Bursitis

ความหมาย Bursitis

Bursitis คือภาวะที่ถุงของเหลวหล่อลื่นบริเวณข้อต่อ (Bursae) เกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือไม่สบายตัวในบริเวณที่เกิดอาการ ส่งผลให้เคลื่อนไหวข้อต่อต่าง ๆ ไม่สะดวก โดยมักเกิดขึ้นใกล้กับข้อต่อที่มีการใช้งานซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน บริเวณที่พบได้บ่อย คือ ไหล่ ข้อศอกและสะโพก ในบางกรณีอาจพบได้ที่เข่า ส้นเท้า และฐานข้อนิ้วหัวแม่เท้า 

ถุงของเหลวหล่อลื่นจะพบที่บริเวณข้อต่อ มีหน้าที่ช่วยรองรับเอ็น กระดูกและกล้ามเนื้อ โดยถุงของเหลวดังกล่าวจะช่วยลดการเสียดสีและแรงกระแทกขณะเคลื่อนไหวร่างกาย ในกรณีที่รู้สึกเจ็บปวดจากการอักเสบของถุงของเหลวบริเวณข้อต่อ การดูแลตนเองเบื้องต้นด้วยการหยุดพักการใช้งานของข้อต่อบริเวณที่มีอาการอาจช่วยบรรเทาอาการได้ 

Bursitis

อาการของ Bursitis

ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่เกิดและความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • รู้สึกเจ็บปวดหรือตึงบริเวณที่เกิดอาการ อาการอาจเกิดขึ้นช้า ๆ หรืออาจรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหากเกิดการสะสมของแคลเซียมบริเวณข้อต่อดังกล่าว 
  • รู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวหรือถูกกดทับบริเวณข้อต่อ
  • บริเวณข้อต่อเกิดการบวม แดง มีอาการข้อติด 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรไปรีบพบแพทย์หากมีไข้ รู้สึกเจ็บปวดรุนแรงอย่างเฉียบพลัน รู้สึกไม่สบายตัวหรือเจ็บปวดบริเวณอื่นร่วมด้วย รู้สึกเจ็บแปลบเมื่ออกแรงหรือออกกำลังกาย มีอาการบวมแดงหรือช้ำ รู้สึกถึงความร้อนบริเวณข้อต่อ ขยับข้อต่อได้ลำบาก ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรืออาการอื่นตามมา

โดยทั่วไป หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมมักจะช่วยให้อาการเจ็บปวดดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยควรดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการซ้ำอีกในภายหลัง เนื่องจากอาการ Bursitis สามารถกลับมาเกิดซ้ำได้อีก 

สาเหตุของ Bursitis

สาเหตุที่พบได้บ่อยเกิดจากการได้รับอุบัติเหตุ การบาดเจ็บหรือเสียหายของถุงน้ำหล่อลื่นข้อต่อจากการเล่นกีฬาหรือเคลื่อนไหวในรูปแบบซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน การยืน นั่ง หรืออยู่ในอิริยาบถที่ผิดท่า รวมทั้งโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อนแล้ว ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดหรือบวมแดงในบริเวณที่มีอาการ 

โดยสาเหตุการเกิด Bursitis จะแตกต่างกันไปตามบริเวณที่เกิดอาการ ดังนี้

  • ถุงน้ำข้อต่อบริเวณสะบ้าหัวเข่าอักเสบ (Prepatellar Bursitis) เกิดจากการเล่นกีฬา การใช้งานหัวเข่าเป็นเวลานาน หรือการติดเชื้อได้ โดยอาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลันหรือเรื้อรังก็ได้ 
  • ถุงน้ำข้อต่อบริเวณข้อศอกอักเสบ (Olecranon Bursitis) ส่วนมากมักเป็นอาการเรื้อรังที่เกิดจากการวางข้อศอกบนพื้นแข็งเป็นเวลานาน การได้รับบาดเจ็บ หรือการติดเชื้อบริเวณข้อต่อ 
  • ถุงน้ำข้อต่อบริเวณสะโพกอักเสบ (Trochanteric Bursitis) อาการมักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยอาจเกิดร่วมกับโรคข้ออักเสบ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือเกาต์ หรืออาจเกิดจากการทิ้งน้ำหนักบริเวณสะโพกเป็นเวลานาน การยืนหรือนั่งผิดท่า การได้รับบาดเจ็บหรืออาจเกิดจากการติดเชื้อบริเวณข้อต่อ
  • ถุงน้ำข้อต่อบริเวณส้นเท้าอักเสบ (Retrocalcaneal Bursitis) อาจเกิดอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรังจากการวิ่ง กระโดด ทำกิจกรรมที่ลงน้ำหนักที่ส้นเท้าซ้ำ ๆ รวมไปถึงการออกกำลังกายโดยไม่มีการอบอุ่นร่างกายก่อนหรือการสวมรองเท้าที่คับเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิด Bursitis ได้แก่ ผู้ที่ใช้ร่างกายในการทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้ข้อต่ออย่างหนัก เช่น นักดนตรี นักกีฬา จิตรกรหรือผู้ใช้แรงงานอื่น ๆ รวมถึงปัจจัยด้านอายุที่มีโอกาสเกิดได้มากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และปัจจัยด้านโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิด Bursitis ได้มากขึ้น เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเกาต์ โรคเบาหวาน และภาวะน้ำหนักเกิน

