ความหมาย โรคโครห์น (Crohn's Disease)
Crohn's Disease (โรคโครห์น) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ โดยเกิดการอักเสบของเยื่อบุในระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง หรือน้ำหนักตัวลดลง นอกจากนั้น การอักเสบสามารถเกิดขึ้นกับส่วนใดของระบบทางเดินอาหารก็ได้ แต่มักจะเกิดขึ้นที่ลำไส้ส่วนปลายหรือลำไส้ใหญ่
อาการของ Crohn's Disease
อาการจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเกิดการอักเสบขึ้นที่ใด โดยอาการที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
- ท้องเสีย
- มีไข้
- ปวดท้อง และบีบเกร็งที่ท้อง ซึ่งมักจะมีอาการแย่ลงหลังจากรับประทานอาหาร
- อ่อนเพลียอย่างรุนแรง
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักลดลง
- ถ่ายอุจจาระปนเลือดหรือมูก
บางรายจะพบว่าไม่แสดงอาการหรือมีอาการที่ไม่รุนแรงอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอยู่ในระยะโรคสงบ แต่หลังจากนั้นอาจเกิดอาการกำเริบที่รุนแรงตามมาได้ โดยอาการรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- ฝีคัณฑสูตร ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บและมีหนองบริเวณใกล้รูทวาร
- เกิดแผลร้อนในหรือแผลในทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถเกิดได้ตั้งแต่ในปากไปจนถึงทวารหนัก
- เกิดการอักเสบของผิวหนัง ดวงตา และข้อต่อ
- เกิดการอักเสบของตับหรือถุงน้ำดี
- หากเกิดกับเด็ก อาจทำให้มีการเจริญเติบโตช้า หรือมีการพัฒนาทางเพศช้า
- ซีดจากภาวะโลหิตจาง
หากพบว่ามีอาการข้างต้น หรือพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงและความผิดปกติของลำไส้อย่างต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์ เพราะหากได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที จะช่วยให้เริ่มต้นการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และยังป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
สาเหตุของ Crohn's Disease
สาเหตุของ Crohn's Disease ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่ได้สันนิษฐานว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่
- ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย อาจมีการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายพยายามกำจัดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย โดยเกิดความผิดปกติจนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันกลับกลายเป็นทำลายเซลล์ในระบบทางเดินอาหารจนทำให้เกิดโรค
- กรรมพันธุ์ พบว่าผู้ป่วยโรคโครห์นบางรายมีประวัติสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรค ซึ่งพันธุกรรมอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสให้เกิดโรคได้ 20%
- เชื้อชาติ เป็นโรคที่เกิดได้กับคนทุกเชื้อชาติ แต่มักพบในแถบทวีปยุโรปมากกว่าแถบเอเชีย โรคนี้จึงพบได้ไม่มากนักในคนไทย
- การติดเชื้อในอดีต ผู้ป่วยบางรายที่มีความอ่อนแอเกี่ยวกับกลไกทางพันธุกรรม โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อในวัยเด็ก อาจทำให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ และทำให้เกิดโรคโครห์นได้ในที่สุด
- การสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นโรคได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้สูบถึง 2 เท่า ผู้ที่เป็นโรคโครห์นแล้วสูบบุหรี่ด้วย มักพบว่าทำให้มีที่รุนแรงและมีโอกาสสูงที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเมืองหรือประเทศอุตสาหกรรม มีแนวโน้มเป็นโรคโครห์นสูง แสดงว่าโรคนี้อาจมีสาเหตุทางสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการรับประทานอาหารไขมันสูงหรืออาหารที่ผ่านการขัดสี โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในภูมิอากาศทางภาคเหนือพบว่าจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
- อายุ โรคโครห์นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่มักจะเกิดขึ้นเมื่ออายุยังน้อย ซึ่งมักพบผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี
