Cardiomyopathy

ความหมาย Cardiomyopathy

Cardiomyopathy (โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardium) ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ Cardiomyopathy แบ่งออกได้หลายประเภท และอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือการได้รับยาบางชนิด

ผู้ป่วย Cardiomyopathy ที่ไม่มีอาการอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา และผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงสามารถปรับพฤติกรรมหรือรับประทานยาเพื่อควบคุมอาการ แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยการรับประทานยา การใส่เครื่องมือช่วยในการทำงานของหัวใจ หรืออาจต้องเข้ารับการผ่าตัดหากมีอาการรุนแรงมาก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ลิ้นหัวในรั่ว หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เป็นต้น

Cardiomyopathy

อาการของ Cardiomyopathy

ในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป ผู้ป่วยอาจมีอาการที่อาจสังเกตได้ ดังนี้

  • รู้สึกหมดแรง อ่อนเพลีย
  • หายใจเหนื่อยหอบ โดยเฉพาะขณะออกกำลังกายหรือออกแรงทำกิจกรรม แต่อาจเกิดขึ้นขณะพักได้เช่นกัน
  • เวียนศรีษะ หน้ามืด หรือเป็นลมหมดสติ
  • เจ็บแน่นหน้าอก และมีอาการไอขณะนอนราบ
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ
  • ท้องบวมจากของเหลวสะสมในช่องท้อง
  • ขา ข้อเท้า และเท้าบวม
  • ความดันโลหิตสูง

หากมีอาการหรือสัญญาณผิดปกติใด ๆ ของ Cardiomyopathy ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เนื่องจากการปล่อยให้มีอาการผิดปกติทิ้งไว้อาจทำให้มีอาการรุนแรงขึ้น และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากคนในครอบครัวมีประวัติของโรคนี้มาก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการหายใจติดขัดอย่างรุนแรง รู้สึกเจ็บหน้าอกหรือเป็นลมหมดสติ

สาเหตุของ Cardiomyopathy

สาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิด Cardiomyopathy ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือเป็นผลจากโรคประจำตัว โดย Cardiomyopathy สามารถแบ่งย่อยลงไปเป็น 4 ประเภทหลัก ดังนี้

ภาวะหัวใจโต (Dilated Cardiomyopathy) 

ภาวะหัวใจโตมักพบในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี จัดเป็น Cardiomyopathy ประเภทที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายขยายตัวและผนังห้องหัวใจบางลง ทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ และอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย ซึ่งภาวะหัวใจโตอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจขาดเลือด การดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy)

เป็นสภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาตัวผิดปกติทำให้อุดกั้นการไหลเวียนของเลือด เป็นภาวะที่คาดว่าเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยทั่วไปอาจไม่มีอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แต่อาจทำให้เกิดความผิดปกติอื่นตามมาได้ในบางกรณี เช่น ภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) ลิ้นหัวใจรั่ว ที่ลิ้นไมตรัล (Mitral Regurgitation) และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบ (Endocarditis) 

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหดรัดผิดปกติ (Restrictive cardiomyopathy)

เป็นสภาวะที่พบได้ยาก เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวและไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ทำให้การไหลเวียนของเลือดเข้าสู่ห้องหัวใจผิดปกติขณะที่หัวใจคลายตัว เป็นภาวะที่พบได้กับคนทุกวัย แต่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดอาการที่แน่ชัด แต่อาจเกิดจากโรคบางอย่าง เช่น ภาวะเหล็กเกิน (Hemochromatosis) โรคแอมีลอยโดซิส (Amyloidosis) โรคหนังแข็ง (Scleroderma) และโรคซาร์คอยด์ (Sarcoidosis) เป็นต้น

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจากกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาผิดปกติ (Arrhythmogenic Right Ventricular Dysplasia)

เป็นภาวะที่เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างขวาตาย ทำให้มีไขมันและพังผืดแทรกแทนที่ และอาจไปรบกวนการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจจนทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Cardiac Arrest) ได้ โดยสาเหตุอาจเกิดจากความผิดปกติของยีนหรือการออกกำลังกายอย่างหักโหมจนเกินไป

สาเหตุอื่น ๆ

Cardiomyopathy อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

  • โรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจอื่น ๆ
  • คนในครอบครัวมีประวัติของ Cardiomyopathy ภาวะหัวใจวาย หรือภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้สารเสพติด
  • การได้รับยาเคมีบำบัด หรือการฉายแสงเพื่อรักษามะเร็ง
  • ภาวะตั้งครรภ์
  • ภาวะขาดสารวิตามินและเกลือแร่บางชนิด อย่างไทอะมีน (Thiamin) หรือวิตามินบี 1

การวินิจฉัย Cardiomyopathy

แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยหรือบุคคลในครอบครัวที่อาจพบว่าเคยเป็นโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิด Cardiomyopathy รวมทั้งตรวจร่างกายเบื้องต้นและอาจตรวจเพิ่มเติมดังนี้

  • การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจดูอวัยวะภายในและตรวจหาในกรณีที่อาจเกิดภาวะหัวใจโต
  • การทำเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) เป็นการใช้คลื่นเสียงจำลองภาพของหัวใจเพื่อใช้ในการตรวจอาการผิดปกติของหัวใจ อย่างขนาด จังหวะการเต้นของหัวใจ และลิ้นหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG/EKG) เป็นการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง โดยจะถูกบันทึกด้วยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้แพทย์สามารถตรวจดูการทำงานของหัวใจหรือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บได้
  • การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยเดินบนลู่วิ่งจากนั้นจะตรวจดูความดันโลหิตและจังหวะการเต้นของหัวใจที่อาจผิดปกติ
  • การสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization) เป็นการสอดสายสวนขนาดเล็กทางหลอดเลือดดำบริเวณขาหรือลำคอ ซึ่งสายสวนดังกล่าวจะผ่านเข้าไปยังหัวใจ และใช้เครื่องมือพิเศษในการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อจากกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการ เพื่อใช้วินิจฉัยการสูบฉีดเลือดผ่านหัวใจ
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจวัดการทำงานของตับ ไต ต่อมไทรอยด์ และระดับธาตุเหล็กที่สะสมในเลือด
  • การทำเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อให้เห็นภาพของโครงสร้างของหัวใจ โดยอาจใช้ตรวจเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการทำเอคโคหัวใจเพื่อให้วินิจฉัยความผิดปกติได้ชัดเจนขึ้น
  • การทำซีที สแกน (CT Scan) โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อให้เห็นภาพการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ
  • การตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรม (Genetic Testing) เนื่องจาก Cardiomyopathy อาจได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

การรักษา Cardiomyopathy

จุดมุ่งหมายของการรักษา Cardiomyopathy คือการป้องกันอาการไม่ให้แย่ลงและลดโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ดังนี้

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ใช้วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็อาจช่วยให้อาการดีขึ้นได้ และอาจช่วยลดโอกาสการกลับมามีอาการซ้ำอีกในภายหลัง

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว โซเดียม และน้ำตาลสูง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การรักษาด้วยยา

แพทย์อาจสั่งจ่ายยาที่ช่วยการทำงานของหัวใจและการไหลเวียนของเลือด ได้แก่ ยาลดความดันโลหิต ยาที่ช่วยควบคุมให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลงหรือเต้นในอัตราปกติ ยาต้านเกล็ดเลือด ยาขับปัสสาวะ และยาแอลโดสเตอร์โรน บล็อคเกอร์ (Aldosterone Blockers) เพื่อรักษาสมดุลของแร่ธาตุในร่างกาย ทั้งนี้ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

วิธีการรักษา Cardiomyopathy โดยไม่ผ่าตัด อาจใช้วิธีต่อไปนี้

  • การฉีดแอลกอฮอล์เพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจบางลง (Septal Ablation) เป็นการทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเฉพาะส่วนที่หนาผิดปกติบางลง ส่งผลให้เลือดไหลจากห้องหัวใจสู่หลอดเลือดได้ดีขึ้น
  • การรักษาด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Radiofrequency Ablation) โดยสอดสายสวนเข้าไปในหัวใจผ่านทางหลอดเลือด และปล่อยพลังงานความถี่คลื่นวิทยุเพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

การรักษาด้วยการผ่าตัด 

การผ่าตัดที่นำมาใช้ในการรักษา Cardiomyopathy คือการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อตัดเอากล้ามเนื้อหัวใจส่วนที่หนาผิดปกติออก ทำให้เลือดไหลเวียนจากหัวใจได้ดีขึ้น และช่วยลดการเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว

นอกจากนี้ แพทย์อาจผ่าตัดใส่เครื่องมือบริเวณใกล้กับหัวใจ เพื่อช่วยรักษาอาการและช่วยในการทำงานของหัวใจ ได้แก่ เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardioverter Defibrillator) เครื่องช่วยการไหลเวียนของเลือด (Ventricular assist device) และเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker)

ภาวะแทรกซ้อนของ Cardiomyopathy

Cardiomyopathy อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังต่อไปนี้

  • หัวใจวาย เกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้อย่างเพียงพอ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ลิ่มเลือด เมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดอาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในหัวใจ และหากลิ่มเลือดเข้าสู่กระแสเลือด อาจทำให้ไปอุดกั้นการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจ
  • ลิ้นหัวใจรั่ว หากหัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิทจนทำให้เลือดไหลย้อนกลับได้
  • หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตเฉียบพลัน โดย Cardiomyopathy อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเป็นลมหมดสติ และหากหัวใจหยุดเต้นอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

การป้องกัน Cardiomyopathy

แม้จะไม่สามารถป้องกันสาเหตุที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิด Cardiomyopathy จากสาเหตุอื่น อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหัวใจขาดเลือดที่อาจนำไปสู่ Cardiomyopathy ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและโซเดียมสูง 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และหาวิธีผ่อนคลายความเครียดอย่างเหมาะสม
  • หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง ควรไปพบแพทย์ตามนัดหมาย ดูแลสุขภาพและรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน