ความหมาย โรคครูป (Croup)
Croup (โรคครูป) หรือภาวะกล่องเสียงและหลอดลมอักเสบ (Laryngotracheobronchitis) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนที่พบมากในเด็ก และมักเกิดในช่วงปลายฝนต้นหนาว ผู้ป่วยจะหายใจติดขัดและไอแบบมีเสียงก้อง อาการของโรคเกิดจากการบวมของกล่องเสียงและหลอดลม โดยโรค Croup มักไม่ทำให้เกิดภาวะที่รุนแรง และผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถพักรักษาตัวได้ที่บ้าน
อาการของโรค Croup
อาการของโรค Croup ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน มักเริ่มจากอาการคล้ายเป็นหวัด โดยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และมีไข้ หรืออาจมีอาการอื่น ๆ เช่น
- ไอแบบมีเสียงก้องหรือคล้ายเสียงเห่า ซึ่งจะเกิดเมื่อมีการอักเสบและไอมากขึ้น และมักมีอาการในเวลากลางคืน
- หายใจเสียงดัง หายใจลำบาก
- เสียงแหบ
- มีผื่นขึ้น
- ตาแดง
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
โรค Croup มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี เนื่องจากทางเดินหายใจของเด็กมีขนาดเล็ก จึงเสี่ยงต่อการเกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ง่าย ดังนั้น หากพบว่ามีอาการติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรพาเด็กไปพบแพทย์ทันที
- หายใจเข้าหรือออกมีเสียงดังหรือเสียงสูง
- หายใจเร็วกว่าปกติ หายใจลำบาก
- เริ่มมีน้ำลายไหลหรือกลืนลำบาก
- ดื่มนมหรือน้ำไม่ได้ ไม่มีแรง กระวนกระวาย
- จมูก ปาก หรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเทาหรือม่วงจากภาวะหายใจลำบาก
- อาการคล้ายภาวะขาดน้ำ เช่น ลิ้นหรือปากแห้ง ไม่ปัสสาวะ เป็นต้น
สาเหตุของโรค Croup
โรค Croup มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสพาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) โดยเด็กอาจติดเชื้อจากการหายใจสูดเอาละอองที่มีเชื้อไวรัสเข้าไป หรือจากการสัมผัสกับของเล่นเด็กและพื้นผิวของวัตถุต่าง ๆ
นอกจากนี้ บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่าการติดเชื้อไวรัส หรืออาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้มีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น โรคภูมิแพ้ การหายใจเอาสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองเข้าไป ภาวะกรดไหลย้อน เป็นต้น
แม้โรค Croup มักเกิดในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 5 ปี แต่ก็สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ และเกิดในช่วงเวลาใดก็ได้ ซึ่งพบว่ามักเกิดในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมมากกว่าช่วงอื่น ๆ
การวินิจฉัยโรค Croup
โดยทั่วไปแพทย์จะตรวจร่างกายเบื้องต้น สังเกตอาการจากการหายใจของเด็ก และอาจตรวจด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- สังเกตการหายใจและฟังเสียงบริเวณหน้าอกด้วยหูฟังแพทย์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น หายใจเข้าและออกได้ลำบากกว่าปกติ หายใจมีเสียง เสียงหายใจเบาลง เป็นต้น
- ตรวจภายในลำคอ เพื่อตรวจสอบอาการบวมแดงของฝาปิดกล่องเสียง
- เอกซเรย์บริเวณคอ เพื่อตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมหรือการตีบแคบของหลอดลม
นอกจากนั้น อาจมีการทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย โดยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละรายและดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
การรักษาโรค Croup
การรักษาโรค Croup ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถพักรักษาตัวได้เองที่บ้าน แต่กรณีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
การรักษาด้วยตนเอง
- หากผู้ป่วยเป็นเด็ก ดูแลให้เด็กอยู่ในอาการสงบด้วยการกอด อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมเบา ๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอาการ เพราะหากเด็กยิ่งร้องไห้ก็จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง
- เพิ่มความชื้นในอากาศเพื่อลดอาการไอด้วยเครื่องทำความชื้น หรืออาบน้ำอุ่นในห้องน้ำ เมื่ออากาศในห้องน้ำเริ่มชื้น ให้เด็กนั่งอยู่ในห้องน้ำเป็นเวลาประมาณ 10 นาที
- ให้เด็กเล็กดื่มน้ำหรือนมอุ่น ๆ ส่วนเด็กโตอาจให้รับประทานซุป ซึ่งจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำหรือบรรเทาอาการได้ นอกจากนั้น น้ำอุ่นยังช่วยเจือจางเสมหะให้เหนียวข้นน้อยลงด้วย
- ให้เด็กนอนหมอนสูงหรือให้นอนหนุนตัก เพราะช่วยให้เด็กหายใจได้สะดวกขึ้น
- ให้เด็กนอนหลับอย่างเพียงพอ เพราะการพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
- หากมีไข้สามารถรับประทานยาลดไข้อย่างยาพาราเซตามอลได้ แต่ให้เลี่ยงการใช้ยาแก้หวัดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
การรักษาโดยแพทย์
หากพักรักษาตัวที่บ้านแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-5 วันหรือมีอาการแย่ลง ควรไปพบแพทย์ทันที โดยการรักษาจากแพทย์ส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาตามอาการและดุลพินิิจของแพทย์ เช่น
- ใช้ยาสเตียรอยด์ทั้งชนิดรับประทานหรือชนิดพ่น เพื่อลดการอักเสบในทางเดินหายใจ โดยยามักให้ผลภายใน 6 ชั่วโมง
- บางรายอาจให้ฉีดยาเดกซาเมทาโซน ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์นานถึง 72 ชั่วโมง หรือพ่นยาเอพิเนฟรีนที่ออกฤทธิ์ได้รวดเร็วแต่ไม่นาน เพื่อลดการอักเสบของทางเดินหายใจ
- กรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจให้เด็กพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล บางรายอาจให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ แต่พบได้น้อย
ภาวะแทรกซ้อนของโรค Croup
โดยส่วนใหญ่โรค Croup ไม่ได้มีความรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ซึ่งอาการของโรคจะหายไปเองภายในเวลา 3-7 วัน อย่างไรก็ตาม อาจมีความเสี่ยงที่ทางเดินหายใจจะบวมจนส่งผลกระทบต่อการหายใจของผู้ป่วยได้เช่นกัน
นอกจากนี้ บางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อบริเวณฝากล่องเสียง ซึ่งอาจทำให้กล่องเสียงบวมทั้งหมดและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เพราะหากการปิดกั้นของกล่องเสียงไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจอย่างรุนแรง หรืออาจหยุดหายใจได้
การป้องกันโรค Croup
การป้องกันโรค Croup ทำได้ด้วยการดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ซึ่งการป้องกันในเบื้องต้นจะคล้ายกับการป้องกันหวัดหรือไข้หวัด ดังนี้
- ล้างมือให้สะอาด และล้างมือบ่อย ๆ
- ระวังไม่ให้เด็กอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
- ใช้ทิชชู่ปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม ทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วทันที แล้วรีบไปล้างมือ
- พาบุตรหลานไปฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพราะสามารถป้องกันเชื้อบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรค Croup ได้