- การใช้ยาต้านการอักเสบ เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน และยาไดโคลฟีแนค ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค แต่อาจทำให้เกิดการอักเสบของลำไส้และทำให้มีอาการแย่ลงได้
การวินิจฉัย Crohn's Disease
แพทย์จะวินิจฉัยโรคโครห์น โดยอาศัยการซักประวัติทางการแพทย์และอาการของผู้ป่วย รวมไปถึงการตรวจร่างกาย นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยการทดสอบหลายวิธีประกอบกัน เพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค เพราะเป็นโรคที่มีอาการคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ โดยแพทย์อาจใช้การตรวจดังต่อไปนี้
- การตรวจเลือด จะช่วยตรวจสอบการติดเชื้อในร่างกายหรือบ่งบอกระดับของการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย รวมไปถึงช่วยตรวจสอบภาวะโลหิตจาง ซึ่งแสดงถึงภาวะขาดสารอาหารหรือการเสียเลือดในลำไส้
- การตรวจอุจจาระ จะช่วยให้แพทย์ตรวจสอบเลือดหรือมูกที่ปนมากับอุจจาระ ซึ่งเป็นสัญญาณของโรค รวมไปถึงช่วยระบุได้ว่าผู้ป่วยมีการติดเชื้อชนิดใด
- การส่องตรวจลำไส้ด้วยกล้อง (Colonoscopy) ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจดูภายในลำไส้ใหญ่ โดยการใช้กล้องสำหรับตรวจส่องภายใน ผ่านทางทวารหนัก จากขั้นตอนดังกล่าว แพทย์อาจนำตัวอย่างเนื้อเยื่อไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งอาจช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้
- การตรวจลำไส้เล็กด้วยการกลืนกล้องแคปซูล (Capsule Endoscopy) โดยจะให้ผู้ป่วยกลืนแคปซูลที่มีกล้องเข้าไป ซึ่งแคปซูลจะบันทึกภาพภายในลำไส้และส่งสัญญาณภาพไปยังเครื่องบันทึก หลังจากนั้นแพทย์ก็จะสามารถตรวจดูได้จากคอมพิวเตอร์
- การส่องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible Sigmoidoscopy) แพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กที่มีความยืดหยุ่นพร้อมกับมีไฟส่อง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถตรวจดูลำไส้ส่วนปลายได้
- การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เป็นการตรวจดูภาพที่สแกนโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างภาพที่ให้รายละเอียดของอวัยวะและเนื้อเยื่อภายใน และสามารถช่วยวินิจฉัยฝีคัณฑสูตรบริเวณทวารหนักหรือลำไส้เล็กได้เป็นอย่างดี
- การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือซีทีสแกน (CT Scan) เป็นการเอกซเรย์ที่ให้ความละเอียดมากกว่าการทำเอกซเรย์แบบธรรมดา ซึ่งจะช่วยให้สามารถเห็นภาพของลำไส้ทั้งหมด รวมไปถึงเนื้อเยื่อที่อยู่ภายนอกลำไส้
- การส่องตรวจลำไส้ด้วยกล้องส่องชนิด 2 บอลลูน (Double Balloon Endoscopy) เป็นการส่องตรวจเพิ่มเติมในลำไส้เล็กด้วยกล้องที่มีความยาวกว่าปกติ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่กล้องส่องตรวจไม่สามารถเข้าไปถึง
- การตรวจลำไส้เล็กจากภาพถ่าย เป็นการตรวจเพื่อดูภาพของลำไส้ที่ไม่สามารจตรวจดูได้จากการส่องกล้องตรวจ โดยจะให้ผู้ป่วยดื่มของเหลวที่มีส่วนผสมของแบเรียมเข้าไป และแพทย์จะทำการเอกซเรย์ ซีทีสแกน หรือเอ็มอาร์ไอ
การรักษา Crohn's Disease
เนื่องจากยังไม่มีวิธีรักษาโรคให้หายขาดได้ ดังนั้น เป้าหมายในการรักษา คือการรักษาเพื่อลดการอักเสบที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการ และให้อาการดีขึ้นในระยะยาว เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงรักษาให้โรคอยู่ในระยะสงบ
การรักษาด้วยยา
ยาต้านการอักเสบ การรักษาด้วยยาต้านการอักเสบ มักเป็นวิธีเบื้องต้นเพื่อลดการอักเสบของลำไส้ โดยแพทย์อาจให้ยา เช่น
- ยากลุ่มอะมิโนซาลิไซเลต ได้แก่ ยาซัลฟาซาลาซีน และยาเมซาลาซีน ซึ่งยาเหล่านี้อาจทำให้มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย โดยการใช้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซน เป็นยาที่ช่วยลดการอักเสบได้ทุกส่วนในร่างกาย แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หน้าบวม มีขนขึ้นที่ใบหน้ามาก มีเหงื่อออกตอนกลางคืน หรือนอนไม่หลับ และอาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน กระดูกพรุน ต้อกระจก ต้อหิน และเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ
การใช้ยานี้อาจไม่ได้ผลกับผู้ป่วยทุกราย ซึ่งแพทย์อาจใช้ยาเมื่อการรักษาวิธีอื่นไม่ได้ผลเท่านั้น นอกจากนั้น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ จะใช้เพียงในระยะเวลาอันสั้น ประมาณ 3-4 เดือน เพื่อรักษาอาการและให้อยู่ในระยะโรคสงบ และอาจใช้ควบคู่ไปกับยากดระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ซึ่งยาคอร์ติโคสเตียรอยด์จะช่วยให้โรคอยู่ในระยะสงบและยากดภูมิคุ้มกันก็จะช่วยให้โรคอยู่ในระยะสงบอย่างต่อเนื่อง
ยากดภูมิคุ้มกัน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายจะสร้างสารบางอย่างที่ทำให้เกิดการอักเสบ การใช้ยากดภูมิคุ้มกันจะช่วยลดการอักเสบที่เกี่ยวของกับระบบภูมิคุ้มกัน สำหรับผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจให้ใช้ยาผสมผสานกัน เพราะจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการใช้ยาเพียงชนิดเดียว ตัวอย่างยากดภูมิคุ้มกัน ได้แก่
- ยาอะซาไธโอพรีนและเมอร์เเคปโตพิวรีน เป็นยาที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางในการรักษาโรคลำไส้อักเสบ อย่างไรก็ตาม ควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์และอาจต้องได้รับการตรวจเลือดอยู่เสมอ เพราะยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้
- ยายับยั้งทีเอ็นเอฟ ได้แก่ ยาอินฟลิซิแมบ อะดาลิมูแมบ และเซอร์โทลิซูแมบ โดยจะใช้กับผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่มีอาการของโรคโครห์นระดับปานกลางจนถึงรุนแรง
- ยาเมโธเทรกเซท เป็นยาที่ถูกนำมาใช้ในการรักษามะเร็ง โรคสะเก็ดเงิน และข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งได้มีการนำมาใช้ในการรักษาโรคโครห์นสำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีอื่น ๆ
- ยาไซโคลสปอริน และยาทาโครลิมัส เป็นยาที่นำมาใช้กับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ มักนำมาใช้รักษาฝีคัณฑสูตรที่เกิดจากโรคโครห์น
- ยาอัสเตคินูแมบ เป็นยาที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน และยังนำมาใช้รักษาโรคโครห์นได้เช่นกัน และมักมาใช้เมื่อการรักษาอื่นไม่ได้ผล
ยาปฏิชีวนะ อาจถูกนำมาใช้เพิ่มเติมในการรักษานอกเหนือจากยาอื่น ๆ หรืออาจนำมาใช้เมื่อมีการติดเชื้อที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น โรคโครห์นบริเวณรอบทวารหนัก อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดถึงประสิทธิภาพในการรักษา โดยยาปฏิชีวนะที่นำมาใช้บ่อย ได้แก่
- เมโทรนิดาโซล เป็นยาที่ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคโครห์นอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น อาการชา และอาการเป็นเหน็บที่มือและเท้า หรือเจ็บกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ดังนั้นควรใช้ยาอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ยาไซโปรฟลอกซาซิน เป็นยาที่ช่วยให้อาการของโรคโครห์นดีขึ้น แต่ส่วนใหญ่ปัจจุบันจะให้ใช้ยาเมโทรนิดาโซลมากกว่า และอาจมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น แต่พบได้น้อย เช่น เส้นเอ็นฉีก และจะมีโอกาสเกิดมากขึ้นหากใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ร่วมด้วย
ยาอื่น ๆ นอกจากจะใช้ยาเพื่อควบคุมการอักเสบ ยาอื่น ๆ ต่อไปนี้ ก็อาจช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ โดยการใช้ยาควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เสมอ ซึ่งแพทย์จะให้ยาต่อไปนี้ เพียงตัวเดียวหรืออาจให้ยาหลายตัวร่วมกันขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
- ยาแก้ปวด หากมีอาการไม่รุนแรงแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา เช่น อะเซตามิโนเฟน
- ยาแก้ท้องเสีย เช่น ไซเลียม พาวเดอร์ และเมธิลเซลูโลส จะช่วยบรรเทาอาการท้องเสียที่รุนแรงน้อยจนถึงปานกลาง หากมีอาการรุนแรงมากแพทย์อาจให้ใช้ยาโลเพอราไมด์
- ยาธาตุเหล็ก จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกในลำไส้เรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก
- วิตามินบี 12 ใช้ในผู้ปวยที่อาจเกิดภาวะขาดวิตามินบี 12 จากโรคโครห์น นอกจากนั้น วิตามินบี 12 ยังช่วยป้องกันภาวะโลหิตจาง ส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย และมีความสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท
- วิตามินดี และแคลเซียม โรคโครห์นและยาสเตียรอยด์ที่ใช้ในการรักษา อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจจำเป็นต้องเสริมแคลเซียมและวิตามินดี ในร่างกายเพื่อป้องกัน
โภชนาการบำบัด แพทย์อาจให้รับประทานอาหารพิเศษโดยเฉพาะของผู้ป่วย โดยให้ผ่านทางท่อให้อาหาร หรือให้สารอาหารผ่านทางหลอดเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่อาจช่วยเพิ่มสารอาหารที่ร่างกายต้องการโดยรวมและช่วยให้ลำไส้ได้หยุดพัก เมื่อลำไส้ได้พักก็จะช่วยบรรเทาการอักเสบได้ในระยะหนึ่ง
ในบางรายแพทย์อาจใช้โภชนาการบำบัดร่วมกับการรักษาด้วยยา เช่น ยากดภูมิต้านทาน หรือแพทย์อาจให้อาหารทางระบบทางเเดินอาหารหรือฉีดสารอาหารเข้าทางหลอดเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยที่กำลังจะเข้ารับผ่าตัดมีความพร้อมของร่างกายก่อน หรืออาจใช้เพื่อควบคุมอาการ หากการรักษาด้วยยาอื่น ๆ ไม่เป็นผล
บางรายอาจให้อาหารที่มีกากใยต่ำ เพื่อลดขนาดและจำนวนของอุจจาระ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีลำไส้ตีบแคบ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการอุดตันในลำไส้ได้
การผ่าตัด หากการรักษาอื่น ๆ ไม่สามารถบรรเทาอาการของโรคโครห์นได้ แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด โดยการนำส่วนที่ได้รับความเสียหายออกและทำการเชื่อมต่อส่วนที่ไม่ได้รับความเสียหาย หรืออาจใช้การผ่าตัดเพื่อปิดฝีคัณฑสูตร โดยวิธีที่นำมาใช้บ่อย คือสตริคเจอร์พลาสตี (Strictureplasty) ซึ่งเป็นการขยายลำไส้ที่อุดตันหรือตีบแคบเกินไป
อย่างไรก็ตาม ผลจากการผ่าตัดรักษาโรคโครห์นมักจะอยู่เพียงชั่วคราว เพราะโรคมักจะกลับมาเป็นซ้ำ และพบบ่อยว่ากลับมาเกิดใกล้กับบริเวณที่ทำการผ่าตัด โดยหลังการผ่าตัดอาจต้องใช้การรักษาด้วยเพื่อลดโอกาสกลับมาเกิดโรคซ้ำ
ภาวะแทรกซ้อนของ Crohn's Disease
ภาวะแทรกซ้อนของโรคโครห์นที่อาจเกิดขึ้นได้ มีดังต่อไปนี้
- การอักเสบ อาจเกิดขึ้นที่ผนังลำไส้ ซึ่งทำให้เกิดแผลเป็นและเกิดการตีบแคบของลำไส้ หรืออาจแพร่กระจายผ่านผนังของลำไส้ออกไป
- แผลร้อนใน การอักเสบเรื้อรังสามารถทำให้เกิดแผลร้อนในได้ทุกที่ในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่ปากไปจนถึงทวารหนัก
- ลำไส้อุดตัน เนื่องจากโรคโครห์นอาจมีผลต่อความหนาของผนังลำไส้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปลำไส้อาจหนาและตีบแคบจนอาจทำให้เกิดการอุดตันของระบบทางเดินอาหารหรือลำไส้ได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด
- แผลปริขอบทวารหนัก เป็นการฉีกขาดขนาดเล็กที่เนื้อเยื่อบริเวณทวารหนักหรือผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนัก ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจเกิดการติดเชื้อ นอกจากนั้น มักเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวของลำไส้ที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด นอกจากนั้นยังอาจทำให้เกิดฝีคัณฑสูตบริเวณทวารหนักได้
- ฝีคัณฑสูตร ผู้ป่วยที่เกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร เนื่องมาจากการอักเสบ อาจทำให้เกิดแผลร้อนใน และเมื่อเวลาผ่านไปแผลร้อนในดังกล่าวก็สามารถเกิดเป็นช่องหรือรูผ่านไปยังส่วนอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ อวัยวะเพศหญิง ทวารหนัก หรือผิวหนัง ซึ่งทางผ่านนี้เรียกว่า แผลชอนทะลุ หรือฝีคัณฑสูตร
