การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก (Child Abuse) สิ่งที่ทุกคนไม่ควรเพิกเฉย

การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก (Child Abuse) หรือการทารุณกรรมเด็ก เป็นการกระทำที่ทำให้เด็กและเยาวชนไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิงได้รับอันตรายทางร่างกายหรือจิตใจ โดยการกระทำที่เข้าข่าย Child Abuse มีตั้งแต่การทำร้ายร่างกายเด็ก เช่น ทุบตีให้ได้รับบาดเจ็บ การทำร้ายจิตใจ เช่น ใช้คำพูดข่มขู่ การละเลยและทอดทิ้งเด็ก ไปจนถึงการคุกคามทางเพศ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติเผยสถิติการใช้ความรุนแรงกับเด็กช่วงปี พ.ศ. 2547–2563 พบว่ามีเด็กถูกทารุณกรรมและมาเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลตำรวจจำนวนกว่า 1,307 ราย และมีแนวโน้มว่าการใช้ความรุนแรงต่อเด็กจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Child Abuse การใช้ความรุนแรงในเด็กที่ไม่ควรเพิกเฉย

การทารุณกรรมเด็กเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรเพิกเฉยและควรเข้าช่วยเหลือ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจรุนแรงไปมากกว่านี้

ลักษณะของการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก

องค์การอนามัยโลก (WHO) แบ่งประเภทการกระทำที่เข้าข่ายการใช้ความรุนแรงต่อเด็กไว้ 4 ประเภท ดังนี้

  • การทำร้ายร่างกาย (Physical Abuse) คือ การทำให้เด็กได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น ทุบ ตบตี หยิก เตะ ใช้น้ำร้อนหรือไฟลวกที่ตัวเด็ก โดยผู้กระทำตั้งใจทำ ไม่ได้เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ
  • การทำร้ายจิตใจ (Emotional Abuse) เช่น การใช้คำพูดดุด่า ดูถูก ข่มขู่ คุกคาม รวมทั้งการกระทำที่ทำให้เด็กรู้สึกอับอาย กลัว และเมินเฉยต่อความต้องการของเด็ก ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กในอนาคต
  • การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse) เช่น การเปิดอวัยวะเพศหรือช่วยตัวเองให้เด็กดู การให้เด็กดูภาพหรือวิดีโอโป๊ การสัมผัสร่างกายเด็ก การสอดใส่อวัยวะเพศหรือสิ่งของอย่างอื่นทางปาก ช่องคลอด หรือทวารหนักของเด็กโดยที่เด็กไม่ยินยอม การค้าประเวณีเด็ก 
  • การทอดทิ้ง (Neglect) คือ การที่ผู้ดูแลไม่เอาใจใส่เกี่ยวกับสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเด็ก เช่น อาหาร เสื้อผ้า การศึกษา สุขอนามัย ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก

การใช้ความรุนแรงต่อเด็กมักเกิดขึ้นในครอบครัว หรือเกิดจากคนที่เด็กไว้ใจ สามารถเข้าถึงตัวเด็กได้ และมีอำนาจเหนือเด็ก เช่น ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครู 

โดยปัจจัยที่ทำให้คนเหล่านี้มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับเด็ก เช่น มีประวัติถูกทำร้ายหรือถูกทอดทิ้งในวัยเด็ก มีโรคทางกายและทางจิต มีฐานะยากจน ใช้สุราหรือสารเสพติด มีปัญหาครอบครัวหรือหย่าร้าง ซึ่งนำไปสู่การทำร้ายเด็กเพื่อระบายความเครียดของตนเอง

เช็กอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของการใช้ความรุนแรงต่อเด็ก

เนื่องจากเด็กที่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรงอาจไม่กล้าบอกใครว่าตนเองถูกทำร้าย เนื่องจากกลัวว่าจะไม่มีใครเชื่อหรือถูกข่มขู่ว่าจะทำร้ายหากบอกคนอื่น เด็กหลายคนอาจถูกคนในครอบครัวที่รักและไว้ใจทำร้าย ทำให้ไม่สามารถบอกคนอื่นได้ว่าถูกทำร้ายอยู่ หรือเด็กบางคนอาจไม่รู้ตัวว่าถูกทารุณกรรม

คนใกล้ชิดและคนที่พบเห็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็กจึงควรสังเกตอาการผิดปกติของเด็กที่อาจบ่งบอกว่าเด็กกำลังถูกทารุณกรรม เช่น

