Dysarthria หรือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดผิดปกติ คือความผิดปกติทางการพูดที่เกิดจากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการพูดหรือเปล่งเสียงได้ตามปกติ ไม่สามารถควบคุมระดับเสียงและจังหวะในการพูดของตนเองได้ โดยสาเหตุมักมาจากการบาดเจ็บของสมองหรืออาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น โรคเส้นเลือดในสมอง โรคสมองพิการ โรคพาร์กินสัน หรือการบาดเจ็บในระบบประสาทส่วนกลาง เป็นต้น
อาการกล้ามเนื้อในการพูดผิดปกติมักไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการการรับรู้และเข้าใจของผู้ป่วย โดยแพทย์จะรักษา Dysarthria ตามสาเหตุ อาการ และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องเข้ารับการบำบัดฝึกพูดเพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการของ Dysarthria
ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อในการพูดผิดปกติจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุ แต่โดยทั่วไปมักจะมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- พูดไม่ชัด พูดช้า หรือพูดเร็วจนฟังไม่เข้าใจ
- มีปัญหาด้านการควบคุมระดับเสียง เช่น ระดับเสียงในการพูดสูงหรือต่ำไม่สม่ำเสมอ พูดแบบไม่มีเสียงสูงต่ำ พูดเสียงดังหรือเบาเกินไป เป็นต้น
- เสียงแหบ เสียงขึ้นจมูก เค้นเสียง หรือใช้เสียงพูดแบบมีลมแทรก
- มีจังหวะการพูดที่ไม่สม่ำเสมอหรือผิดปกติ
- ไม่สามารถขยับลิ้น ริมฝีปาก หรือกล้ามเนื้อบนใบหน้าได้อย่างปกติ
- อาจมีภาวะกลืนลำบาก ส่งผลให้มีน้ำลายไหลออกมา
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจพูดได้เพียงประโยคสั้น ๆ คำสั้น ๆ หรืออาจเป็นการพูดที่ไม่สามารถเข้าใจความหมายได้เลย อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้มักไม่ส่งผลกระทบต่อการรับรู้คำพูดและการทำความเข้าใจ กล่าวคือ ผู้ป่วยสามารถฟังเข้าใจเป็นปกติ แต่ปัญหาด้านการพูดอาจส่งผลต่อการเข้าสังคม การศึกษา และการทำงาน หากพบว่ามีความผิดปกติทางด้านการพูดโดยหาสาเหตุไม่ได้หรือเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะภาวะ Dysarthria อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงได้
สาเหตุของ Dysarthria
อาการกล้ามเนื้อในการพูดผิดปกติสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- เส้นเลือดในสมองแตก โรคสมองพิการ เนื้องอกในสมอง
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี และโรคกล้ามเนื้อเสื่อม
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis)
- โรคไลม์ (Lyme Disease)
- โรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease)
- โรคพาร์กินสัน
- โรควิลสัน (Wilson's Disease)
- กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome)
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ
- การใช้ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์โดยตรงต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาเสพติดหรือยากล่อมประสาท เป็นต้น
ทั้งนี้ Dysarthria มักเกิดในผู้ใหญ่ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นหากบุคคลนั้นเป็นโรคเรื้อรังทางสมองเนื่องจากสมองเสื่อมสภาพ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง โรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท มีปัญหาในการดื่มแอลกอฮฮล์หรือใช้สารเสพติด
การวินิจฉัย Dysarthria
หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยมีอาการกล้ามเนื้อในการพูดผิดปกติ แพทย์จะประเมินด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การประเมินการพูด การขยับปาก ลิ้น และกล้ามเนื้อบนใบหน้า การทดสอบคุณภาพเสียงและจังหวะการหายใจ เป็นต้น หลังจากนั้น แพทย์อาจทำการตรวจร่างกายและอาการเกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการกล้ามเนื้อในการพูดผิดปกติ ได้แก่
- การตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อหาการติดเชื้อหรือการอักเสบในร่างกาย
- การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) บริเวณสมอง โดยเครื่องมือดังกล่าวจะสร้างภาพที่แสดงให้เห็นถึงรายละเอียดต่าง ๆ บริเวณสมองและคอ จึงอาจช่วยให้แพทย์สามารถระบุสาเหตุของการเกิดอาการได้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography หรือ EMG) เพื่อดูความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าในกล้ามเนื้อ