การวินิจฉัย Bursitis

แพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกายในกรณีที่ข้อต่อบวมขึ้น จากนั้นอาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การทดสอบด้วยภาพวินิจฉัย ได้แก่ การเอกซเรย์เพื่อช่วยให้แพทย์ตัดสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดบวมหรืออักเสบบริเวณข้อต่อคล้ายกับ Bursitis ได้บางส่วน หรืออาจใช้การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการอัลตราซาวด์เพื่อวินิจฉัยอาการจากภาพข้อต่อที่ชัดเจนขึ้น
  • การทดสอบทางห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจตรวจเลือดหรือเก็บตัวอย่างของเหลวจากถุงน้ำบริเวณข้อต่อ เพื่อวินิจฉัยอาการผิดปกติจากติดเชื้อหรือเกิดจากสาเหตุอื่น อย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือการได้รับบาดเจ็บของผู้ป่วย โดยบริเวณที่พบการติดเชื้อได้บ่อยคือบริเวณหัวเข่าและข้อศอก

การรักษา Bursitis

การรักษาจะแตกต่างกันตามตำแหน่งที่เกิดและความรุนแรงของอาการ 

การดูแลตนเองที่บ้าน

อาการของ Bursitis สามารถดีขึ้นได้จากการดูแลตนเองในเบื้องต้น โดยผู้ป่วยควรจำกัดหรือหยุดพักการใช้งานบริเวณที่มีอาการ ใช้หมอนหนุนรองระหว่างขาทั้งสองข้างในกรณีที่นอนตะแคงเพื่อช่วยลดการกดทับบริเวณเข่า ประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการปวดหรือบวม รวมไปถึงสามารถรับประทายาแก้ปวดที่หาซื้อได้ทั่วไป อย่างยาไอบูโพรเฟนหรือยานาพรอกเซน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบ หรืออาจใช้ยาทาบรรเทาอาการปวดตามคำแนะนำของเภสัชกร

การรักษาโดยแพทย์

หากการผู้ป่วยใช้วิธีดูแลตนเองที่บ้านแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม เช่น

  • การใช้ยา แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานแก่ผู้ป่วยในกรณีที่เกิดการติดเชื้อของถุงน้ำบริเวณข้อต่อ
  • การฉีดยาสเตียรอยด์ แพทย์อาจฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยรับประทานยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการปวดรุนแรง ซึ่งยาสเตียรอยด์จะออกฤทธิ์เร็วและมักจะฉีดแก่ผู้ป่วยแค่ครั้งเดียว 
  • การทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกาย เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในบริเวณที่มีอาการ รวมถึงสามารถลดความเจ็บปวดและป้องกันการเกิด Bursitis ซ้ำอีกในภายหลัง
  • การใช้เครื่องมือช่วยพยุงร่างกายและลดแรงกดทับในบริเวณที่มีอาการ เช่น ไม้เท้าหรืออุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อช่วยในการเดินของผู้ป่วย 
  • การผ่าตัดเพื่อระบายของเหลวภายในถุงน้ำออกเมื่อเกิดการอักเสบ หรืออาจมีการผ่าตัดเพื่อนำถุงน้ำที่อักเสบออกหากจำเป็น แต่ถือเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมาก

ภาวะแทรกซ้อนของ Bursitis

Bursitis อาจทำให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้นหรืออาจทำให้เดินหรือลุกนั่งไม่สะดวก เนื่องจากอาการกระทบต่อการใช้งานข้อต่อโดยตรง หากผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อในถุงน้ำบริเวณข้อต่อ (Septic Bursitis) จะส่งผลให้มีอาการปวดและบวม มีไข้ รู้สึกร้อนบริเวณข้อต่อ รอบข้อต่อบวม หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจทำให้การติดเชื้อลุกลามไปยังบริเวณข้อต่อ กระดูกส่วนอื่นในร่างกาย หรือติดเชื้อในกระแสเลือด

การป้องกัน Bursitis

แม้จะยังไม่มีวิธีป้องกัน Bursitis ได้ทุกประเภท แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดหรือลดความรุนแรงของโรคลงได้ ดังนี้

  • เมื่อต้องนั่งคุกเข่า ทำงานหรือกิจกรรมที่ต้องคุกเข่าบนพื้นแข็ง ควรใช้เบาะรองเข่าเพื่อลดแรงกระแทกหรือแรงกดทับ
  • เมื่อต้องยกของขึ้นจากพื้น ควรย่อเข่าแทนเพื่อลดแรงกระแทกหรือเสียดสีของถุงน้ำข้อต่อบริเวณสะโพก แต่หากสิ่งของมีน้ำหนักมาก ควรใช้รถเข็นช่วยแทนการยกด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่บริเวณไหล่
  • หาช่วงเวลาพักระหว่างทำกิจกรรมและเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะการใช้งานข้อต่อเป็นระยะเวลานานติดต่อกันอาจทำให้เกิดการอักเสบของถุงน้ำบริเวณข้อต่อ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้อต่อ 
  • อบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้อทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย เพื่อลดโอกาสในการบาดเจ็บของข้อต่อ
  • หากเริ่มเล่นกีฬาชนิดใหม่ที่ไม่เคยเล่นมาก่อน ควรเริ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะการเล่นอย่างหักโหมจะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บง่ายขึ้น