ความผิดปกติทางร่างกาย

เด็กมักมีร่องรอยการบาดเจ็บตามร่างกายที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น รอยฟกช้ำ รอยแผลแตก รอยไหม้ กระดูกหัก ลักษณะบาดแผลซึ่งไม่ตรงกับที่มาของบาดแผลตามที่เด็กเล่า มีอาการปวดศีรษะหรือปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ 

เด็กที่ถูกทอดทิ้งมักมีน้ำหนักและส่วนสูงน้อยกว่าเกณฑ์ ร่างกายขาดสารอาหาร พัฒนาการและการเรียนรู้ก็ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน ส่วนเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจปัสสาวะรดที่นอน มีเลือดออกที่กางเกงใน เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ และตั้งครรภ์

ความผิดปกติทางอารมณ์และพฤติกรรม

เด็กมักมีอาการหวาดกลัว หวาดระแวง ตกใจง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า ร้องไห้บ่อยผิดปกติ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ก้าวร้าว และมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ ฝันร้าย เก็บตัวจากคนอื่น กลัวการไปโรงเรียน กลัวการทำกิจกรรมกับคนอื่น หรือผลการเรียนแย่ลง

พฤติกรรมที่ผิดปกติของเด็กอาจต่างกันตามสาเหตุของการถูกทำร้าย เช่น เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอาจหมกมุ่นเรื่องเพศหรือแสดงพฤติกรรมทางเพศที่ผิดปกติ เด็กที่ถูกทอดทิ้งมักขาดสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างอาหารและเสื้อผ้า จึงอาจมีพฤติกรรมลักขโมยเงิน สิ่งของ หรืออาหาร 

นอกจากนี้ การใช้ความรุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว เช่น ไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอจึงอาจทำให้ไม่ได้รับการจ้างงานในอนาคต ความเครียดเรื้อรัง โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) การใช้สารเสพติด ปัญหาความสัมพันธ์ เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้กระทำ Child Abuse ในอนาคต และอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

เมื่อพบเห็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็กควรทำอย่างไร

หากพบเห็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็ก ไม่ควรเพิกเฉยและให้รีบเข้าไปช่วยทันที โดยบอกให้ผู้ทำร้ายเด็กหยุดการกระทำ และขอความช่วยเหลือจากคนที่อยู่ในละแวกนั้น ทว่าควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองด้วย เพราะบางครั้งผู้ที่ใช้ความรุนแรงอาจมีอาวุธหรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถควบคุมสติได้ 

หากทราบช่วงเวลาที่เด็กจะถูกใช้ความรุนแรง อาจนำเด็กออกมาดูแลในช่วงเวลานั้นเพื่อความปลอดภัยของเด็ก และหากเห็นว่ามีแนวโน้มที่เด็กจะถูกทำร้ายอีก ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าดูแลต่อไป

กรณีที่พบเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อเด็กแต่ไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที ให้แจ้งตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าช่วยเหลือ โดยแจ้งข้อมูลของผู้กระทำและเด็กที่ถูกทำร้าย ลักษณะการทำร้าย และรายละเอียดเหตุการณ์ เช่น เวลาและสถานที่เกิดเหตุ ให้หน่วยงานเหล่านี้รับทราบ

  • สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้เคียง หรือโทร. 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 
  • สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 
  • มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร. 0-2412-1196 
  • สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัด
  • มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย (ไทยฮอตไลน์) ทาง www.thaihotline.org กรณีพบเห็นสื่อลามกอนาจารเด็ก และนำหลักฐานเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
  • หน่วยงานอื่น ๆ ที่ให้คำปรึกษาเพิ่มเติม เช่น คณะทำงานการปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ที่เฟซบุ๊ก TICAC2016 หรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เว็บไซต์ https://tcsd.go.th โทร. 0-2142-2556 หรือ 0-2143-8080

เมื่อเด็กได้รับการช่วยเหลือแล้ว อาจได้รับการรักษาอาการบาดเจ็บตามร่างกาย และจิตบำบัดหากการใช้ความรุนแรงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก ในบางกรณี เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กและครอบครัวหรือศูนย์ช่วยเหลือสังคมจะเข้ามาดูแลและฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กที่ถูกทำร้าย รวมทั้งหาแนวทางการช่วยเหลือด้านการศึกษาต่อไป

เนื่องจากผู้ที่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กมักเป็นคนในครอบครัวที่ใกล้ชิดกับเด็ก ผู้ดูแลควรสอนให้เด็กระมัดระวังอันตรายรอบตัว และควรสังเกตเกี่ยวกับอาการและพฤติกรรมของเด็ก หากพบความผิดปกติควรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเด็กในระยะยาว