Deep Vein Thrombosis (DVT) เป็นภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึกของร่างกาย มักเกิดขึ้นที่บริเวณต้นขาหรือน่อง ทำให้เกิดอาการปวด บวม หรือกดบริเวณขาแล้วรู้สึกเจ็บ แต่ในบางกรณี อาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น
Deep Vein Thrombosis อาจเป็นผลจากภาวะทางสุขภาพ การผ่าตัด หรือการได้รับอุบัติเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดการกดทับหรือหลอดเลือดดำได้รับความเสียหายจนทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตัน ทั้งนี้ หากลิ่มเลือดหลุดไปอุดกั้นในปอด (Pulmonary Embolism) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ DVT จึงเป็นภาวะรุนแรงที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
อาการของ Deep Vein Thrombosis
ผู้ป่วยกว่าครึ่งอาจไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น แต่อาการที่พบได้บ่อยของผู้ป่วย Deep Vein Thrombosis ได้แก่
- ปวด เป็นตะคริว หรือกดแล้วเจ็บบริเวณขาข้างใดข้างหนึ่ง มักเริ่มที่บริเวณน่อง บางกรณีอาจปวดขาทั้งสองข้างแต่พบได้น้อย
- บริเวณขา ข้อเท้า หรือเท้ามีอาการบวม อาจมีอาการปวดร่วมด้วย
- ผิวหนังบริเวณที่มีอาการอาจรู้สึกร้อนหรืออุ่นกว่าผิวหนังรอบ ๆ
- ผิวหนังเปลี่ยนสี เช่น ผิวซีดลง เป็นสีแดงช้ำ หรือสีม่วง เป็นต้น
ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการลิ่มเลือดอุดตันบริเวณแขน (Upper Extremity DVT) ซึ่งอาจทำให้รู้สึกปวดคอ ปวดไหล่ ผิวหนังมีสีเขียวคล้ำ แขนและมือบวม อาการเจ็บปวดอาจลามจากต้นแขนมาสู่ปลายแขน หรือรู้สึกมืออ่อนแรงลง
หากมีอาการใด ๆ ของ Deep Vein Thrombosis หรืออาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณอันตรายของการเกิดภาวะแทรกซ้อน
สาเหตุของ Deep Vein Thrombosis
Deep Vein Thrombosis เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก ทำให้เลือดไม่ไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้ตามปกติ โดยมักเกิดการอุดตันบริเวณขา เชิงกราน หรือแขน ซึ่งการอุดตันของลิ่มเลือดเกิดได้จากหลายปัจจัยดังนี้
- ความเสียหายของผนังหลอดเลือดจากการได้รับบาดเจ็บ เช่น การบาดเจ็บของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง หรือกระดูกหัก ทำให้หลอดเลือดตีบแคบหรืออุดตัน
- การไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะการนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เลือดไปสะสมที่บริเวณขา การไหลเวียนของเลือดจะช้าลงและทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้น เช่น การนั่งเครื่องบินหรือเดินทางเป็นเวลานาน รวมทั้งผู้ป่วยอัมพาตและผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถขยับตัวได้
- ความเสียหายของหลอดเลือดระหว่างการผ่าตัด และการพักฟื้นหลังผ่าตัดโดยไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย
- การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด หรือการให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) เป็นต้น
- โรคผิดปกติทางพันธุกรรมบางโรคที่ทำให้เกิดการอุดตันของเลือดง่ายกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดร่วมกับปัจจัยอื่นที่ทำให้ลิ่มเลือดอุดตันในร่างกาย
- ภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เกิดแรงกดทับที่หลอดเลือดดำบริเวณขาและเชิงกราน โดยเฉพาะหญิงที่ได้รับการถ่ายทอดความผิดปกติทางพันธุกรรม บางกรณีอาจมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงหลังคลอด 3–6 สัปดาห์
- โรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น โรคมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่นที่อาจทำให้เกิด Deep Vein Thrombosis ได้แก่ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน การสูบบุหรี่ คนในครอบครัวหรือตนเองมีประวัติของโรคนี้มาก่อน และผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี
การวินิจฉัย Deep Vein Thrombosis
แพทย์จะวินิจฉัย Deep Vein Thrombosis โดยสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกายเบื้องต้น ด้วยการตรวจดูบริเวณที่มีอาการปวดบวมหรือแดง นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ดังนี้
- การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นวิธีที่นิยมนำมาใช้ในการวินิจฉัยมากที่สุด โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดและบริเวณที่หลอดเลือดดำเกิดการอุดตัน
- การตรวจเลือดเพื่อหาค่าดีไดเมอร์ (D-Dimer) เป็นค่าที่บอกถึงการมีลิ่มเลือดในหลอดเลือด หากมีค่าดีไดเมอร์สูงและมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค อาจบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- การฉีดสารทึบแสงเข้าไปในหลอดเลือดดำ (Venography) บริเวณเท้าหรือข้อเท้า และเอกซเรย์เพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดดำ
- การทำซีที สแกน (CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจดูการอุดตันของหลอดเลือด
การรักษา Deep Vein Thrombosis
การรักษา Deep Vein Thrombosis จะเน้นไปที่การป้องกันลิ่มเลือดที่อุดตันขยายใหญ่ขึ้นหรือแตกออก เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย อย่างโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคซ้ำอีกในภายหลัง โดยแพทย์อาจใช้วิธีการรักษาดังต่อไปนี้
การดูแลตนเอง
หลังจากวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการของโรค Deep Vein Thrombosis แพทย์จะให้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดเพื่อบรรเทาอาการและลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน ร่วมกับการดูแลตนเองตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เคลื่อนไหวร่างกายและเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ในระหว่างวัน หากเป็นผู้ป่วยที่นอนพักฟื้นร่างกายหลังการผ่าตัดก็ควรขยับร่างกายเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น
- ใช้เก้าอี้รองเพื่อหนุนขาให้สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เลือดบริเวณขาไหลเวียนได้ดีขึ้น
- ใส่ถุงน่องซัพพอร์ท (Compression Stocking) เพื่อป้องกันอาการบวม ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน และช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น ทั้งนี้ ควรเลือกขนาดที่พอดีและไม่รัดแน่นจนเกินไป โดยควรสวมใส่ตลอดเวลาและใช้ตามคำแนะนำของแพทย์
- รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และควรสังเกตอาการเลือดออกหรือผลข้างเคียงอื่นที่อาจเกิดขึ้นหลังจากรับประทานยา ในกรณีที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งเมื่อประสบอุบัติเหตุหรือแม้แต่การได้รับบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคและผลข้างเคียงจากยาได้ง่ายขึ้น
- ไปพบแพทย์ตามวันและเวลาที่นัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามอาการหรือปรับวิธีการรักษา และหากได้รับยาวาร์ฟาริน (Warfarin) แพทย์อาจนัดหมายให้ผู้ป่วยมาตรวจเลือดเพื่อดูค่าการแข็งตัวของเลือด
การรักษาโดยการใช้ยา
ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เป็นยาที่นิยมนำมาใช้รักษาภาวะ Deep Vein Thrombosis มากที่สุด ซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับในรูปแบบยารับประทานหรือยาฉีด เพื่อลดการจับตัวกันของเลือดเป็นลิ่มเลือด
แพทย์อาจฉีดยาเฮพาริน (Heparin) เข้าทางหลอดเลือดดำ หรือฉีดยากลุ่มอนุพันธ์เฮพาริน (LMWHs) ใต้ผิวหนัง เช่น ยาอีนอกซาพาริน (Enoxaparin) ยาดาลเทพาริน (Dalteparin) หรือยาฟอนดาพารินุกซ์ (Fondaparinux) นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ยาชนิดรับประทานแก่ผู้ป่วย เช่น ยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ยาไรวาร็อกซาแบน (Rivaroxaban) หรือยาอะพิซาแบน (Apixaban) ซึ่งควรรับประทานยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3–6 เดือน หรือตามที่แพทย์สั่ง เพื่อประสิทธิภาพของการรักษาและลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากยา
ในกรณีที่ลิ่มเลือดอุดตันในตำแหน่งสำคัญหรือสงสัยว่ามีลิ่มเลือดอุดตันที่ปอดร่วมด้วย แพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytics) ผ่านทางการฉีดเข้าสู่หลอดเลือดดำ หรือให้ผ่านทางท่อที่สอดเข้าไปเพื่อช่วยสลายลิ่มเลือดอุดตันได้โดยตรง เป็นวิธีที่มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีลิ่มเลือดอุดตันขนาดใหญ่ หรือใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเท่านั้น เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย
การวางตะแกรงกรองลิ่มเลือด (Filters)
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด แพทย์อาจใช้วิธีวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำใหญ่บริเวณหน้าท้อง (Vena Cava) เพื่อป้องกันลิ่มเลือดหลุดจากหลอดเลือดดำไปอุดกั้นหลอดเลือดแดงในปอด ทั้งนี้ การรักษาด้วยการวางตะแกรงกรองลิ่มเลือดควรใช้ในระยะสั้นจนกว่าความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจะลดลงหรือผู้ป่วยสามารถรับประทานยาได้
การผ่าตัด
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกหากมีลิ่มเลือดขนาดใหญ่อุดตันในหลอดเลือด หรือมีอาการร้ายแรง อย่างลิ่มเลือดที่อุดตันไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียง ในบางกรณีแพทย์อาจใช้บอลลูนหรือขดลวดตาข่าย (Stent) ช่วยขยายหลอดเลือดชั่วคราวขณะผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น การติดเชื้อ ความเสียหายของหลอดเลือด หรือเลือดออกหลังการผ่าตัด เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของ Deep Vein Thrombosis
ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย Deep Vein Thrombosis ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด ซึ่งเกิดจากลิ่มเลือดที่อุดตันบริเวณหลอดเลือดขาหลุดไปอุดกั้นหลอดเลือดปอด เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้ทันทีหลังลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำหรืออาจเกิดขึ้นในภายหลัง โดยผู้ป่วยอาจพบอาการดังต่อไปนี้
- เวียนศีรษะ
- เหงื่อออกมาก
- หายใจหอบถี่หรือหายใจลำบาก แม้ขณะพัก
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเมื่อไอ ก้มตัว หายใจเข้าลึก ๆ หรือรับประทานอาหาร โดยอาจรู้สึกเจ็บแปลบ รู้สึกปวดแสบร้อน หรือปวดตื้อ ๆ
- ไอโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือไอเป็นเลือด
Deep Vein Thrombosis อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตในปอดสูง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น อย่างอาการหลังภาวะหลอดเลือดมีลิ่มเลือด (Post-Thrombotic Syndrome) ผู้ป่วยอาจมีอาการปวด บวม ผิวหนังมีสีคล้ำ มีแผลที่ผิวหนัง และเส้นเลือดขอด ซึ่งเป็นอาการที่ส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว
การป้องกัน Deep Vein Thrombosis
Deep Vein Thrombosis สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ไม่ควรนั่งไขว้ขา หรือนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน หากเดินทางด้วยรถเป็นระยะทางไกล ควรพักจอดรถทุก 1 ชั่วโมง เพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ หากเดินทางโดยเครื่องบินที่อาจไม่สะดวกต่อการลุกเดินไปมา ควรยืดขาบ่อย ๆ เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ตามปกติ
- ผู้ป่วยที่นอนพักฟื้นหลังการผ่าตัด ควรเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว และช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักและระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ควรเลือกเสื้อผ้าที่ใส่สบายและมีขนาดพอดีกับร่างกาย