ความหมาย ภาวะกลืนลำบาก (Dysphagia)
Dysphagia (ภาวะกลืนลำบาก) เป็นภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติในการกลืน ทำให้อาจกลืนสิ่งต่าง ๆ ได้ยากลำบากหรือมีอาการเจ็บเวลากลืน เช่น ขณะกลืนอาหารหรือของเหลวบางชนิด กลืนน้ำลาย เป็นต้น โดยบางรายไม่สามารถกลืนได้เลย หรืออาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ไอหรือสำลักขณะรับประทานอาหารและดื่มเครื่องดื่ม รู้สึกคล้ายมีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก เป็นต้น
ทั้งนี้ ภาวะ Dysphagia อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ หรือหากเป็นติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้น้ำหนักตัวลดลงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นการติดเชื้อในทรวงอกได้
อาการของภาวะกลืนลำบาก
อาการที่บ่งบอกว่ามีภาวะ Dysphagia ได้แก่
- มีอาการเจ็บเวลากลืนอาหาร หรือไม่สามารถกลืนอาหารได้
- รู้สึกคล้ายมีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก
- แสบร้อนกลางอกบ่อยครั้ง
- น้ำลายไหลออกทางปากมากผิดปกติ
- เสียงแหบ
- มีอาหารหรือกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมาที่คอ
- ไอหรือสำลักเวลากลืนอาหาร
- ต้องตัดแบ่งอาหารให้มีขนาดเล็กลงหรือหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เพื่อให้สามารถกลืนได้ตามปกติ
- น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดมีปัญหาในการกลืนอยู่บ่อยครั้ง หรือมีอาการคล้ายภาวะ Dysphagia โดยเฉพาะน้ำหนักตัวลด มีอาหารไหลย้อนกลับ หรืออาเจียน ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่อไปได้ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการไปกระทบต่อการหายใจ และรู้สึกเหมือนมีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก ต้องไปพบแพทย์ทันที
สาเหตุของภาวะกลืนลำบาก
สาเหตุของ Dysphagia หรือความผิดปกติเกี่ยวกับการกลืนนั้นมีความซับซ้อน บางครั้งจึงไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้
- ภาวะกลืนลำบากจากหลอดอาหารผิดปกติ (Esophageal Dysphagia) เช่น ภาวะกล้ามเนื้อเรียบไม่คลายตัว โรคหลอดอาหารบีบเกร็ง ภาวะหลอดอาหารตีบ มีเนื้องอกหรือสิ่งแปลกปลอมในหลอดอาหาร โรคกรดไหลย้อน หลอดอาหารอักเสบ โรคหนังแข็ง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาด้วยการฉายรังสี เป็นต้น
- ภาวะกลืนลำบากจากความผิดปกติบริเวณคอหอยส่วนบน (Oropharyngeal Dysphagia) เช่น ความผิดปกติทางระบบประสาทหรือเกิดความเสียหายต่อระบบประสาท มีการโป่งพองของหลอดอาหารออกเป็นกระเปาะ (Zenker's Diverticulum) หรือโรคมะเร็ง เป็นต้น
นอกจากนั้น บางปัจจัยอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะ Dysphagia ได้ อย่างการมีอายุมากขึ้นก็อาจทำให้เกิดการสึกหรอของหลอดอาหาร หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน รวมถึงโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาท เป็นต้น
การวินิจฉัยภาวะกลืนลำบาก
แพทย์จะซักประวัติโดยละเอียดและตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยภาวะ Dysphagia รวมถึงอาจทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- การทดสอบการกลืน โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยกลืนอาหารตามปกติ เพื่อดูวิธีการกินของผู้ป่วยด้วยตาเปล่าว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หรือให้กลืนอาหารที่เคลือบด้วยแบเรียม เพื่อช่วยให้เห็นภาพในขณะที่อาหารกำลังผ่านจากปากลงสู่คอ ซึ่งการทดสอบนี้จะทำให้เห็นการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน ทั้งบริเวณปาก คอ และหลอดอาหาร รวมถึงเห็นสิ่งผิดปกติต่าง ๆ เช่น สิ่งแปลกปลอม หรือก้อนเนื้อที่อยู่ในหลอดอาหาร เป็นต้น
- การตรวจแสดงภาพถ่าย เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) และการเอกซเรย์โดยกลืนแบเรียมเพื่อเคลือบหลอดอาหาร เป็นต้น
- การส่องกล้องหลอดอาหาร เพื่อช่วยตรวจหาการอักเสบต่าง ๆ เช่น การอักเสบของหลอดอาหาร การตีบแคบของหลอดอาหาร หรือการเกิดเนื้องอก เป็นต้น
