ความหมาย ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic Eczema)
Dyshidrotic Eczema หรือผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ เป็นโรคผิวหนังอักเสบชนิดที่ไม่ร้ายแรง โดยจะเกิดตุ่มน้ำใส ๆ บริเวณนิ้ว ฝ่ามือ และฝ่าเท้า อาจทำให้รู้สึกปวดและคันอย่างรุนแรง แต่สามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ และอาจกลับมาเกิดซ้ำได้เช่นกัน ส่วนใหญ่เกิดกับผู้ที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี และเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ภูมิแพ้ และความเครียด เป็นต้น
อาการของผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ
อาการจะเริ่มจากเป็นผื่นแดง จากนั้นจะเกิดตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นเป็นกลุ่มบริเวณฝ่ามือและด้านข้างของนิ้วมือ อาจเกิดที่ฝ่าเท้าได้เช่นกันแต่ก็มีโอกาสน้อย โดยอาจรู้สึกคัน แสบร้อน และปวดร่วมด้วยในบริเวณที่เกิดอาการ บางครั้งอาจทำให้เล็บมีสีเข้มขึ้นหรือมีเหงื่อออกมากขึ้นบริเวณรอบ ๆ ในกรณีที่อาการรุนแรง อาจมีตุ่มใสขนาดใหญ่และลุกลามไปที่หลังมือ เท้า แขนและขา หรือมีหนองข้างในตุ่มใสด้วยหากเกิดการติดเชื้อ ซึ่งเมื่อแผลเริ่มแห้งก็อาจทำให้ผิวหนังแตกหรือเกิดรอยแดงขึ้นได้
โดยปกติแล้ว Dyshidrotic Eczema มักเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุ 20-40 ปี และมีโอกาสเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ซึ่งผู้ป่วยสามารถหายได้เองภายใน 4 สัปดาห์ แต่หากอาการไม่หายไปภายในระยะเวลาดังกล่าว ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
สาเหตุของผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ
สาเหตุของ Dyshidrotic Eczema นั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจมีปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดโรค ดังนี้
- การเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema) โรคภูมิแพ้ และไข้ละอองฟาง เป็นต้น
- ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ
- ผิวหนังแพ้ง่าย หรือผิวหนังไปสัมผัสกับสารที่ก่อความระคายเคืองและสารก่อภูมิแพ้ เช่น น้ำหอม น้ำยาทำความสะอาด ปูนซีเมนต์ โคบอลต์ นิกเกิล โครเมี่ยม เป็นต้น
- การติดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยอาจเกิดในบริเวณที่มีอาการ หรือเป็นการติดเชื้อจากส่วนอื่นของร่างกาย
- การสัมผัสน้ำหรือบริเวณที่อับชื้นเป็นเวลานาน
- การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- ความเครียด
การวินิจฉัยผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ
แพทย์สามารถวินิจฉัย Dyshidrotic Eczema ด้วยการสอบถามประวัติทางการแพทย์ และตรวจดูบริเวณผิวหนังที่มีอาการ โดยบางกรณีหากผู้ป่วยมีความเสี่ยงติดเชื้อราบนผิวหนังหรืออาจเกิดสะเก็ดเงิน แพทย์อาจส่งชิ้นเนื้อผิวหนังไปตรวจด้วย หรือหากผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้ก็อาจต้องตรวจหาภูมิแพ้เพิ่มเติม
การรักษาผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ
โดยทั่วไป Dyshidrotic Eczema สามารถหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ หากป่วยไม่รุนแรงก็สามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ที่บ้าน โดยใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่เกิดอาการเพื่อช่วยลดการคัน และใช้ครีมหรือมอยเจอร์ไรเซอร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ สี และการแต่งกลิ่นหอม ทาเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว รวมทั้งไม่เกาหรือแกะบริเวณที่มีอาการ เพราะอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิม ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะวิเคราะห์จากอาการ และพิจารณารักษาด้วยวิธีดังต่อไปนี้
- การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เป็นยาทาในรูปแบบครีมหรือขี้ผึ้งเพื่อช่วยลดการอักเสบ หากอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจฉีดยาเข้าสู่ร่างกายโดยตรง หรือให้ยาชนิดรับประทานแทน แต่การใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานานอาจส่งผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
- การใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ยาจะช่วยลดอาการพองและการระคายเคือง เช่น ยาทาโครลิมัส และยาไพมีโคลิมัส เป็นต้น ซึ่งยากลุ่มนี้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจะใช้สเตียรอยด์ในการรักษา แต่ก็ควรระมัดระวังในด้านผลข้างเคียงด้วย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อทางผิวหนังมากขึ้น
- การใช้ยาต้านฮิสตามีน เพื่อลดอาการคันและปฏิกิริยาต่าง ๆ ที่เป็นอาการแพ้ เช่น ยาลอราทาดีน ยาไดเฟนไฮดรามีน เป็นต้น
- การรักษาด้วยแสง เป็นการใช้แสงยูวีฉายลงบนบริเวณที่เกิดอาการ โดยแพทย์อาจให้ยาเพื่อช่วยให้ผิวหนังตอบสนองต่อการรักษาด้วยแสงได้ดีขึ้น
- การฉีดโบทูลินัม ท็อกซิน เพื่อช่วยลดปริมาณเหงื่อที่ออกทางผิวหนัง ทำให้แผลแห้ง มักใช้ในกรณีที่เป็นผื่นรุนแรง
- การระบายของเหลว หากตุ่มใสมีหนองหรือของเหลวอยู่ภายใน แพทย์จะดูดหรือระบายของเหลวดังกล่าวออก แต่ผู้ป่วยไม่ควรทำขั้นตอนนี้ด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงและมีโอกาสติดเชื้อตามมา
- การปรับเปลี่ยนอาหาร เลือกรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ และหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องครัวที่เป็นโลหะ เพราะอาจมีโคบอลต์หรือนิกเกิลปะปนอยู่ในอาหารได้
ภาวะแทรกซ้อนของผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีปัญหาจากอาการแสบและคัน เพราะจะทำให้มีความลำบากในการดำเนินชีวิต รวมถึงอาจทำให้มือและเท้าทำงานได้ยากลำบากขึ้น เช่น หยิบจับสิ่งของลำบาก หรือเดินลำบาก เป็นต้น ในกรณีที่มีอาการหนักมาก ผู้ป่วยอาจแสบและคันจนส่งผลให้นอนไม่หลับ หรืออาจทำให้เกิดแผลติดเชื้อได้
การป้องกันผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ
เนื่องจากยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค Dyshidrotic Eczema ได้ ดังนั้น อาจทำได้เพียงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้
- ทาครีมหรือมอยเจอร์ไรเซอร์เป็นประจำ เพื่อช่วยให้ผิวหนังชุ่มชื้น
- ล้างมือและเช็ดมือให้แห้งทุกครั้ง แต่ไม่ควรล้างมือบ่อยจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ ภายในบ้านด้วยมือเปล่า เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำหอม เป็นต้น แต่อาจใส่ถุงมือหรืออุปกรณ์ป้องกันก่อนสัมผัสกับสารดังกล่าวโดยตรง
- ในกรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงเศษผงโลหะต่าง ๆ เช่น โคบอลต์ และนิกเกิล เป็นต้น
- รู้จักผ่อนคลายและควบคุมไม่ให้เกิดความเครียดมากเกินไป