- ภาวะขาดสารอาหาร อาการที่เกิดจากโรค เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง และท้องเกร็ง อาจสร้างความลำบากในการรับประทานอาหาร หรือทำให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้เพียงพอ โดยโรคโครห์นมักทำให้เกิดภาวะโลหิตจางเนื่องจากการขาดธาตุเหล็กและวิตามินบี 12
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จึงควรไปตามแพทย์นัดเพื่อติดตามการรักษา
- ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โรคโครห์นสามารทำให้เกิดปัญหากับส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หรืออาจทำให้เกิดโรคหรือภาวะ เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะโลหิตจาง หรือโรคตับ เป็นต้น
- ความเสี่ยงจากการใช้ยา ยาที่นำมาใช้ในการรักษาโรคโครห์นบางชนิด ที่ทำงานโดยการกดภูมิคุ้มกัน มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งผิวหนัง รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ นอกจากนั้น ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรค เช่น โรคกระดูกพรุน ต้อกระจก ต้อหิน เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ดังนั้นผู้ป่วยควรใช้ตามคำแนะของแพทย์ และปรึกษาถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากการใช้ยา
การป้องกัน Crohn's Disease
โรคโครห์นไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ยังมีวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลดความรุนแรงของโรคได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานอาหาร ดังนี้
- จำกัดการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เนื่องจากบางรายที่มีปัญเกี่ยวกับลำไส้อาจมีภาวะการย่อยแลคโตสผิดปกติ โดยผู้ที่มีปัญหาดังกล่าวอาจใช้ผลิตภัณฑ์เอนไซม์ที่ปราศจากแลคโตสก็อาจช่วยได้
- รับประทานอาหารไขมันต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคโครห์นที่ลำไส้เล็ก อาจไม่สามารถย่อยหรือดูดซึมไขมันได้ตามปกติ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงอาหาร เช่น เนย มาร์การีน ครีม หรืออาหารทอด
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้หรือลำไส้อักเสบ การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผลไม้สดหรือผักและธัญพืช อาจทำให้มีอาการแย่ลงได้ โดยผู้ป่วยอาจทำให้สุกก่อนรับประทานก็อาจช่วยได้ หรืออาจรับประทานให้น้อยลง
- หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่อาจทำให้อาการแย่ลง เช่น เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ หรืออาหารรสจัด
- รับประทานอาหารให้น้อยลง อาจแบ่งย่อยเป็นหลายมื้อต่อวัน โดยแบ่งเป็น 5-6 มื้อ และรับประทานทีละน้อย แทนการรับประทาน 3 มื้อ แต่รับประทานในปริมาณมาก
- ดื่มน้ำให้มาก และควรหลีกเลี่ยงเครืองดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนซึ่งจะไปกระตุ้นลำไส้ และอาจทำให้มีอาการแย่ลง รวมไปถึงหลีกเลี่ยงน้ำอัดลม ซึ่งจะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมาก
- รับประทานวิตามินรวมเสริม เพราโรคโครห์นอาจรบกวนการดูดซึมสารอาหารและผู้ป่วยต้องควบคุมการรับประทานอาหาร ซึ่งอาจทำให้ขาดสารอาหารได้ ดังนั้น การรับประทานวิตามินรวมและเกลือแร่จะสามารถช่วยบำรุงร่างกายผู้ป่วยได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
- ปรึกษากับผู้ให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ หากผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวลดหรือมีการจำกัดการรับประทานมาก เพื่อวางแผนการรับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อาการแย่ลงได้ โดยผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มักมีอาการกำเริบและต้องการยารักษา รวมไปถึงต้องเข้ารับการผ่าตัดซ้ำ
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง รวมไปถึงหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเครียด ด้วยวิธีการผ่อนคลายต่าง ๆ เนื่องจากความเครียดเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้อาการทรุดลงได้