Carbocysteine (คาร์โบซิสเทอีน)
Carbocysteine (คาร์โบซิสเทอีน) คือ ยาแก้ไอแบบมีเสมหะสำหรับรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือโรคซีโอพีดี โดยยาจะออกฤทธิ์โดยการลดความเหนียวข้นของเสมหะ ซึ่งจะช่วยให้ขับเสมหะออกมาได้ง่าย
ยา Carbocysteine เป็นยาละลายเสมหะที่จะช่วยควบคุมกระบวนการสร้างเสมหะโดยตรง จึงช่วยปรับระดับความเหนียวข้นและความหยืดหยุ่นของเสมหะให้กลับมาเป็นปกติ โดยยานี้อาจจ่ายตามใบสั่งแพทย์ หรืออาจหาซื้อได้ด้วยตนเองตามร้านขายยาทั่วไป
เกี่ยวกับยา Carbocysteine
กลุ่มยา | ยาละลายเสมหะ |
ประเภทยา | ยาหาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ละลายเสมหะ บรรเทาอาการไอมีเสมหะเรื้อรัง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ | ในปัจจุบันยา Carbocysteine ยังไม่มีการระบุหมวดหมู่สำหรับการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ แม้จากการศึกษาในสัตว์จะยังไม่พบความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนจะมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาเสมอ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและทารกมากที่สุด |
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร | ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ายาจะถูกส่งผ่านทางน้ำนมจนเป็นอันตรายต่อเด็กหรือไม่ ดังนั้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับประทานยานี้ |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน ยาเม็ด ยาเม็ดชนิดเคี้ยว หรือแคปซูล |
คำเตือนของการใช้ยา Carbocysteine
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ควรแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบ หากเคยมีประวัติการแพ้ยา โรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร และวิตามินเสริมตัวใดอยู่ในช่วงนั้น เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา
- การใช้ยาสำหรับผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ หลังรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย
- การดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่มีรับประทานยานี้อาจทำให้อาการแย่ลง
- ยานี้อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอและพบแพทย์เป็นประจำ
- ยานี้สามารถใช้ได้ในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไป และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
ปริมาณการใช้ยา Carbocysteine
การใช้ยา Carbocysteine อาจแตกต่างกันไปตามอาการ ความรุนแรงของโรค และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นหลัก โดยตัวอย่างปริมาณการใช้ยา Losartan เพื่อรักษาอาการต่าง ๆ เช่น
ละลายเสมหะ
เด็กที่มีอายุ 2–5 ปี รับประทานยาในปริมาณ 62.5–125 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 4 ครั้งต่อวัน
เด็กที่มีอายุ 6–12 ปี รับประทานยาในปริมาณ 100 มิลลิกรัม หรือ 250 มิลลิกรัม แบ่งรับประทาน 3 ครั้งต่อวัน
ผู้ใหญ่ รับประทานยาในปริมาณ 2.25 กรัมต่อวัน แบ่งรับประทาน 2–3 ครั้งต่อวัน เมื่ออาการดีขึ้นให้ลดขนาดยาลงมาเป็น 1.5 กรัมต่อวัน
การใช้ยา Carbocysteine
ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็ก และอ่านฉลากอย่างละเอียดก่อนรับประทาน เพราะยาแต่ละชนิดมีการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ยาชนิดน้ำควรใช้ช้อนตวงที่ทางโรงพยาบาลให้มา ยาชนิดเม็ดควรกลืนไปทั้งเม็ดแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ ยาชนิดนี้ควรรับประทานก่อนหรือพร้อมอาหารในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน เพื่อประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ของยาสูงสุด
การใช้ยาในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ควรรับประทานยาควบคู่ไปพร้อมกับการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยให้ทราบได้ว่าตัวยามีประสิทธิภาพในการรักษามากน้อยเพียงใด และออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยฝึกให้ผู้ป่วยหายใจได้ง่ายขึ้น
ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป อละไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
การเก็บยาควรเก็บไว้ในอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และเก็บไว้ให้พ้นจากมือเด็ก รวมทั้งไม่ควรรับประทานยาที่หมดอายุ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้
ปฏิกิริยาระหว่างยา Carbocysteine กับยาอื่น
การใช้ยา Carbocysteine ร่วมกับยาชนิดอื่นอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้ ดังนั้น ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ หากกำลังใช้ยาใดอยู่ โดยเฉพาะที่อาจมีผลข้างเคียงทำให้มีเลือดออกหรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เช่น
- ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) ยาแอสไพริน (Aspirin)
- ยาสเตียรอยด์
- ยาต้านเกล็ดเลือด เช่น ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) ยาทิคาเกรลอล (Ticagrelor)
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Carbocysteine
ยา Carbocysteine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย ซึ่งเป็นผลข้างเคียงเล็กน้อยหลังจากรับประทานยา
ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง เช่น ลมพิษ อาการบวมตามใบหน้า ลิ้น หรือคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรงยา เช่น หน้ามืด เหงื่อตก อาเจียนเป็นเลือดหรือมีสีดำ หนาวสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