- การตรวจคลื่นสมอง (Electroencephalography หรือ EEG) เพื่อวัดค่าคลื่นไฟฟ้าในสมอง
- การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve Conduction Study) เพื่อวัดความแรงและความเร็วของสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งจากเส้นประสาทไปยังกล้ามเนื้อ
- การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยหากผู้ป่วยมีการติดเชื้อชนิดร้ายแรงหรือมีอาการผิดปกติบริเวณระบบประสาทส่วนกลาง
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจวินิจฉัย โดยจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีเนื้องอกในสมอง
- การทดสอบทางจิตประสาท เป็นการประเมินการทำงานด้านต่าง ๆ ของสมอง เพื่อดูทักษะการคิดวิเคราะห์และการทำความเข้าใจในการสื่อสาร เช่น ด้านการเรียนรู้ การทำความเข้าใจในคำพูด อ่าน และเขียน เป็นต้น
การรักษา Dysarthria
แพทย์จะรักษาภาวะ Dysarthria ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ โดยทั่วไป แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิธีบำบัดทางด้านภาษาและการพูด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาพูดได้ตามปกติ ช่วยพัฒนาทักษะทางการสื่อสาร ฟื้นฟูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบนใบหน้า ปรับจังหวะการหายใจ ฝึกการเปล่งเสียง ฝึกการออกเสียงเพื่อปรับระดับเสียงและช่วยให้พูดได้ชัดเจนขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในกรณีที่การบำบัดในลักษณะข้างต้นไม่ได้ผล ผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยสื่อสารด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การใช้ภาพและสีเพื่อสื่อความหมาย การใช้ท่าทาง หรือการใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร เป็นต้น
นอกจากนี้ หากอาการดังกล่าวส่งผลให้ผู้ฟังไม่เข้าใจในการสื่อสารของตนเองหรือคำพูดของตนเองเข้าใจยาก ผู้ป่วยอาจใช้เทคนิคในการพูดเข้ามาช่วย เพื่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น เช่น
- การลดจังหวะการพูดให้ช้าลงหรือพูดทีละคำ
- เว้นจังหวะระหว่างการพูดแต่ละคำอย่างเหมาะสม
- ถามผู้ฟังว่าได้รับสารตามจุดประสงค์ที่ผู้ป่วยต้องการจะสื่อหรือไม่
- สูดหายใจเข้าลึก ๆ ก่อนเริ่มต้นการพูด
- พกอุปกรณ์ช่วยสื่อสารเพื่อใช้ในการอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม อย่างปากกา ดินสอ กระดาษ โทรศัพท์มือถือ
- เริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำพูดสั้น ๆ ก่อนการอธิบาย
- ลดเสียงรบกวนอื่นลงเพื่อให้ผู้ฟังได้ยินชัดเจนยิ่งขึ้น
- ใช้การทวนซ้ำหากจำเป็น
- หากผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อย ควรพูดให้สั้นลง เนื่องจากการพูดระหว่างที่เหนื่อยหรือหอบจะทำให้ผู้ฟังไม่สามารถจับใจความเนื้อหาได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ความสำเร็จของการรักษาจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ในแต่ละบุคคล เช่น บริเวณของสมองส่วนที่ได้รับความเสียหายหรือความผิดปกติของสมอง สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หรือแม้แต่สภาพแวดล้อมที่ผู้ป่วยอยู่ เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของ Dysarthria
Dysarthria ก่อให้เกิดอุปสรรคทางด้านการสื่อสาร ส่งผลให้ผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้านการเข้าสังคม กระทบต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือครอบครัว และอาจเกิดโรคซึมเศร้าร่วมด้วย
การป้องกัน Dysarthria
อาการกล้ามเนื้อในการพูดผิดปกติขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงไม่มีวิธีป้องกันได้เต็มประสิทธิภาพ แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดในสมองที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของ Dysarthria เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานผักและผลไม้ ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ไขมันอิ่มตัว และระดับโซเดียมในอาหาร จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และควันบุหรี่ ไม่ควรใช้ยานอกเหนือจากคำสั่งแพทย์ และหากเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับควรเข้ารับการรักษาและทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด