Fissured Tongue หรืออาการลิ้นแตกเป็นร่อง คือภาวะที่ทำให้ผิวลิ้นมีลักษณะเป็นร่องแตกยาว สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่มักพบในผู้ป่วยโรคดาวน์ซินโดรมและกลุ่มอาการเมลเคอร์สสัน-โรเซ็นทาล (Melkersson-Rosenthal syndrome)
ลิ้นแตกเป็นร่องส่วนใหญ่แล้วไม่อันตรายและไม่ใช่โรคติดต่อ โดยอาจเกิดจากลักษณะของลิ้นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อหรือการรักษาความสะอาดในช่องปาก
อาการ Fissured Tongue
ลักษณะสำคัญของ Fissured Tongue คือ มีรอยแตกเป็นร่องบริเวณพื้นผิวลิ้น รอยแตกร่องดังกล่าวจะเห็นได้อย่างชัดเจน มีระดับความลึกที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล สามารถลึกได้มากถึง 6 มิลลิเมตร รอยแตกนี้อาจกระจายตัวบนลิ้นและเชื่อมต่อกัน โดยส่วนกลางของลิ้นมักเป็นส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการลิ้นแตกเป็นร่องอาจมีลิ้นลายแผนที่ (Geographic Tongue) เกิดร่วมด้วย ในบางกรณีอาจส่งผลให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวมีอาการลิ้นไวต่อความรู้สึกและอาจก่อให้เกิดความรำคาญ
โดยทั่วไป Fissured Tongue มักไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติที่เกิดขึ้นบริเวณลิ้น โดยอาจเริ่มแสดงอาการตั้งแต่วัยเด็ก แต่มักจะเกิดกับผู้ใหญ่มากกว่า ทั้งนี้ อาการอาการลิ้นแตกเป็นร่องจะเกิดขึ้นบริเวณลิ้นเท่านั้น ไม่มีการกระจายตัวไปยังบริเวณอื่นของช่องปากและร่างกาย
สาเหตุ Fissured Tongue
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิด Fissured Tongue แต่ก็อาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอาการดังกล่าว เช่น
- พันธุกรรม หากสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวมีอาการลิ้นแตกเป็นร่อง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการดังกล่าวได้
- โรคดาวน์ซินโดรม
- กลุ่มอาการเมลเคอร์สสัน-โรเซ็นทาล เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีอาการลิ้นแตกเป็นร่อง ปากและใบหน้าบวม หน้าเบี้ยว
- อาการลิ้นลายแผนที่
- โรคที่มีอาการบวมบริเวณใบหน้าและช่องปาก (Orofacial Granulomatosis)
นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับรอยโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการพัฒนาเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากตั้งแต่วัยเด็กร่วมด้วย
การวินิจฉัย Fissured Tongue
แพทย์จะวินิจฉัยอาการ Fissured Tongue ด้วยการประเมินทางคลินิค โดยการตรวจดูร่างกายและเนื้อเยื่อต่าง ๆ แต่อาจไม่จำเป็นต้องตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ เพราะเป็นอาการที่เห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า และผู้ป่วยอาจได้รับการประเมินอื่น ๆ เพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น
การรักษา Fissured Tongue
โดยปกติ อาการลิ้นแตกเป็นร่องไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ ดังนี้
- ใช้แปรงสีฟันแปรงบริเวณลิ้นที่แตกเป็นร่องอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อกำจัดเศษอาหารตกค้าง เนื่องจากเศษอาหารที่ติดค้างอยู่ตามรอยแตกเป็นสาเหตุสำคัญของการระคายเคืองบริเวณลิ้น การเกิดกลิ่นปาก และการติดเชื้อในช่องปาก
- แปรงฟันให้สะอาด ใช้ไหมขัดบริเวณซอกฟัน และใช้น้ำยาบ้วนปากอย่างสม่ำเสมอ
- พบทันตแพทย์อย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี เพื่อทำความสะอาดภายในช่องปากอย่างละเอียด
ภาวะแทรกซ้อนของ Fissured Tongue
ผู้ป่วยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับกลิ่นปาก เนื่องจากความยากในการทำความสะอาดร่องลิ้นได้ทั้งหมด นอกจากนี้ Fissured Tongue ยังอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคที่ีมีอาการบวมบริเวณใบหน้าและช่องปาก รวมถึงกลุ่มอาการเมลเคอร์สสัน-โรเซ็นทาล
การป้องกัน Fissured Tongue
อาการลิ้นแตกเป็นร่องไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัด แต่การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เพื่อให้ร่างกายไม่ขาดสารอาหารและวิตามิน ตลอดจนการรักษาความสะอาดในช่องปาก ก็เป็นส่วนช่วยลดอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้อีกทางหนึ่ง