพ่นอาจมีผลข้างเคียงให้เกิดการติดเชื้อราภายในโพรงจมูกและเชื้อราในช่องปากตามมาได้ รวมถึงอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ในช่องปาก คอ และจมูก เช่น อาการแห้ง ระคายเคือง หรือเป็นแผลไหม้ในจมูก ปากแห้ง เจ็บคอ เสียงแหบ มีอาการไอเพิ่มขึ้น หรือมีเลือดกำเดาไหลในบางครั้ง
ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยาบูเดโซไนด์ชนิดรับประทานที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องผูก ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะ รู้สึกเหนื่อย ปวดตามข้อต่อ มีสิวขึ้น หรือมีอาการของหวัด เช่น คัดจมูก จาม เจ็บคอ
ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการแพ้ยารุนแรง ได้แก่ หายใจลำบาก เกิดลมพิษ หรือมีอาการบวมตามใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ ควรต้องรีบไปพบแพทย์ในทันที รวมทั้งเมื่อมีอาการข้างเคียงรุนแรงต่อไปนี้
- ผิวหนังบาง ฟกช้ำง่าย มีสิวหรือเส้นขนขึ้นบนใบหน้ามากขึ้น
- ข้อเท้าบวม
- อ่อนเพลีย รู้สึกเหนื่อย เวียนศึรษะ คล้ายจะเป็นลม
- คลื่นไส้ อาเจียน มีเลือดออกทางทวารหนัก
- ปัสสาวะแล้วเจ็บหรือรู้สึกแสบ
- ในผู้หญิง มีประจำเดือนผิดปกติ หรือในผู้ชายจะหมดความสนใจทางเพศ
- ผิวหนังแตกลาย รูปร่างเปลี่ยนแปลงหรือมีไขมันสะสมตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณคอ ใบหน้า หลัง และรอบเอว
อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวข้างต้นยังไม่ใช่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด หากพบอาการข้างเคียงผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติมจากการใช้ยาบูเดโซไนด์ ควรปรึกษาแพทย์