- การตรวจการเคลื่อนไหวภายในทางเดินอาหาร (Manometry)
- การใช้กล้องส่องดูลักษณะการกลืน
- การประเมินภาวะทางโภชนาการ
การรักษาภาวะกลืนลำบาก
การรักษาจะขึ้นอยู่กับประเภทและสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในการกลืน ดังนี้
ภาวะกลืนลำบากจากหลอดอาหารผิดปกติ อาจทำการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่
- การขยายหลอดอาหาร ในกรณีที่เกิดจากโรคอะคาเลเซียหรือภาวะหลอดอาหารตีบ แพทย์อาจใช้กล้องส่องตรวจพร้อมทำบอลลูนชนิดพิเศษ หรือใช้ท่อที่มีความยืดหยุ่นสูงเพื่อช่วยขยายหลอดอาหาร
- การใช้ยารักษา กรณีที่เกิดจากโรคกรดไหลย้อน อาจจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อลดกรดในกระเพาะอาหารร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากหลอดอาหารอักเสบ แพทย์อาจให้ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือกรณีที่หลอดอาหารหดเกร็งก็อาจต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด
- การผ่าตัด จะใช้ในกรณีที่เกิดเนื้องอกในหลอดอาหาร โรคอะคาเลเซีย มีการโป่งพองของหลอดอาหารออกเป็นกระเปาะ หรือภาวะที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการรักษาแบบอื่น ๆ
ภาวะกลืนลำบากจากความผิดปกติบริเวณคอหอยส่วนบน แพทย์อาจแนะนำให้รักษาเกี่ยวกับการพูด การกลืน และอาจมีการบำบัดอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น
- ฝึกเรียนรู้วิธีการกลืน โดยให้ผู้ป่วยจัดตำแหน่งร่างกายและศีรษะเพื่อให้กลืนอาหารได้สะดวกขึ้น หรือฝึกวิธีการกลืนสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือโรคพาร์กินสันโดยเฉพาะ
- ฝึกการบริหารร่างกาย เพราะการบริหารบางชนิดอาจช่วยในการประสานงานของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืนหรือกระตุ้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการกลืน
ภาวะกลืนลำบากจากสาเหตุอื่น แพทย์อาจผ่าตัดรักษาในผู้ป่วยบางรายหากภาวะ Dysphagia เกิดจากการอุดกั้นหรือการตีบแคบที่คอ เป็นอัมพาตบริเวณเส้นเสียง มีกระดูกใหญ่กว่าปกติ มีการโป่งพองของหลอดอาหารออกเป็นกระเปาะ โรคอะคาเลเซีย หรือมะเร็งกล่องอาหาร ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักต้องฝึกการพูดและการกลืนเพื่อฟื้นฟูหลังการผ่าตัดด้วย
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีภาวะ Dysphagia ขั้นรุนแรงจนได้รับอาหารหรือน้ำไม่เพียงพอ แพทย์อาจต้องรักษาเสริมด้วยการให้อาหารเหลวชนิดพิเศษ เพื่อช่วยรักษาระดับน้ำหนักตัวและป้องกันภาวะขาดน้ำหรืออาหาร รวมทั้งอาจให้อาหารผ่านทางสายให้อาหารด้วย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการด้วยตนเองในเบื้องต้นได้ ดังนี้
- ปรับเปล่ี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานในปริมาณน้อยลงแต่บ่อยครั้งขึ้น แบ่งหรือตัดอาหารให้มีขนาดเล็กลง เคี้ยวอาหารให้ละเอียดและช้าลง
- สังเกตการรับประทานอาหารหลาย ๆ ชนิด เพื่อให้ทราบว่าอาหารชนิดใดทำให้เกิดปัญหา จากนั้นให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เพราะมีส่วนทำให้อาการแสบร้อนกลางอกแย่ลง
ภาวะแทรกซ้อนของภาวะกลืนลำบาก
Dysphagia อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะขาดสารอาหาร ภาวะขาดน้ำ และน้ำหนักตัวลดเนื่องจากร่างกายได้รับสารอาหารหรือน้ำไม่เพียงพอ ปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia) เพราะอาหารอาจนำเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ปอด รวมทั้งอาการสำลักเนื่องจากอาหารไปปิดกั้นทางเดินหายใจ ซึ่งบางรายอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เป็นต้น
การป้องกันภาวะกลืนลำบาก
แม้การป้องกัน Dysphagia อาจทำได้ยาก แต่ผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงได้โดย
- รับประทานอาหารให้ช้าลง และเคี้ยวอาหารให้ละเอียดขึ้น
- รับประทานอาหารคำเล็กลง หรือรับประทานบ่อยแต่ปริมาณน้อยลงในแต่ละมื้อ
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
- หมั่นสังเกตตนเอง หากพบความผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง