เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

ความหมาย เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)

Endometriosis หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือภาวะที่เยื่อบุผนังมดลูกเจริญภายนอกมดลูก ทำให้เกิดเยื่อบุหนาที่สลายตัวกลายเป็นเลือดประจำเดือนไปเรื่อย ๆ จนร่างกายขับออกมาได้ไม่หมด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงที่มีรอบเดือน รวมทั้งอาจส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมา เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่มักเกิดขึ้นบริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ เนื้อเยื่อที่ยึดมดลูก หรือรอบ ๆ มดลูก และมีโอกาสเกิดขึ้นบริเวณลำไส้ตรง กระเพาะปัสสาวะ ปากมดลูก หรือช่องคลอดได้เช่นกัน หรือแม้แต่ส่วนอื่นของร่างกายที่พบได้น้อย เช่น ผิวหนัง ปอด สมอง เป็นต้น

Endometriosis

อาการของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้ป่วยภาวะ Endometriosis จะมีอาการของโรคแตกต่างกันไป พบได้ตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นรุนแรง อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของอาการไม่ใช่ตัวบ่งบอกความรุนแรงของโรคเสมอไป บางรายเป็นน้อยแต่อาจมีอาการปวดรุนแรง ในขณะที่บางรายเป็นหนักแต่ไม่รู้สึกปวดหรือปวดเพียงเล็กน้อย อาการของ Endometriosis ที่สังเกตได้โดยทั่วไปมีดังต่อไปนี้

  • ปวดท้องน้อย มักเกิดขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือนและปวดบีบมากในช่วงที่มีรอบเดือน
  • ปวดอุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดอุ้งเชิงกรานตลอดเวลา และปวดยิ่งขึ้นเมื่อประจำเดือนใกล้มาและในช่วงที่มีรอบเดือน
  • เจ็บช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ โดยจะมีอาการเจ็บลึกลงไปภายในช่องคลอดระหว่างหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาการดังกล่าวต่างจากความรู้สึกเจ็บเมื่อมีการสอดใส่ครั้งแรก
  • เจ็บท้องขณะขับถ่าย ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บท้องส่วนล่างเมื่อถ่ายหนักหรือปัสสาวะ บางรายอาจมีเลือดปนมากับอุจจาระและปัสสาวะด้วย แต่พบได้น้อยมาก
  • เลือดออกทางช่องคลอด อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติในช่วงที่ไม่มีรอบเดือนหรือประจำเดือนมามากผิดปกติ
  • มีปัญหาการย่อย เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด หรือรู้สึกคลื่นไส้ โดยเฉพาะช่วงที่มีรอบเดือน
  • ประสบภาวะมีลูกยาก ภาวะ Endometriosis อาจทำให้มีลูกยากหรือตั้งครรภ์ไม่ได้ เนื่องจากเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นมาเรื่อย ๆ จนอุดตันรังไข่ ส่งผลให้ไข่ไม่สามารถออกไปรับการปฏิสนธิกับอสุจิที่ท่อนำไข่

สาเหตุของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะ Endometriosis ที่ชัดเจน แต่มีการตั้งข้อสันนิษฐานบางประการและเชื่อว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ ดังนี้

  • ภาวะประจำเดือนไหลย้อน เลือดประจำเดือนของคนเรานั้นมีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอยู่ หากเกิดภาวะนี้เลือดประจำเดือนจะไหลย้อนผ่านท่อนำไข่เข้าไปในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเกาะอยู่ตามผนังอุ้งเชิงกรานและรอบ ๆ อวัยวะอื่นภายในอุ้งเชิงกรานจนหนาขึ้นเรื่อย ๆ และสลายเป็นเลือดออกมาทางช่องคลอดตามช่วงของรอบเดือน
  • การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในเยื่อบุช่องท้อง ปัจจัยทางด้านฮอร์โมนอาจส่งผลให้เซลล์ในเยื่อบุช่องท้องเปลี่ยนแปลงและทำหน้าที่คล้ายเป็นเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้มีการสลายตัวออกมาเป็นเลือดประจำเดือน
  • การลำเลียงเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูก ภาวะนี้อาจเกิดจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไหลไปตามหลอดเลือดหรือระบบน้ำเหลือง ส่งผลให้มีเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเกาะตามอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ก่อให้เกิดเป็นภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ตามมา
  • แผลผ่าตัด ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมดลูกหรือผ่าคลอดอาจเสี่ยงเกิดภาวะ Endometriosis เนื่องจากเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกอาจติดไปตามบริเวณแผลผ่าตัด
  • โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถกำจัดเยื่อบุที่เจริญภายนอกมดลูกได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ผู้ที่มีภาวะต่อไปนี้อาจเสี่ยงเกิดภาวะ Endometriosis ได้มากกว่าคนทั่วไป

  • เริ่มมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ
  • เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
  • มีช่วงรอบเดือนสั้น หรือประจำเดือนมามาก
  • ดัชนีมวลกายต่ำ
  • มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
  • ไม่เคยตั้งครรภ์
  • มีบุคคลในครอบครัวหรือญาติป่วยเป็นโรคนี้
  • มีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลให้ประจำเดือนไม่ไหลออกมาตามปกติ
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูก

การวินิจฉัยเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้ป่วยภาวะ Endometriosis จะมีอาการคล้ายกับโรคอื่น เช่น ซีสต์ในรังไข่ ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นต้น แพทย์จึงต้องตรวจอย่างละเอียด โดยจะซักอาการและประวัติการรักษาของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว รวมทั้งตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้

  • ตรวจภายใน แพทย์จะคลำหาก้อนหรือตรวจความผิดปกติภายในอุ้งเชิงกรานของผู้ป่วย เพื่อดูว่ามีซีสต์เกิดขึ้นภายในอวัยวะสืบพันธุ์หรือเกิดรอยแผลเป็นที่มดลูกผู้ป่วยหรือไม่
  • ตรวจอัลตราซาวด์ เป็นวิธีที่ใช้ตรวจมะเร็งรังไข่ที่เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แพทย์จะสอดอุปกรณ์อัลตราซาวด์เข้าไปในช่องคลอดหรือวางอุปกรณ์ไว้บนท้องของผู้ป่วย ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวจะฉายคลื่นเสียงความถี่สูงออกมาเพื่อให้มองเห็นภาพอวัยวะภายในมดลูก หรือบางกรณีอาจใช้การถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) ก็ได้
  • ตรวจส่องกล้อง แพทย์จะใช้วิธีนี้ช่วยวินิจฉัยยืนยันว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากภาวะ Endometriosis โดยจะฉีดยาระงับความรู้สึกและกรีดรอยผ่าขนาดเล็กใกล้ ๆ สะดือผู้ป่วย พร้อมกับสอดกล้องเข้าไปข้างในเพื่อดูว่ามีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือไม่และพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งอาจตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อสำหรับนำไปตรวจเพิ่มเติมต่อไปด้วย

การรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้ป่วยภาวะ Endometriosis ที่มีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีปัญหามีลูกยากอาจไม่ต้องเข้ารับการรักษา โดยเฉลี่ยแล้วผู้ป่วยจำนวน 3 ใน 10 ราย จะหายดีได้เอง อย่างไรก็ตาม หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดปัญหามีลูกยาก แพทย์จะเลือกใช้วิธีรักษาโดยพิจารณาจากระดับความรุนแรงของอาการและความต้องการมีลูกของผู้ป่วย ดังนี้

  • การใช้ยา แพทย์จะสั่งจ่ายยาแก้ปวดสำหรับบรรเทาอาการปวดรอบเดือนให้ผู้ป่วย เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน โคเดอีน เป็นต้น หากได้รับยาในปริมาณสูงสุดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไป
  • ฮอร์โมนบำบัด เป็นวิธีช่วยบรรเทาอาการปวดและยับยั้งไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นที่อื่นอีก แต่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นภาวะนี้ได้อีกหากหยุดเข้ารับการรักษา โดยทั่วไปแล้ว ฮอร์โมนที่ใช้บำบัดโรค Endometriosis มีดังนี้
    • ยาคุมกำเนิด ยาคุมชนิดเม็ด แผ่นแปะคุมกำเนิด และห่วงใส่ช่องคลอดล้วนช่วยควบคุมการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกในแต่ละรอบเดือน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเลือดประจำเดือนน้อยลง การใช้ยาคุมกำเนิดเหล่านี้อย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้
    • โกนาโดโทรปิน รีลิสซิ่ง ฮอร์โมน (Gonadotropin Releasing Hormone) ยาชนิดนี้มีฤทธิ์ช่วยยับยั้งการผลิตฮอร์โมนที่กระตุ้นให้เกิดการตกไข่ ลดระดับเอสโตรเจนในร่างกาย และช่วยหยุดการมีประจำเดือน ส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญขึ้นมาผิดปกติมีขนาดเล็กลง ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนหรือโปรเจสตินควบคู่กับยานี้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจก่อให้เกิดอาการของคนวัยทอง เช่น ช่องคลอดแห้ง อาการร้อนวูบวาบ สูญเสียมวลกระดูก เป็นต้น โดยผู้ป่วยจะกลับมามีประจำเดือนและตั้งครรภ์ได้เป็นปกติหลังจากหยุดใช้ยา
    • โปรเจสติน (Progestin) ยาคุมกำเนิดที่ผสมโปรเจสตินอย่างเดียว เช่น ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด และยาคุมแบบฉีด จะช่วยให้ประจำเดือนไม่มาและยับยั้งการเจริญของเยื่อบุโพรงมดลูก ส่งผลให้อาการป่วยดีขึ้นได้
    • ดานาซอล (Danazol) เป็นยากลุ่มฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ช่วยยับยั้งเยื่อบุโพรงมดลูกไม่ให้เจริญผิดที่ด้วยการป้องกันการหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นการตกไข่และทำให้ประจำเดือนไม่มา แต่อาการของโรคอาจยังคงดำเนินต่อไปในระหว่างที่ใช้ยานี้ รวมทั้งอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดสิวและมีขนขึ้นมาบ้าง อย่างไรก็ตาม แพทย์จะไม่เลือกใช้ยานี้เป็นอันดับแรกในผู้ที่ตั้งครรภ์หรือกำลังวางแผนตั้งครรภ์ เนื่องจากเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะได้รับผลข้างเคียงรุนแรง
  • การผ่าตัด ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดในกรณีที่วางแผนมีบุตร มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง หรือรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดแล้วไม่ได้ผล เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยกำจัดเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่โดยไม่เกิดผลกระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์ แต่จะมีโอกาสกลับมาป่วยได้อีก การผ่าตัดรักษาโรค Endometriosis ทำได้ 2 วิธี ดังนี้
  • ผ่าตัดส่องกล้อง วิธีนี้ใช้ได้ทั้งในการวินิจฉัยและรักษาภาวะ Endometriosis โดยแพทย์จะกรีดรอยแผลขนาดเล็กที่ท้องผู้ป่วยเพื่อสอดกล้องส่องเข้าไปและผ่าตัดเอาเยื่อบุโพรงมดลูกออกมา
  • ผ่าตัดมดลูก เป็นการผ่าตัดมดลูกออกไปทั้งหมด รวมทั้งรังไข่ด้วย เพื่อไม่ให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นปัจจัยของการเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แพทย์จะผ่าตัดมดลูกให้ผู้ป่วยที่ประสบภาวะ Endometriosis อย่างรุนแรงเท่านั้น อีกทั้งจะพิจารณาเป็นวิธีสุดท้าย โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือน เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีกหลังเข้ารับการรักษา

นอกจากนี้ ผู้ป่วยภาวะนี้ควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย โดยรับประทานยาแก้ปวดตามแพทย์สั่งเพื่อบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งอาบน้ำอุ่นหรือหมั่นประคบถุงน้ำร้อนเพื่อลดอาการปวดบีบที่ท้องและช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานคลายตัวมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ผู้ป่วยภาวะ Endometriosis เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • ภาวะมีลูกยาก เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มาก โดยมีผู้ที่เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ประมาณ 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่ประสบปัญหานี้ เนื่องจากเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่นั้นอุดตันบริเวณที่มีการลำเลียงไข่ไปยังท่อนำไข่ ส่งผลให้ไข่ตกไปผสมกับอสุจิไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ไม่ได้ประสบภาวะนี้อย่างรุนแรงสามารถตั้งครรภ์ได้ แต่แพทย์จะไม่แนะนำให้มีลูกตอนอายุมาก เพราะอาการของโรคจะแย่ลงเรื่อย ๆ ตามอายุและส่งผลให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น และบางรายอาจต้องผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออกก่อนจึงจะมีลูกได้
  • มะเร็งรังไข่ ผู้ป่วย Endometriosis อาจเสี่ยงเกิดมะเร็งรังไข่ได้มากกว่าหญิงทั่วไป และบางรายอาจเกิดมะเร็งอะดิโนคาร์ซิโนม่า (Adenocarcinoma) ได้ในภายหลัง แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

นอกจากนี้ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคนี้อาจเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น มะเร็งเต้านม อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ไฮโปไทรอยด์ โรคพุ่มพวง โรคหืด เป็นต้น

การป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ภาวะ Endometriosis เป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่มีวิธีป้องกัน เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะนี้อย่างแน่ชัด แต่มีงานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าการใช้ยาคุมกำเนิด การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อยมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และช่วยลดความรุนแรงของอาการเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้น นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงก็อาจช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะนี้ เช่น รับประทานอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เป็นต้น