ความหมาย ผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด (Frostbite)
Frostbite หรือภาวะผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด เป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเมื่อผิวหนังและเนื้อเยื่อสัมผัสกับความเย็นจัด ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดอาการบวม แดง ชา และมีสีซีดลง โดยมักเกิดเมื่อร่างกายอยู่ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งและมีลมพัดแรงเป็นเวลานาน ซึ่งบางครั้งอาจเกิดขึ้นได้แม้สวมเสื้อผ้าปกปิดส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไว้
อาการผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด
โดยทั่วไป Frostbite มักทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวด บวม ผิวหนังชา แดง ซีด ม่วง เกิดแผลพุพอง หรือแสบร้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดที่นิ้วมือ นิ้วเท้า จมูก คาง หู และอาการจะแตกต่างกันไปตามความเสียหายของเนื้อเยื่อ ดังนี้
- อาการไม่รุนแรง ผิวจะซีดหรือเปลี่ยนเป็นสีแดง อาจมีอาการชาร่วมด้วยในจุดที่เกิด Frostbite รวมถึงรู้สึกเย็นจัดที่ผิวหนัง โดยจะรู้สึกปวดและชาเหมือนมีเข็มมาทิ่มเมื่อผิวบริเวณนั้นได้รับความอบอุ่น ซึ่งในระยะแรกจะไม่เกิดอันตรายต่อผิวหนังหรือความเสียหายใด ๆ ต่อเซลล์
- อาการรุนแรงปานกลาง เนื้อเยื่อยังคงทำงานตามปกติ แต่ผิวหนังที่เป็นสีแดงจะเริ่มซีดลงจนเปลี่ยนเป็นสีขาว ซีด หรือเกิดเกล็ดน้ำแข็งในเนื้อเยื่อ เริ่มมีอาการแสบร้อน เกิดแผลพุพอง และมีอาการบวมร่วมด้วย
- อาการรุนแรงมาก จะมีอาการรุนแรงที่ชั้นผิวหนัง โดยเนื้อเยื่อจะเกิดความเสียหาย มีอาการชา ไร้ความรู้สึก ข้อต่อและกล้ามเนื้อขยับได้ลำบาก อาจเกิดแผลพุพองหลังเผชิญ Frostbite 24-48 ชั่วโมง โดยบริเวณที่เป็น Frostbite อาจเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำจากภาวะเนื้อเยื่อตาย
ทั้งนี้ หากมีไข้ ผิวซีด ชา มีแผลพุพอง หรืออาจมีอาการปวดบวมร่วมด้วยในบริเวณที่เกิด Frostbite มีภาวะตัวเย็นหนาวสั่นอย่างรุนแรง หรือหากผู้ป่วยไม่ทราบแน่ชัดว่าตนเองมีความเสี่ยงที่จะเป็น Frostbite หรือไม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง
สาเหตุของผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด
Frostbite เกิดจากเซลล์ผิวหนังและเนื้อเยื่อโดนความเย็นจนเกิดภาวะขาดเลือดและขาดออกซิเจน เมื่อร่างกายสัมผัสกับอุณหภูมิเย็นจัด กระบวนการปกป้องอวัยวะที่สำคัญในร่างกายจะเริ่มทำงานโดยลดการไหลเวียนของเลือดบางบริเวณในร่างกาย เพื่อนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง ตับ ไต เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้บริเวณแขนและขาเกิดภาวะขาดเลือดและขาดออกซิเจนตามมา ขณะเดียวกันบริเวณที่โดนความเย็นอาจเกิดผลึกน้ำแข็งขึ้นภายในเซลล์ ทำให้เซลล์เกิดความเสียหายและอาจเกิดลิ่มเลือดจนทำให้มีการไหลเวียนเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ลดลง
โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด Frostbite มาจากการอยู่ในสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็นจัดและอาจมีลมแรงเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงกว่า -15 องศาเซลเซียส และสวมเสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสมต่อสภาพอากาศหนาว ส่วนสาเหตุอื่น ๆ อาจเกิดได้จากการสัมผัสของเหลวหรือสิ่งของต่าง ๆ ที่มีความเย็นจัด
นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการ Frostbite ได้ เช่น
- ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
- ทารกและผู้สูงอายุ เพราะมีความสามารถในการรักษาอุณหภูมิร่างกายได้ไม่ดีนัก
- ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิต โดยผู้ป่วยประเภทนี้อาจยังไม่มีวิธีจัดการกับสภาพแวดล้อมที่เย็นจัดได้อย่างเหมาะสม การตอบสนองต่อความเย็นได้ไม่ดี หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจที่ไม่ดีพอ ซึ่งอาจทำให้เกิด Frostbite ได้มากกว่าคนทั่วไป
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน เหนื่อยง่าย ระบบการไหลเวียนเลือดไม่ดี เพราะอาจสูญเสียความสามารถในการตอบสนองต่ออากาศหนาว
- ผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีสภาพอากาศเย็นจัดเป็นเวลานาน หรือคนเร่ร่อนไร้บ้าน
- ผู้ที่เล่นกีฬาในสภาพอากาศเย็นจัด เช่น เล่นสกี ปีนเขา เป็นต้น
- ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเล เพราะปริมาณออกซิเจนในที่สูงจะเบาบางลง ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง
การวินิจฉัยผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด
แพทย์มักวินิจฉัยในเบื้องต้นโดยดูจากอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวหนัง สอบถามประวัติทางการแพทย์และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศเย็นจัด แล้ววัดอุณหภูมิ ชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจ รวมทั้งตรวจการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อวินิจฉัยและเร่งให้การรักษาหากผู้ป่วยอยู่ในภาวะตัวเย็นเกินหรือมีการติดเชื้อรุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์ สแกนกระดูก หรือตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะตัวเย็น เพื่อประเมินระดับความรุนแรงกับความเสียหายของกล้ามเนื้อและกระดูก โดยแพทย์อาจประเมินอาการซ้ำเป็นระยะ เพื่อพิจารณาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
การรักษาผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด
Frostbite เป็นภาวะที่ควรได้รับการรักษาทันที ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศหนาวจัดและไม่ควรปล่อยให้บริเวณที่บาดเจ็บได้รับความเย็นเพิ่มขึ้น โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ และมุ่งเน้นไปที่การช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยอบอุ่นขึ้น หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมากก็สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การบรรเทาอาการด้วยตนเอง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเย็นจัด หากเสื้อผ้าเปียกก็ควรถอดเปลี่ยน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บจาก Frostbite มากขึ้น เมื่อต้องออกไปข้างนอกซึ่งมีอากาศเย็นจัด ควรปกป้องผิวหนังหรืออวัยวะส่วนต่าง ๆ ให้อบอุ่นอยู่เสมอ
- กรณีที่เกิดการบาดเจ็บบริเวณมือหรือเท้า ให้แช่อวัยวะบริเวณดังกล่าวในน้ำอุ่นประมาณ 10-30 นาที โดยอุณหภูมิน้ำควรมีความร้อนเหมาะสม และไม่ร้อนจนเกินไปเพราะอาจทำให้ผิวไหม้ได้
- หากเกิดการบาดเจ็บที่เท้า ไม่ควรเดินเท้าเปล่า เพราะจะทำให้เนื้อเยื่อเสียหายได้
- ใช้ผ้าหุ้มผิวหนังบริเวณดังกล่าว เพื่อลดอาการบวมและป้องกันการบาดเจ็บเพิ่มเติม
- ไม่ถูบริเวณที่บาดเจ็บ และไม่ใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความร้อนให้ผิวหนังบริเวณนั้นโดยตรง เช่น แผ่นความร้อน โคมไฟ เตาผิง เป็นต้น เพราะอาจเสี่ยงทำให้เนื้อเยื่อเสียหายมากกว่าเดิม
โดยทั่วไป การดูแลอาการในเบื้องต้นอาจช่วยให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวค่อย ๆ อุ่นขึ้น โดยผิวอาจแดงขึ้นเล็กน้อย เพราะมีการไหลเวียนเลือดกลับมายังบริเวณเดิมตามปกติ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการชา บวม หรือพบบาดแผลบริเวณนั้น ควรไปรับการรักษาจากแพทย์
การรักษาโดยแพทย์
เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์จะพยายามให้บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอุ่นขึ้นด้วยการแช่น้ำอุ่นประมาณ 15-30 นาที เพราะอาจยังไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าอาการ Frostbite อยู่ในระดับใด รวมทั้งดูแลป้องกันบริเวณดังกล่าวไม่ให้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม ทำแผลหากบริเวณดังกล่าวเกิดแผลบาดเจ็บ และในกรณีที่กล้ามเนื้อหรือกระดูกได้รับบาดเจ็บก็อาจต้องดามกระดูกหรือเข้าเฝือก
โดยแพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- การใช้ยา อาจใช้ยาแก้ปวดเพื่อระงับอาการปวดอักเสบบริเวณ Frostbite
- การใช้ยาฆ่าเชื้อ หากผิวหนังเกิดการติดเชื้อที่แผล แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาฆ่าเชื้อ และอาจมีการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วยในกรณีที่แผลมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- การตัดเนื้อเยื่อที่ตายออก แพทย์อาจต้องตัดเนื้อเยื่อส่วนที่ถูกทำลาย ติดเชื้อ หรือเนื้อที่ตายแล้วทิ้งไป เพื่อให้ผิวหนังบริเวณนั้นฟื้นฟูเป็นปกติ โดยอาจต้องรอประมาณ 1-3 เดือนหลังการรักษาในเบื้องต้น จึงจะเริ่มประเมินรักษาโดยการตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกไป
- การทำแผล หากมีแผลควรทำแผลตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากแผลมีความรุนแรงหรือซับซ้อนก็อาจต้องใช้วิธี Vacuum Assisted Closure Therapy เพื่อช่วยให้แผลหายดีขึ้นเร็วขึ้น
- การผ่าตัด แพทย์มักผ่าตัดเฉพาะในรายที่มีความรุนแรง เพื่อกำจัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออกไป หรือบางรายแพทย์อาจต้องผ่าตัดนำอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป
- การทำกายภาพบำบัดด้วยกระแสน้ำวน เป็นการบำบัดด้วยการใช้น้ำเป็นตัวช่วย โดยให้ผู้ป่วยแช่ตัวในน้ำอุ่นที่มีกระแสน้ำวน เพื่อช่วยให้เซลล์ที่ตายแล้วหลุดลอกออกไป
ภาวะแทรกซ้อนผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด
ผู้ที่มีอาการรุนแรงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในบริเวณที่บาดเจ็บได้ เช่น ผิวหนังไวต่อความเย็นมากขึ้น มีอาการเหน็บชาเรื้อรัง ข้ออักเสบ เสี่ยงต่อการเกิด Frostbite ซ้ำอีกครั้ง บาดทะยัก การติดเชื้อ เนื้อตายเน่า
นอกจากนี้ การติดเชื้อนั้นหากเกิดในเด็กอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูกได้ ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจเสี่ยงต่อภาวะตัวเย็นเกิน หรืออวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะหัวใจและระบบทางเดินหายใจ หากเกิดภาวะดังกล่าวแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้เช่นกัน
การป้องกันผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด
- ไม่ควรอยู่นอกอาคารในขณะที่มีอากาศหนาว ลมแรง เป็นเวลานาน เพราะความเย็นอาจทำให้เกิด Frostbite ได้
- หากไปสถานที่ที่มีอากาศหนาว ควรเตรียมเสื้อผ้าเพื่อป้องกันอากาศหนาว เช่น ถุงเท้า ถุงมือ หมวก เป็นต้น โดยสวมเสื้อผ้าหลายชั้นเพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย และเสื้อผ้านั้นควรกันน้ำและกันลมด้วย
- สวมหมวกที่ปิดคลุมไปถึงหู เพื่อให้ป้องกันความเย็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ควรทำให้มือและเท้าอุ่นอยู่ตลอดเวลา
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เมื่อจะออกไปข้างนอกที่มีอากาศเย็น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย
- ออกกำลังกาย เพื่อให้เลือดไหลเวียนในร่างกายได้ดีและช่วยให้ร่างกายอบอุ่น แต่ก็ไม่ควรทำในขณะที่รู้สึกอ่อนเพลีย
- สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดกับตนเอง เช่น อาการผิวเย็นแข็ง ปวด หรือเหน็บชา เป็นต้น ซึ่งหากพบว่ามีอาการคล้ายกับ Frostbite ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา